×

เกิดอะไรขึ้น! เยอรมนีกลายเป็น ‘ผู้ป่วยของยุโรป’ ทั้งที่เคยเป็นผู้สร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ

15.02.2024
  • LOADING...
เยอรมนี เศรษฐกิจ

ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกกลายเป็นประเทศอ่อนแอที่สุดในยูโรโซนเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากต้นทุนพลังงานสูง คำสั่งซื้อทั่วโลกอ่อนแอ และอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าเยอรมนีเป็นผู้ป่วยของยุโรปในตอนนี้ ประเทศจะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและกลับมาทวงบัลลังก์มหาอำนาจได้หรือไม่

 

จากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) การเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีคาดว่าจะอยู่ที่ 0.9% ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1.4% สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2024 

 

ปัจจัยที่ทำให้สถานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเยอรมนีสั่นคลอน ประการแรกมาจากสงครามภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลางและทะเลแดง ปริมาณการขนส่งน้ำมันดิบผ่านคลองสุเอซเพิ่มขึ้น 60% ตั้งแต่ปี 2020 และยุโรปยังนำเข้าน้ำมันจากผู้ผลิตในตะวันออกกลางผ่านทางคลองสุเอซมากขึ้นนับตั้งแต่สหภาพยุโรปบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ปัญหาซัพพลายเชนที่เกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนเผชิญกับต้นทุนพลังงานสูงขึ้น การขนส่งล่าช้า และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปอาจคงอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและยาวนานขึ้นต่อไป 

 

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พยายามต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อโดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การคงอัตราดอกเบี้ยให้สูงต่อไปอาจสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจต่างๆ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเยอรมนี ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนถึงภาวะการณ์การขยายตัวหรือหดตัวของภาคการผลิตและบริการออกมาที่ 43.8 นับเป็นการลดลงถึง 8 เดือนติดต่อกัน

 

เยอรมนีเอาชนะความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากมายในอดีต การฟื้นตัวของเยอรมนีตะวันตกในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Wirtschaftswunder’ หรือปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ แต่ช่วงเวลาดีๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเศรษฐกิจของประเทศถดถอย และการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก  

 

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เยอรมนีได้รับผลกระทบเช่นกัน จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเยอรมนี ซึ่งกำลังมีความต้องการลดลง อุปสงค์อาจไม่กลับมา เพราะจีนก็กลายเป็นคู่แข่งของเยอรมนีเช่นกันจากความสามารถในการผลิตสินค้าที่คล้ายคลึงกันกับที่ปกตินำเข้าจากยุโรปได้ สิ่งที่คุกคามการส่งออกของเยอรมนีมากที่สุดก็คือรถยนต์ 

 

นอกจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่ไม่เป็นใจกับเศรษฐกิจของเยอรมนีแล้ว บรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศยังแย่ลงอีกด้วย การหยุดงานประท้วงก่อนหน้านี้ทำให้เกิดความวุ่นวายในการเดินทาง และยังเน้นให้เห็นถึงปัญหาและความอึดอัดที่ครอบงำเยอรมนี เนื่องจากประเทศต้องต่อสู้กับปัญหาทางเศรษฐกิจและจุดอ่อนเชิงโครงสร้าง

 

นักเศรษฐศาสตร์จาก S&P Global Market Intelligence ระบุว่า หากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนียังคงดำเนินต่อไป อินเดียอาจแซงหน้าญี่ปุ่นและเยอรมนีจนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกได้ภายในปี 2030 

 

คริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี ให้สัมภาษณ์ว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีมีสุขภาพที่ดี แม้จะไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดก็ตาม นอกจากนี้รัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวในการประชุม World Economic Forum เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า เยอรมนีเป็นเพียง “ประเทศที่เหนื่อยล้า” ที่ต้องการกาแฟสักถ้วยเพื่อการปฏิรูปโครงสร้าง เขาระบุว่าเยอรมนีจำเป็นต้องลดขั้นตอนเดิมๆ ดึงดูดคนงานเข้าสู่ตลาดแรงงาน และระดมการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising