“ใบอ้อยมันคม บาดทีเดียวเลือดซิบๆ ใบเหนียวด้วย ตัดยากและตัดช้า ตัดต้นอ้อยแล้วต้องเสียเวลาเอามีดมาสางใบออกจากต้น เผาก่อนมันตัดง่ายดี”
ไม่นานมานี้ผู้เขียนเคยมีโอกาสพูดคุยกับคนงานเผาไร่อ้อยหลายคน หลังจากพวกเขาพาเดินเข้าไปสำรวจในไร่อ้อยแห่งหนึ่ง ต้นใหญ่ท่วมหัว ลำอ้อยอวบใหญ่ และใบอ้อยคมจนต้องระวัง
ช่วงต้นปีของทุกปี ปัญหาหมอกควันพิษและ PM2.5 ได้กลับมาคุกคามสุขภาพของคนไทยอย่างไม่จบสิ้น
สาเหตุของหมอกควันพิษในกรุงเทพมหานครและภาคกลางในขณะนี้ นอกจากปัญหาควันจากท่อไอเสียของรถยนต์แล้ว สาเหตุสำคัญคือการเผาจากพื้นที่ภาคการเกษตร
โดยเฉพาะไร่อ้อยที่อยู่ในช่วงฤดูกาลหีบอ้อย หรือช่วงเวลาที่โรงงานน้ำตาลกำลังรับซื้อผลผลิตอ้อย เพื่อทำการหีบน้ำอ้อยจากลำอ้อยไปแปรรูปผลิตน้ำตาล เพราะอ้อยไม่สามารถเก็บไว้ในลักษณะของอ้อยสดได้นาน
โรงงานน้ำตาลจะเปิดฤดูหีบอ้อยตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายน อากาศแห้งและเย็น อ้อยกำลังหวานได้ที่พอดี หากเลยช่วงนี้ไป ฝนเริ่มตก อ้อยจะไม่ค่อยหวาน ตัดยาก พื้นดินเฉอะแฉะ รถบรรทุกทำงานลำบากในไร่อ้อย เผาก็ยาก
เราจึงเห็นรถบรรทุกอ้อยขนาดใหญ่หลายหมื่นคันแล่นกันเต็มถนนช่วงเวลานี้ ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เพื่อบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล
เจ้าของไร่อ้อยหลายรายทราบดีว่าในสถานการณ์ที่แรงงานขาดแคลน คนงานรับจ้างตัดไร่อ้อยทุกวันนี้ส่วนใหญ่มีเงื่อนไขว่าต้องเผาไร่อ้อยก่อนถึงจะรับจ้างตัด
มีข้อมูลว่าหากเผาไร่อ้อยจนใบไหม้หมดเหลือแต่ลำต้นอ้อยก่อนจะตัด สามารถตัดได้ปริมาณอ้อยมากถึง 4-5 ตันต่อวัน ตัดได้ง่าย ไม่เจ็บ เสร็จเร็ว ได้เงินเร็ว
แต่หากตัดอ้อยโดยไม่เผา อาจบาดเจ็บเลือดไหล และทำงานช้า ตัดได้แค่ 1.5 ตันต่อวัน
แม้ว่าโรงงานน้ำตาลบางรายชอบรับอ้อยสด ให้ราคาดีกว่า เพราะคุณภาพของน้ำตาลดีกว่าอ้อยที่โดนไฟไหม้
แต่ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ก็นิยมเผาก่อนตัดเพราะทำงานได้เร็วกว่า
การตัดอ้อยสดจึงตัดยากและช้ากว่าตัดอ้อยไฟไหม้เพราะต้องเสียเวลาสางใบ เมื่อเทียบราคาตัดอ้อยสดอยู่ที่ตันละ 240 บาท แต่หากเป็นอ้อยไฟไหม้ค่าจ้างตกตันละ 130 บาท หลายพื้นที่จึงลักลอบเผาอ้อย เนื่องจากเกษตรกรต้องการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิต แม้ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนให้เกษตรกรตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท แต่บางคนไม่ได้มีโควตากับโรงงานน้ำตาลโดยตรง เมื่อไม่ได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจึงเผาอ้อยและขายให้กับนายทุนที่เปิดลานรับซื้อ
และทุกวันนี้แรงงานที่ทำงานกลางแดดจัดๆ แบบนี้หาไม่ง่าย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานต่างด้าวไหลทะลักเข้ามา
แต่แม้เป็นแรงงานต่างด้าวก็เล่นตัวเหมือนกัน อยากให้เผาไร่อ้อยก่อน เพราะรายได้ต่างกันมาก
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพบว่าประเทศไทยจะมีผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2566/2567 อยู่ที่ 82 ล้านตัน และคาดการณ์ว่าปีการผลิต 2567/2568 จะเพิ่มเป็น 92 ล้านตัน
ทั่วประเทศปลูกไร่อ้อยประมาณ 12 ล้านไร่ โดยช่วงระยะเวลาปี 2557-2562 พบว่ามีการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 8,456,000 ไร่ เป็น 11,469,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 3,013,000 ไร่ และคาดกันว่ามีการเผาไร่อ้อยทั่วประเทศประมาณร้อยละ 30 หรือประมาณ 4 ล้านไร่
โดยมี 4 จังหวัดที่ปลูกอ้อยมากที่สุด กินพื้นที่กว่า 7 แสนไร่ขึ้นไป คือนครสวรรค์ กำแพงเพชร อุดรธานี และกาญจนบุรี ขณะที่อุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงสุดของประเทศ
ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และโรงไฟฟ้าของบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ในจังหวัดอุดรธานี หลังตรวจสอบพบว่ามีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุดจากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน คิดเป็น 43.11% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด หรือกว่า 410,000 ตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 40,000 ไร่ ทำให้รถอ้อยตกค้างกว่า 2,000 คัน หลังมาจอดรอขายอ้อยโดยไม่รู้ว่าจะได้ขายเมื่อไรและอ้อยเสี่ยงเน่าเสีย
ฝุ่นที่เกิดจากการเผาใบและยอดอ้อยนี้มีทั้งฝุ่นขนาดเล็กแบบ PM2.5 และฝุ่นขี้เถ้าขนาดใหญ่สีดำปลิวลอยเป็นหมอกควัน สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมานานหลายสิบปี ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘หิมะดำ’
ช่วงต้นปีผู้เขียนเคยขับรถออกไปแต่เช้า มุ่งหน้าไปจังหวัดกาญจนบุรี จะพบว่าตลอดเส้นทางปกคลุมไปด้วยหมอกเช่นกัน ต้องเปิดไฟหน้ารถตลอดทางแม้จะเป็นเวลาแปดโมงเช้าเนื่องจากทัศนียภาพที่มองไม่เห็น
เมืองกาญจน์มีพื้นที่ปลูกอ้อย 7 แสนกว่าไร่ ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ชาวบ้านเดือดร้อนจากการเผาจนหิมะดำปลิวฟุ้ง หลังคาบ้านเรือนหลายพื้นที่มีเขม่าสีดำจากฝุ่นขี้เถ้าเกาะเต็มไปหมด
แต่ที่บ้านท่ามะนาว อำเภอเมือง เจ้าของไร่อ้อยหลายแห่งไม่เผาอ้อยมานานหลายสิบปีแล้ว เพราะทราบดีว่าชาวบ้านเดือดร้อนจากควันดำ จึงใช้แรงงานตัดอ้อยสด
“เถ้าแก่เจ้าของพื้นที่ 200 ไร่ ไม่เคยเผาไร่อ้อยเลยตั้งแต่ทำไร่มายี่สิบกว่าปี แกไม่ชอบเผา ชอบตัดอ้อยสด คงรู้ว่าชาวบ้านจะเดือดร้อน” ชาวบ้านรับจ้างตัดอ้อยคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
อ้อยสดจะมีราคาดีกว่าอ้อยที่ถูกไฟไหม้ แถมคุณภาพน้ำตาลสูงกว่า และซากต้นอ้อยในไร่ยังนำมาทำปุ๋ยได้ แม้ต้นทุนแรงงานจะสูงขึ้นเพราะแต่ละวันตัดได้ช้ากว่าการเผา
ผู้เขียนถามคนงานเหล่านี้ว่าไม่กลัวโดนใบอ้อยบาดเหรอ
“เวลาตัดก็ต้องระวัง ค่อยๆ ตัด ใส่ถุงมือป้องกัน หากตัดเก่งแล้วก็ไม่ค่อยบาดเจ็บ”
การตัดอ้อยจึงเป็นการทำงานแบบประณีตและละเอียด แม้จะตัดได้ช้าแต่ดูเหมือนคนงานเหล่านี้ก็พอใจ ตัดกันจนชำนาญ เช่นเดียวกับเจ้าของไร่อ้อย แม้จะเสียเวลา ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่พวกเขาก็ยอมรับ
เพียงแต่คนแบบนี้ไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ในวงการอ้อย การเผาจึงดำรงอยู่ และหมอกควันพิษที่นับวันจะเพิ่มขึ้น
ทุกวันนี้ไทยผลิตน้ำตาลส่งออกมากเป็นอันดับ 3 รองจากบราซิลและอินเดีย แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เพราะความต้องการน้ำตาลของประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก 2-3 เท่าตัว
รายได้มหาศาลจากการส่งออกที่ตกอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ไม่กี่ราย ต้องแลกกับสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องมารับเคราะห์กับการเผาไร่อ้อย การก่อมลพิษที่ไม่มีทางจบสิ้น