×

ESA เผยภาพ ‘จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด’ แบบที่ไม่เคยเห็นได้มาก่อน จากกล้องเจมส์ เว็บบ์

06.02.2025
  • LOADING...
จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด

องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA เผยภาพถ่าย ‘จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด’ จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ พร้อมรายละเอียดที่ไม่เคยเห็นได้มาก่อน

 

ภาพดังกล่าวคือวัตถุ Herbig-Haro 30 ประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยที่ห้อมล้อมไปด้วยฝุ่นก๊าซในจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด หรือ Protoplanetary Disc ซึ่งอยู่ห่างจากโลกไป 477 ปีแสง ในเนบิวลามืด LDN 1551 และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเมฆโมเลกุลในกลุ่มดาววัว (Taurus Molecular Cloud)

 

วัตถุดังกล่าวค่อนข้างได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ เนื่องจากสามารถสังเกตเห็นแนวด้านข้างของจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดได้จากโลกพอดี จนกลายเป็นตัวอย่างสำคัญให้ศึกษาการเคลื่อนตัวของฝุ่นก๊าซ ลำเจ็ตที่พุ่งออกมา เช่นเดียวกับลักษณะโดยรวมจากแนวข้างของจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด

 

จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด กำเนิดขึ้นจากมวลสารที่หลงเหลือจากการกำเนิดดาวฤกษ์ ซึ่งมวลสารดังกล่าวจะค่อยๆ รวมตัวกันกลายเป็นก้อนวัตถุขนาดใหญ่ขึ้น และมีวิวัฒนาการไปเป็นดาวเคราะห์ในท้ายที่สุด ซึ่งการศึกษาจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดแบบวัตถุ Herbig-Haro 30 อาจช่วยให้นักดาราศาสตร์ทำความเข้าใจยุคแรกเริ่มของระบบสุริยะ ก่อนจะมีดาวเคราะห์ต่างๆ กำเนิดขึ้นมาได้

 

เนื่องจากจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดมักซ่อนอยู่หลังกลุ่มเมฆที่หนาทึบ ทำให้เป็นเรื่องยากในการสังเกตเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม กล้องเจมส์ เว็บบ์ที่สำรวจจักรวาลในช่วงคลื่นอินฟราเรด มีความสามารถในการส่องทะลุเมฆโมเลกุลไปได้ ก่อนเผยให้เห็นรายละเอียดอย่างที่ไม่เคยบันทึกได้มาก่อน ผ่านการบันทึกภาพด้วยอุปกรณ์ NIRCam (อินฟราเรดใกล้) และ MIRI (อินฟราเรดกลาง) ก่อนนำข้อมูลทั้งสองช่วงคลื่นมาประมวลผลรวมกัน

 

นอกจากข้อมูลภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ แล้ว นักดาราศาสตร์ยังใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และกล้อง ALMA หรือ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array ซึ่งช่วยให้เข้าใจถึงความหลากหลายในวัตถุ Herbig-Haro 30 ที่บ่งชี้ว่าฝุ่นขนาดเล็กและลำเจ็ตของระบบดาวจะมีบทบาทสำคัญในการก่อตัวของดาวเคราะห์ขึ้นมาได้

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA, Tazaki et al.

อ้างอิง:

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising