‘ยุโรป’ ภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจใหญ่และมั่งคั่งที่สุดในโลก ซึ่งประกอบด้วยผู้คนกว่า 731 ล้านคนใน 48 ประเทศ เข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยบรรดาผู้บริหารยุโรปออกโรงเตือนว่า หากยุโรปไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับโลกเร่งตัวขึ้นในยุคทรัมป์ 2.0 อาจพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งในสหรัฐอเมริกาและเอเชีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘สหราชอาณาจักร’ กำลังจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศร่ำรวยในปีหน้า…
- อังกฤษหนาวๆ ร้อนๆ ค่าไฟพ่นพิษอีกระลอก จับตา ‘3 แสนกว่ากิจการ’ เสี่ยงปิดตัว
- เกิดอะไรขึ้น! เยอรมนีกลายเป็น ‘ผู้ป่วยของยุโรป’ ทั้งที่เคยเป็นผู้สร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ
เตือนยุโรปล้าหลังเอเชียและสหรัฐฯ ด้านนวัตกรรม
Mario Greco ซีอีโอของ Zurich Insurance แสดงความเห็นในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า “ยุโรปล้าหลังกว่าคู่แข่งในเอเชียและสหรัฐฯ เสมอมาในด้านนวัตกรรม”
โดยการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และดิจิทัลทั้งหมดนั้น ยุโรปไม่ได้มีการลงทุนในด้านนี้อย่างที่สหรัฐฯ และจีนทำ รวมถึงการบูรณาการตลาดการเงินในยุโรปยังคงเป็นประเด็นว่าการทำธุรกิจในยุโรปมีความซับซ้อนเพียงใด และนี่คือสาเหตุที่ยุโรปต้องตื่นตัว
Greco กล่าวเสริมว่า ยุโรปมีความเข้มงวดมากเกินไปกับกฎระเบียบ และกำลังขัดขวางความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางโลกที่เข้าสู่ยุคทรัมป์ 2.0 ภายใต้นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First)
หมายความว่าภูมิภาคยุโรปจะต้องปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตัวเองให้มากขึ้นตาม โดยจะเห็นได้จากการลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับในวันแรกของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ การถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิกถอนเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 50% ตลอดจนการเคลื่อนไหวเพื่อปราบปรามผู้อพยพ
ขณะเดียวกันด้านนโยบายระดับโลก นอกจากสหรัฐฯ จะระบุว่าอาจเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% จากเม็กซิโกและแคนาดาในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ทรัมป์ยังส่งสัญญาณเตือนว่าสหภาพยุโรปว่า ‘จำเป็นต้องซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมถึงน้ำมันและก๊าซ’ มิฉะนั้นจะตกเป็นเป้าหมายของภาษีนำเข้า
ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายของยุโรปควรจะตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และยกเลิกกฎระเบียบ เมื่อเผชิญกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นและการแข่งขันจากสหรัฐฯ และจีน
ด้าน Vincent Van Peteghem รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของเบลเยียม กล่าวว่า “รัฐบาลใหม่ของทรัมป์ควรส่งเสียงที่ปลุกให้ยุโรปตื่น ซึ่งแทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การตอบโต้ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ยุโรปควรเน้นไปที่ความท้าทายของยุโรป นั่นก็คือความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงและช่องว่างด้านผลผลิตที่เพิ่มขึ้นที่เรากำลังเผชิญอยู่
ขณะที่ Steven van Rijswijk ซีอีโอของ ING กล่าวว่า ยุโรปควรต้องมีกฎระเบียบที่เรียบง่ายและสอดคล้องกันมากขึ้นทั่วทั้งสหภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งภาคการผลิตและแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทวีปนี้ นอกจากนี้ Rijswijk ตั้งข้อสังเกตว่ายุโรปยังจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่
Ana Botín ประธานบริหารของ Banco Santander กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนากรอบการทำงาน เพื่อกระตุ้นการเติบโต เพราะยุโรปมีความเสี่ยงที่จะล้าหลัง ซึ่งที่ผ่านมานวัตกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยุโรป เรามีสตาร์ทอัพจำนวนมาก แต่ปัญหาวันนี้คือชาวยุโรปเริ่มต้นที่นี่ แต่ธุรกิจหลายรายขยายไปยังสหรัฐฯ ซึ่งสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายกว่า และบริษัทต่างๆ มีภาระงานด้านเอกสารน้อยกว่า
Eric Lombard รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส มองว่าเมื่อวันนี้สหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร นั่นหมายความว่าสหภาพยุโรปจะต้องเพิ่มความพยายามในการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
ระเบิดเวลา ‘เยอรมนีและฝรั่งเศส’ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจถดถอย 2 ปีติดต่อกัน
ขณะเดียวกันรายงานข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ในปี 2024 เศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการชะลอตัวของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ขณะที่ IMF คาดการณ์ว่าในปี 2025 GDP ของยูโรโซนจะขยายตัวเพียง 1.2% และอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.3%
“โดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของยุโรป เศรษฐกิจหดตัว 0.2% ในปี 2024 นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่เศรษฐกิจถดถอย”
นอกจากนี้ IMF ยังมองว่าความตึงเครียดของสงครามการค้าทั่วโลกและแรงกดดันทางการเมืองในภูมิภาคจะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อยูโรโซนในปี 2025 โดยเฉพาะความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามการค้าระลอกใหม่ภายใต้ทรัมป์ 2.0 จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ท่ามกลางความท้าทายด้านวิกฤตพลังงานที่เกิดจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วทั้งยุโรป
อีกทั้งหลังจากนี้นโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีสินค้ายุโรปอาจเกิดขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างยานยนต์ เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์มานาน
“ส่งผลให้วันนี้เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อ่อนไหวต่อความผันผวนของอุปสงค์โลก ที่สำคัญการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้ารายใหญ่ เช่น จีน ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของการส่งออกในยูโรโซนอีกด้วย”
ภาพ: Peter Adams, Scott Olson / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2025/01/21/europe-must-wake-up-and-boost-competitiveness-in-the-trump-2point0-era.html
- https://www.reuters.com/markets/europe/eu-ministers-see-trump-wake-up-call-fix-economy-2025-01-20/
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-10-22/imf-lowers-global-growth-forecast-warns-of-increasing-risks
- https://www.cnbc.com/2024/12/18/europe-economy-good-times-coming-analysts-say.html#:~:text=Economic%20growth%20in%20Europe%20isn,forecast%20for%202025%20to%201.1%25