วันนี้ (30 มกราคม) อารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ในฐานะประธานการประชุมแนวทางการดำเนินการเพื่อลดปัญหา PM 2.5 ข้ามพรมแดน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับหลักการที่จะกำหนดมาตรการให้ผู้นำเข้าข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คต. กำหนด โดยจะต้องแสดงเอกสารประกอบการนำเข้า ทั้งแบบฟอร์มการแจ้งข้อมูลประกอบการนำเข้าตามที่กำหนด เอกสารรับรองจากหน่วยงานผู้มีอำนาจอย่างเป็นทางการ (Competent Authority: CA) ของประเทศผู้ส่งออกว่า สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นำเข้าในงวดดังกล่าว เป็นสินค้าที่มาจากแหล่งเพาะปลูกที่ไม่มีการเผา และพิสูจน์ได้ว่าผู้เพาะปลูก ผู้ส่งออก ผู้รวบรวม มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และต้องมีภาพแผนที่แสดงถึงแปลงที่ใช้ในการเพาะปลูกให้ชัดเจน
ในเบื้องต้นจะใช้บังคับกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นลำดับแรก ก่อนขยายขอบเขตไปยังสินค้าเกษตรอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ มั่นใจว่ากระบวนการดังกล่าวจะไม่ขัดต่อหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) และพันธกรณีตาม FTA ที่ไทยเป็นภาคี และไม่สร้างภาระแก่ผู้ประกอบการจนเกินความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม หลังวันนี้คงต้องมีการคุยเพื่อวางรายละเอียดให้ชัดเจนต่อไป ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบต่อไป
อารดากล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการพูดคุยในรายละเอียด ภาคเอกชนทั้งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และภาคธุรกิจของไทยที่เข้าไปลงทุนด้านการทำเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน ต่างร่วมแสดงเจตจำนงชัดที่จะจัดการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดการเผา เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนที่เป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ
นอกจากนี้ กรมจะประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแจ้งกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้รับทราบมาตรการของไทย และเร่งขอให้มีการกำหนด CA เพื่อออกหนังสือรับรองต่อไป และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องป้องกันการลักลอบนำเข้าด้วย
ทั้งนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าที่ไทยผลิตได้ประมาณ 4-5 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีความต้องการใช้ประมาณ 8-9 ล้านตันต่อปี จึงมีความจำเป็นต้องมีการนำเข้า ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเข้าประมาณปีละ 1.33-1.83 ล้านตัน แหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทยคือประเทศเพื่อนบ้าน โดยปี 2567 ไทยมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปริมาณรวม 2.011 ล้านตัน มูลค่า 19,426.90 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.07 และร้อยละ 27.91 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นการนำเข้าจากเมียนมามากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 87 ของปริมาณการนำเข้า รองลงมาคือ สปป.ลาว ร้อยละ 12.61 และกัมพูชา ร้อยละ 0.39 ตามลำดับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
THE STANDARD ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา