×

9 ภาพข่าวโมเมนต์สำคัญก้าวสู่สมรสเท่าเทียมชาติแรกในอาเซียนผ่านชัตเตอร์ของช่างภาพ THE STANDARD

โดย THE STANDARD TEAM
22.01.2025
  • LOADING...

กว่าจะเป็น #สมรสเท่าเทียม มีเหตุการณ์และภาพความประทับใจมากมายเกิดขึ้น ช่างภาพข่าว THE STANDARD ขอย้อนนำโมเมนต์ดีๆ เหล่านั้นกลับมาให้รับชมกันอีกครั้งผ่านภาพเซ็ตนี้

 


 

1.

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

วันที่ 1 มิถุนายน 2567: เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น นำโบกธงรุ้งเป็นสัญญาณปล่อยขบวนพาเหรด Bangkok Pride Festival 2024 และได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลกับภาคประชาชนจะร่วมผลักดันสมรสเท่าเทียมให้สำเร็จ รวมถึงคำนำหน้านามและ Sex Worker

 

โดยขบวนพาเหรดเคลื่อนไปตามถนนพระรามที่ 1 ผ่านศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน มุ่งสู่แยกราชประสงค์ งานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Celebration of Love เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย เปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIA+ และนับถอยหลังสู่การใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม  

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: https://thestandard.co/prime-minister-waves-the-rainbow-flag

 


 

2.

 

กลุ่มหลากหลายทางเพศจูบกันกลางสภาผู้แทนราษฎร

 

วันที่ 18 ธันวาคม 2562: กลุ่มหลากหลายทางเพศจูบกันกลางสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คุ้มครองการสมรสกลุ่ม LGBTQIA+

 

นำโดย ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี และ เจมส์-ภานุมาศ สิงห์พรม ที่รัฐสภา เกียกกาย โดยมี มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ รับยื่นหนังสือ เรื่อง ข้อเสนอของภาคประชาสังคมเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5-6 เพื่อการคุ้มครองการสมรสในครอบครัวเพศหลากหลายจาก เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ ผู้ประสานงานนักกิจกรรมและองค์กรความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย



ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: https://thestandard.co/lgbtq-181219/

 


 

3.

 

Bangkok Pride Festival 2024

 

วันที่ 1 มิถุนายน 2567: กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง ร่วมเดินขบวนแสดงพลังชาวสีรุ้ง LGBTQIA+ ในงาน Bangkok Pride Festival 2024 เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จ และเป็นการเคานต์ดาวน์สู่การใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ 

 

โดยไฮไลต์ของงานคือธงไพรด์ที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทยซึ่งยาวถึง 200 เมตรกางเต็มพื้นที่ถนน ในการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับการจัดงานไพรด์สู่มาตรฐานการจัด WorldPride และเตรียมความพร้อมกรุงเทพมหานครสู่การเป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride 2030 รวมถึงตอกย้ำในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและปลอดภัยสำหรับทุกคนในประเทศไทย

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: https://thestandard.co/bangkok-pride-2024/

 


 

4.

 

รัฐบาลเปิดทำเนียบเฉลิมฉลอง

 

วันที่ 18 มิถุนายน 2567: รัฐบาลเปิดทำเนียบเฉลิมฉลองในโอกาสผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ภายหลังร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา พร้อมประกาศสนับสนุนทุกฝ่ายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 ซึ่งบรรยากาศสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล มีการตกแต่งพร้อมงานเลี้ยงรับรอง เพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

 

ด้านตัวแทนคู่รัก LGBTQIA+ ต่างรู้สึกยินดีและถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสภาเรียบร้อย รู้สึกขอบคุณและเปิดใจว่า วันนี้เป็นวันที่มีความสุขที่สุด ซึ่งเป็นวันที่รอคอยมาเกือบทั้งชีวิตและไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีวันนี้

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: https://thestandard.co/govt-celebrate-same-sex-marriage/

 


 

5.

 

ขบวนพาเหรดในงาน Bangkok Pride 2023

 

วันที่ 4 มิถุนายน 2566: พิธา ลิ้ม​เจริญ​รัตน์​ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ณ ขณะนั้น เข้าร่วมเดินขบวนพาเหรดในงาน Bangkok Pride 2023 ที่จัดตั้งแต่แยกปทุมวัน ถนนพระรามที่ 1 จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ รวมถึงบรรดาคนการเมืองที่ออกมาแสดงจุดยืนจำนวนมาก

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: https://thestandard.co/paetongtarn-pita-bangkok-pride-month/

 


 

6.

 

ต้น-ศิริศักดิ์ ไชยเทศ

 

วันที่ 15 มิถุนายน 2565: ต้น-ศิริศักดิ์ ไชยเทศ พร้อมด้วยแนวร่วมภาคีสีรุ้ง ฉลองหน้าอาคารรัฐสภาหลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวาระที่ 1 ด้วยมติเสียงข้างมาก โดยกลุ่มเครือข่ายภาคีสีรุ้งที่เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาและติดตามผลการโหวตร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.​) สมรส​เท่าเทียม ได้ร่วมฉลองหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง ขณะที่ 3 ร่าง พ.ร.บ. ที่เหลือ ได้รับเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนด้วยเช่นกัน

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: https://thestandard.co/law-equal-marriage-passed-agenda-1/

 


 

7.

 

การจดแจ้งชีวิตคู่รัก LGBTQIA+

 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566: คู่รักหญิงแสดงความรักต่อกันระหว่างการจดแจ้งชีวิตคู่รัก LGBTQIA+ เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิการแสดงออกของคู่รักทุกเพศ ทุกสถานะ โดยสถิติผู้จดแจ้งชีวิตคู่ในแต่ละปีจะถูกบันทึกเป็นข้อมูลสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อไป

 

ซึ่งกิจกรรมนี้จัดโดยสำนักงานเขตดุสิตร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเนื่องในวันวาเลนไทน์ ภายใต้ชื่องาน ‘ปดิวรัดา…ด้วยรักภักดีนิรันดร์’

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: https://thestandard.co/lgbtqia-celebrate-valentine/

 


 

8.

 

บรรยากาศการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระ 2 และวาระ 3

 

วันที่ 18 มิถุนายน 2567: บรรยากาศการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระ 2 และวาระ 3

 

โดยกรรมาธิการแสดงความดีใจหลังสมาชิกวุฒิสภาลงมติ ‘เห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมชาติแรกในภูมิภาคอาเซียน ภายหลังกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของวุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: https://thestandard.co/first-asean-marriage-equality-bill/

 


 

9.

 

กฎหมายสมรสเท่าเทียม

 

วันที่ 27 มีนาคม 2567: ‘ปรบมือดีใจก้องสภา’ หลังจากที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระ 2 รายมาตราทั้งสิ้น 68 มาตรา โดยใช้เวลาในการพิจารณาราว 5 ชั่วโมง ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติเสียงข้างมาก 400 ต่อ 10 เสียง ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ

 

เมื่อวุฒิสภาพิจารณาและโหวตลงมติเห็นชอบแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลจากนั้นหลังผ่าน 120 วันในที่ 22 มกราคม 2568 จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศที่ 38 ของโลก

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: https://thestandard.co/parliament-same-sex-marriage/

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising