อีลอน มัสก์ โพสต์ตอบโต้อดีตผู้บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาติว่า ‘โง่’ และ ‘สมองน้อย’ หลังถูกตอบโต้เรื่อง 2 นักบินอวกาศ NASA ที่ ‘ติด’ อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของสถานการณ์ดังกล่าวมาจากวิดีโอที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ อีลอน มัสก์ ได้ให้สัมภาษณ์ร่วมกันกับสื่อ Fox News เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยมีช่วงหนึ่งที่มัสก์ได้กล่าวถึงแผนการช่วยเหลือสองนักบินอวกาศ ซึ่ง ‘ติด’ อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ
ทรัมป์ตอบคำถาม ฌอน ฮานนิตี พิธีกรของ Fox News ว่า “พวกเขาถูกทิ้งไว้บนอวกาศ” ก่อนกล่าวถึงชื่อของ โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดี โดยที่มัสก์เสริมว่า “พวกเขาถูกทิ้งไว้บนนั้นด้วยเหตุผลทางการเมือง”
นักบินอวกาศที่ทั้งคู่กล่าวถึงคือ แบรี วิลมอร์ และ สุนิตา วิลเลียมส์ นักบินอวกาศ NASA ที่เดินทางไปสถานีอวกาศกับยาน Starliner ของบริษัท Boeing ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2024 และยังคงทำงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติจนถึงปัจจุบัน
เมื่อวิดีโอดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่ต่อบน X แอนเดรส โมเกนเซ่น นักบินอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) อดีตผู้บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาติ ภารกิจ Expedition 70 ที่เดินทางไปกับยาน Crew Dragon ของ SpaceX ในปี 2023 โพสต์ตอบโต้ว่า “มีแต่เรื่องโกหก และมาจากคนที่บ่นว่าสื่อกระแสหลักขาดความซื่อสัตย์ในการรายงานข่าวเสียด้วย”
มัสก์โพสต์ตอบโต้ในทันที “คุณมันพวกสมองน้อย SpaceX สามารถพาพวกเขากลับมาได้หลายเดือนแล้ว ผมเสนอให้กับรัฐบาลของไบเดนโดยตรง และพวกเขาปฏิเสธมัน ที่นักบินอวกาศต้องกลับโลกช้าเป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง” ก่อนเสริมด้วยคำว่า “ไอ้โง่” ปิดท้ายในโพสต์
ทั้งนี้ วิลมอร์และวิลเลียมส์ไม่ได้ติดอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ นักบินอวกาศทั้ง 2 คนมียานอวกาศของ SpaceX รอรับกลับโลกตั้งแต่เดือนกันยายน 2024 โดยมีกำหนดเดินทางกลับในเดือนมีนาคม 2025 ตามแผนการหมุนเวียนลูกเรือของ NASA และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อมขณะทำงานอยู่บนอวกาศ
หลังจากโพสต์ตอบโต้นักบินอวกาศ ESA และผู้ใช้งาน X มัสก์ได้โพสต์เพิ่มว่า “ถึงเวลาเตรียมความพร้อมปลดประจำการสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว” และเสริมว่า “ได้เวลาไปดาวอังคารกัน” โดยระบุว่าเจ้าตัวแนะนำให้ปลดประจำการภายใน 2 ปีจากนี้ แต่การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ
NASA และหน่วยงานอวกาศที่มีส่วนร่วมกับการปฏิบัติงานของสถานีอวกาศนานาชาติ ยังไม่มีการให้ข้อมูลหรือความเห็นใดๆ กับสถานการณ์ดังกล่าว
ภาพ: The Royal Society, NASA / ESA
อ้างอิง: