×

มหาดไทยยกคณะกรมที่ดินตรวจสอบปมพิพาทเขากระโดง ทรงศักดิ์ชี้ รฟท. ก้าวล่วงสิทธิประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
20.12.2024
  • LOADING...
interior-investigates-khao-kradong-dispute

วันนี้ (20 ธันวาคม) ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 1 ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน และ สนอง เทพอักษรณรงค์ สส. บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 400 คนเข้าร่วม

 

ทรงศักดิ์​กล่าวว่า วันนี้พยายามนำข้อเท็จจริงมาสะท้อนปัญหาให้เห็นถึงข้อพิพาทเรื่องที่ดินเขากระโดง​ ซึ่งเป็นประเด็นไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อก่อนไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจ ที่ต้องพูดเช่นนี้เพราะตนเป็นคนบุรีรัมย์เหมือนกัน เป็นคนบุรีรัมย์ที่เกิดมาก็เห็นเขากระโดงแล้ว แต่มีคนเข้าใจกันคลาดเคลื่อนมากมายว่าเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือไม่ จนเป็นประเด็นปัญหาทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน

 

ทรงศักดิ์​กล่าวอีกว่า จากการรับฟังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 5,000 ไร่ รวมไปถึงศูนย์ราชการและวัดที่อยู่ในพื้นที่ หากฟังทั้งหมดตนเข้าใจว่า เหมือน รฟท. จะไปก้าวล่วงสิทธิของประชาชน​ ซึ่งตนเชื่อว่าที่ดินของ รฟท. มีกฎหมายเฉพาะ​ จึงไม่น่าจะเป็นที่ดินของ รฟท. 

 

“วันนี้ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ที่กรมที่ดิน ผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการ เชิญประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพบกัน หลายคนก็แสดงเอกสารสิทธิ์ที่เป็นโฉนด ซึ่งบางคนเห็นได้ว่าโฉนดเก่ามากจนแทบขาด” 

 

ทรงศักดิ์กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กำกับดูแลกรมที่ดิน จึงเน้นย้ำกับอธิบดีอยู่เสมอว่า ข้อพิพาทที่เป็นการลิดรอนสิทธิแบบนี้จะต้องมีหลักฐานที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะกระทบต่อประชาชนอย่างน้อย 5,000 ไร่ 900 แปลง 

 

เจนกิจ เชฏฐวาณิชย์ รองอธิบดีกรมที่ดิน ชี้แจงประชาชนกว่า 400 คนที่ได้รับผลกระทบว่า เหตุผลที่กรมที่ดินมาวันนี้เพราะยังมีข้อเท็จจริงที่ยังไม่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่ จึงมีนโยบายนำเรื่องนี้มาชี้แจงให้ประชาชนทราบ  ซึ่งภารกิจของกรมที่ดินคือการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนในพื้นที่เขากระโดง มี 2 ตำบล คือ เสม็ดและอิสาณ ซึ่งออกไปแล้ว 995 แปลง 

 

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเราไม่ได้ดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว มีหน่วยงานอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ รวมถึงสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และในเขากระโดงก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ รฟท. ซึ่งเข้ามาเป็นคู่ความกับกรมที่ดินในปัจจุบัน

 

เจนกิจกล่าวว่า เราตรวจสอบแล้วพบว่ามีการระวางชี้แนวเขตที่ รฟท. รับรองว่าไม่ใช่ที่ดินของ รฟท. ซึ่งตรวจสอบจากข้อมูลในสารบบ 2 ตำบล 271 แปลง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่เคยปรากฏในข่าว ยืนยันว่ากระบวนการนั้นมีการตรวจสอบครบถ้วนตามกฎหมายที่ดินจนปี 2539 มีข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับ รฟท. จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนที่ปี 2539 ที่แก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน จึงนำแผนที่ฉบับนี้ไปใช้ต่อสู้ในคดีของประชาชน จึงเป็นที่มาของคำพิพากษาทั้ง 3 คดี  

 

ขณะเดียวกัน 3 คดีนี้กรมที่ดินไม่เคยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มีแต่ประชาชนที่เข้าต่อสู้โดยลำพัง ดังนั้น รฟท. จึงใช้ 3 คดีนี้มาฟ้องกรมที่ดิน เพื่อให้อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจเพิกถอน ในประเด็นนี้ศาลวินิจฉัยแล้วว่าเป็นข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องไป ศาลไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงมีคำสั่งของศาลปกครองกลางให้กรมที่ดินแต่งตั้งกรรมการสอบสวน และดำเนินการครบถ้วนแล้ว  

 

ขณะที่ สมบัติ​ ลาอ่อน​ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด​บุรีรัมย์ ชี้แจงว่า​ ที่ดินดังกล่าวมีข้อพิพาทมาเป็นระยะเวลานาน​ ซึ่งกรมที่ดินพยายามพิจารณาตามพยานหลักฐาน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งในส่วนที่ศาลมีคำพิพากษา มีอยู่ 3 คำพิพากษา​ ทั้ง​ รฟท. ฟ้องไล่ราษฎร​ และราษฎร​ฟ้องกรมที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินทำตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วน โดยเป็นการพิพาทระหว่าง​ประชาชน​ 35 คนกับ รฟท.

 

ส่วนคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นกรณีสำคัญ รฟท. อาศัยข้อเท็จจริงจากศาลคดีนั้นมาให้กรมที่ดิน​ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา ​61 ที่วินิจฉัย​ พร้อมระบุว่า ไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมที่ดิน​ที่จะใช้อำนาจเพิกถอนหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้อธิบดีกรมที่ดินตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เพื่อพิจารณาและดำเนินการ ซึ่งจะพิจารณาตามพยานหลักฐานประกอบคำพิพากษาที่มาจากการพิจารณาจากทุกภาคส่วน 

 

ขณะเดียวกัน​ กรณีที่ รฟท. กล่าวอ้างไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะเอามาใช้เพิกถอนโฉนดที่ดินของประชาชนได้ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้คณะกรรมการตามมาตรา 61 เสนอให้ยุติการดำเนินการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนตามที่ประชาชนต่อสู้ 

 

ส่วนปัจจุบันการดำเนินการ รฟท. อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน​ ซึ่งก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ เพราะฉะนั้นขณะนี้กรมที่ดินอยู่ระหว่างการรอผลพิจารณาการอุทธรณ์​ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาและจะดำเนินต่อไปคงต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ชัดเจนและเพียงพอ จึงจะสามารถดำเนินการในส่วนของกลุ่มที่ดินได้

 

ขณะที่ สนอง เทพอักษรณรงค์ กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเขากระโดงว่า ส่วนตัวตนเชื่อว่าไม่มีพี่น้องชาวบุรีรัมย์คนใดคิดจะโกงที่ดินของราชการ เพราะตนเป็นคนจังหวัดบุรีรัมย์ เห็นความเจริญของพื้นที่มาโดยตลอด และตนมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมที่บ้านศิลาทอง โดยให้พี่น้องที่ถือครองที่ดินนำโฉนดที่ตนถือครองมาแสดง ซึ่งทำให้เห็นว่าโฉนดที่ดินที่พี่น้องถือครองอยู่เป็นเอกสิทธิ์ตามกฎหมายที่ออกโดยกรมที่ดิน และโฉนดของพี่น้องบางคนถือครองมาตั้งแต่ในสมัยปู่ย่า ตายาย 

 

สนองกล่าวต่อว่า เรื่องที่ดินเขากระโดงสำคัญคือเรื่องการเมือง ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สมัยก่อนก็มักจะมีนักการเมืองนำเรื่องเขากระโดงมาหาเรื่อง และมาโจมตีผู้ที่ครอบครองที่ดิน โดยเฉพาะ เนวิน ชิดชอบ และเมื่อการเลือกตั้งเสร็จทุกอย่างก็เงียบ และขอยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ว่า ประชาชนที่อยู่อาศัยได้รับโฉนดและเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนที่ดิน 35 แปลงที่ศาลมีคำสั่ง กรมที่ดินก็ทำตามคำสั่งของศาลไปแล้ว แต่อีก 7,000 แปลงที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย

 

ส่วนที่คณะกรรมาธิการการทหาร นำโดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวว่า มทบ.26 เลี่ยงการก่อสร้างในที่ดินบริเวณเขากระโดง โดยระบุว่าเป็นการเลื่อนหลักกิโลเพื่อช่วยเหลือคนบางคนให้ครอบครองที่ดิน ว่าค่ายทหารไม่ได้อยู่ที่กิโลเมตรที่ 7-8 แต่อยู่ที่กิโลเมตรที่ 4 แต่เมื่อหน่วยงานทหารมาชี้แจงข้อเท็จจริง ทำให้วิโรจน์เงียบไป เพราะไม่ใช่สิ่งที่วิโรจน์มากล่าวอ้าง

 

สนองกล่าวย้ำว่า พวกเราทั้งหมดไม่เคยบุกรุกที่หลวง ที่ รฟท. แต่เป็นที่ดินที่เรามี น.ส.3 มีเอกสารสิทธิ์ที่เราครอบครอง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนบุรีรัมย์เคารพกฎกติกาและทำตามกฎหมายทุกประการ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X