×

Mar-a-Lago Accord สมมติฐานของข้อตกลงพลิกโฉมเศรษฐกิจโลก

19.02.2025
  • LOADING...
Mar-a-Lago Accord แผนการทางเศรษฐกิจของทรัมป์ที่อาจเปลี่ยนแปลงระบบการเงินโลก

การกลับมาสู่ทำเนียบขาวของ Donald Trump ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเมืองสหรัฐฯ แต่เป็นสัญญาณเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบเศรษฐกิจโลก

 

แม้ตลาดจะพยายามคาดเดาแนวทางของ Trump แต่สิ่งที่ชัดเจนอย่างเดียว คือความไม่ชัดเจน

 

ผมจึงอยากชวนให้นักลงทุนไทยมองข้ามสิ่งที่ Trump พูด ไปโฟกัสที่แนวคิดใหญ่ของทีมเศรษฐกิจของ Trump ที่เริ่มขยับไปสู่ความเป็นไปได้ของข้อตกลงระดับนานาชาติ ที่ตอนนี้ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่ในตลาดตั้งชื่อเล่นว่า “Mar-a-Lago Accord” มาจากชื่อบ้านพักส่วนตัวของทรัมป์ในปาล์มบีช, ฟลอริดา

 

ข้อตกลงนี้เป็นการรวมแนวคิดทั้งหมดของ Trump เข้าด้วยกัน คาดว่าจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าข้อตกลงที่เคยกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกในอดีตเช่น Bretton Woods ในปี 1944 หรือ Plaza Accord ในปี 1985 

 

แม้ตอนนี้จะเป็นเพียงสมมติฐาน แต่ผมมองว่าคุ้มค่าที่นักลงทุนไทยจะเริ่มทำความเข้าใจ เพื่อรู้ให้ทันความเสี่ยงและโอกาสของตลาดการเงินจากนโยบายระหว่างประเทศในภาพใหญ่

 

เริ่มด้วยเป้าหมายของ Mar-a-Lago Accord ผมเชื่อว่าจะพุ่งเป้าไปที่การลดการขาดดุลการค้า ลดหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ พร้อมกับรักษาสถานะผู้นำของเงินดอลลาร์ไว้ให้ได้

 

ปัญหาหลัก 3 ประการที่ Trump อยากแก้ไขประกอบด้วย การขาดดุลการค้าที่สูงเกินไปเป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา หนี้สาธารณะที่สูงจากการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกช่วงวิกฤติ และเงินดอลลาร์ถูกท้าทายเรื่องการเป็นสกุลเงินหลักของโลก

 

ดังนั้น ในข้อตกลงนี้คาดว่าจะเริ่มต้นด้วยการใช้กำแพงภาษี ควบคู่ไปกับการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดการขาดดุลการค้าก่อน

 

เห็นได้จากท่าทีของ Trump ที่ผลักดันการกำหนดภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ให้เป็นเครื่องมือกำหนดระดับภาษีที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ

 

อย่างไรก็ดี การตั้งกำแพงภาษีจะประสบความสำเร็จในการลดการขาดดุลการค้าก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินของประเทศคู่ค้าเช่นเดียวกับ Plaza Accord ในปี 1985 ที่มีการปรับค่าเงินหลายสกุลให้แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์

 

ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในข้อตกลง คาดว่าประเทศคู่ค้าที่เกินดุลกับสหรัฐฯ จะต้องปรับสกุลเงินของตัวเองให้แข็งค่า และยอมลดภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ เช่นประเทศอย่างจีนและยุโรป นอกจากจะต้องลดกำแพงภาษีลงแล้ว อาจต้องยอมปรับค่าเงินของตัวเองให้แข็งขึ้น 15 – 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ไปพร้อมกัน

 

อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้อาจส่งผลให้ประเทศคู่ค้าหันไปซื้อขายกันเอง ลดความสำคัญของการค้ากับสหรัฐฯ ลง

 

ในจุดนี้ Mar-a-Lago Accord จึงควรมีการเสริมความสัมพันธ์เพิ่มเติม โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง (Security Burden Sharing) ให้เป็นเรื่องที่จับต้องได้และมีเครื่องชี้วัด

 

เพราะสำหรับ Trump สหรัฐฯ ไม่ได้แค่ต้องการค้าขายกับประเทศพันธมิตร แต่ยังมีการให้ความคุ้มครองด้านความมั่นคงในหลายประเทศ

 

ปัจจุบัน Trump มองว่าไม่มีการแบ่งภาระค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมจากพันธมิตร Mar-a-Lago Accord จึงอาจมีการเรียกร้องให้พันธมิตร เปลี่ยนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีอยู่ ไปเป็นพันธบัตรที่ไม่มีดอกเบี้ยและไม่มีวันครบกำหนด (Zero Coupon Perpetual Bonds, ZCPB) 

 

หากประเทศพันธมิตรไม่ยอมทำตามข้อกำหนดด้านความมั่นคงเช่น ไม่เพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศตามที่สหรัฐฯ เรียกร้อง หรือไม่ลงทุนใน ZCPB ประเทศเหล่านั้น อาจจะเผชิญกับการลดการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐฯ เช่น การถอนหรือการหยุดการสนับสนุนทางเทคโนโลยีทางทหาร

 

การกำหนดนโยบายลักษณะนี้ จะช่วยให้ประเทศพันธมิตรตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับค่าเงินของตนให้แข็งค่า เพื่อให้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงที่ต้องเสียให้กับสหรัฐฯ รวมถึงทำให้ประเทศพันธมิตร มีแรงจูงใจในการมีธุรกรรมกับสหรัฐฯ อีกด้วย

 

หากนโยบายนี้สามารถทำได้จริง สหรัฐฯ จะสามารถลดภาระดอกเบี้ยจากหนี้ที่ประเทศคู่ค้าถืออยู่ได้มากถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ และคิดเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยประมาณ 2.7 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะเดียวกันก็คาดว่าจะหนุนให้เงินดอลลาร์มีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะกลาง

 

และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ที่อาจเกิดขึ้นจากสองข้อตกลงข้างต้น ทีมเศรษฐกิจของ Trump อาจจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) เสริมความมั่นคงไปอีก

 

เบื้องต้นคาดว่าจะใช้สินทรัพย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ เช่นทองคำสำรองกว่า 8 พันตัน (มูลค่าราว 8 แสนล้านดอลลาร์) รวมถึง Bitcoin ที่รัฐบาลยึดมาได้ (มูลค่าปัจจุบันราว 5.7 พันล้านดอลลาร์) เป็นหลักประกันทางการเงิน จะช่วยให้มูลค่าของดอลลาร์ปรับตัวขึ้นหรือลงตามกลไกของตลาดทุนได้มากขึ้น

 

โดยสรุป ผมมองว่าสมมติฐาน Mar-a-Lago Accord แม้จะยังเป็นแค่การคาดเดาของตลาด โอกาสเกิดขึ้นจริงยังคงต้องติดตามกันต่ออีกนาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าทีมเศรษฐกิจของ Trump วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียและเตรียมปิดจุดอ่อนมาพร้อม

 

และถ้าเกิดขึ้นจริงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจ การเงินและการค้าโลก ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

 

ผมเชื่อว่าไม่เร็วเกินไปที่นักลงทุนไทยจะเริ่มประเมินการลงทุนของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับกับโอกาสและความท้าทายครั้งใหม่ในอนาคตครับ

 

 

ภาพ: Andrew Harnik / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising