ซินดี้ สิรินยา คุยกับคุณหมอโอ๋-จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น และเจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้านในประเด็นเกี่ยวกับการบาลานซ์ตัวเองของคุณแม่ที่มีลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นในรายการ Balanced Mama Podcast
พัฒนาการจาก ‘วัยเด็ก’ สู่ ‘วัยรุ่น’
การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่เห็นได้ชัดเจนคือเด็กผู้ชายจะมีขนาดอัณฑะใหญ่ขึ้น และเด็กผู้หญิงจะเริ่มมีเต้านม ส่วนพัฒนาด้านสมองและจิตใจจะเป็นไปตามวุฒิภาวะของแต่ละวัย แต่โดยส่วนใหญ่ทางการแพทย์มักนับว่าเด็กอายุ 10 ขวบขึ้นไปถือว่าเข้าสู่ช่วงของการเป็นวัยรุ่นแล้ว แต่อาจมีบางคนที่เจริญเติบโตเร็วกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาหารการกิน รวมถึงกรรมพันธุ์จากครอบครัวอีกด้วย
โดยเด็กวัยนี้มีความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง 4 ด้านคือ
1. เริ่มต้องการความเป็นอิสระ
ผู้ปกครองหลายคนอาจเกิดความไม่เข้าใจว่าทำไมลูกเริ่มไม่ติดพ่อแม่เหมือนแต่ก่อน เช่น ไม่ยอมให้หอมแก้มในที่สาธารณะ ไม่ค่อยอยากไปไหนมาไหนด้วย หรือติดเพื่อนมากกว่าครอบครัว แต่จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ถือเป็นพัฒนาการตามวัยที่เด็กจะต้องพัฒนาตัวเองจากความอิสระโดยปราศจากพ่อแม่ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างวัยเด็กสู่การเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว
2. สนใจรูปลักษณ์มากขึ้น เด็กเริ่มให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาและสนใจแต่งตัวตามแฟชั่นมากขึ้น
3. เริ่มสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและสังคมรอบข้าง เป็นวัยที่เพื่อนมีความสำคัญสูง พ่อแม่อาจห่วง กลัวลูกติดเพื่อนมากเกินไป แต่หมอขอแนะนำว่าเด็กที่ติดเพื่อนไม่น่าเป็นห่วงเท่าเด็กที่ไม่มีเพื่อน เพราะในวัยนี้เพื่อนมีความสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างความมั่นใจ และทำให้เขารู้จักการพัฒนาอัตลักษณ์ตนเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
4. ค้นหาตัวตน เด็กเริ่มค้นหาว่าตัวเองคือใคร ถนัดอะไร สนใจเรื่องไหน มีความเชื่อหรือค่านิยมต่อสิ่งต่างๆ ในสังคมอย่างไร
ทั้งนี้วัยรุ่นแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ วัยรุ่นตอนต้น, วัยรุ่นตอนกลาง และวัยรุ่นตอนปลาย แต่วัยที่พาความปวดหัวมาให้พ่อแม่มากที่สุดคือวัยรุ่นตอนกลาง อายุระหว่าง 14-17 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ติดเพื่อนมาก เป็นตัวของตัวเองสูง และไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่ขอให้พยายามอดทนทำความเข้าใจ เพราะเมื่อไรที่เริ่มเข้าสู่วัย 18 ปี เขาจะกลับมารับฟังมากขึ้นตามกลไกการทำงานของสมอง
สอนลูกชายและลูกสาวอย่างเท่าเทียม
หลายครั้งที่พ่อแม่มักเป็นห่วงลูกชายและลูกสาวในประเด็นที่แตกต่างกัน เช่น ห่วงลูกสาวเรื่องเพศ ห่วงลูกชายเรื่องยาเสพติด แต่แท้จริงแล้วทุกเพศมีความเสี่ยงเท่ากัน ทุกคนควรได้รับการสอนอย่างเท่าเทียม
ติดอาวุธทางความคิดให้กับลูก
เด็กยุคใหม่โตมากับความเสี่ยงที่มีมากกว่าอดีต เพราะเป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้าถึงง่าย พ่อแม่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าลูกไปไหนกับใครอย่างไรในโลกออนไลน์ มันเป็นเรื่องที่เปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการสอนวิธีคิดเพื่อเป็นอาวุธติดตัวให้กับลูก พยายามฝึกพัฒนาสมองส่วนหน้า เน้นให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเองและอารมณ์ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ลองฝึกให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาด มีโอกาสได้ตัดสินใจ ใช้ความคิดกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา พยายามตั้งคำถามกับลูกเยอะๆ เพื่อให้เด็กได้ลงมือหาคำตอบเอง
อย่ากลัวที่ลูกจะต้องเจอกับความผิดพลาดหรือปัญหา เพราะหลายครั้งมันสอนเขาได้ดีกว่าคำพูดที่เราพร่ำบ่นอยู่เสมอ
ใช้ความรักเป็นเกราะป้องกันอันตราย
หมอขอแนะนำให้พ่อแม่พยายามแสดงออกให้ลูกรู้ว่าเขาสำคัญแค่ไหนและให้ความรักแบบที่ไม่มีเงื่อนไข เพราะเมื่อไรที่เด็กเข้าสู่ความเสี่ยงหรือเจอโอกาสในการออกนอกลู่ทาง ถ้าเขายังรู้ว่าตัวเองเป็นคนที่มีความหมายต่อครอบครัวก็จะสามารถช่วยดึงรั้งลูกไว้อย่างมาก ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกิดจากการบอกรัก แต่เกิดจากการใช้เวลาคุณภาพด้วยกัน
ฟังให้เยอะ บ่นให้น้อย เน้นให้ลูกลงมือทำจริง
วิธีการสื่อสารระหว่างพ่อแม่และลูกก็เป็นอีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เด็กหลายคนเวลาเจอปัญหาหรือมีเรื่องอะไรไม่สบายใจมักไม่อยากเล่าให้ที่บ้านฟัง เพราะสิ่งที่เขาจะได้ตอบคือการสั่งสอน ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กในวัยนี้ไม่ต้องการ ฉะนั้นหลักการสำคัญของการสื่อสารกับวัยรุ่นคือฟังให้มาก ตั้งคำถามให้เยอะ สอนให้น้อย อย่าคอยปกป้องด้วยการบ่น และฝึกให้เขาลงมือทำเองในหลายด้าน
การเล่นโซเชียลของลูกเป็นสิ่งที่ควรควบคุมมากน้อยแค่ไหน
พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถรับผิดชอบทุกเรื่องได้ด้วยตนเอง เพราะสมองส่วนอารมณ์ของมนุษย์จะทำงานเยอะในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น ส่วนสมองส่วนคิดวิเคราะห์จะเริ่มทำหน้าที่ตัดสินใจด้วยเหตุผลเหนืออารมณ์หลังอายุ 25 ปีขึ้นไป จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องช่วยฝึกเขาด้วยการดึงเอาตัวเองลงมากำกับ อย่าคาดหวังว่าโตแล้วต้องคิดได้
ตัวอย่างของพ่อแม่ 4 ประเภทในสถานการณ์ควบคุมลูกติดเกม
ประเภทที่ 1 ทูนหัวของบ่าว
เมื่อไรที่ลูกแสดงอาการไม่พอใจจะหยุดตักเตือนและตามใจทันที
ประเภทที่ 2 พ่อแม่สายแข็ง
ใช้การขู่บังคับหรือลงโทษด้วยการตี หากลูกไม่ทำตามที่ตัวเองพูด ซึ่งการทำวิธีนี้นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ไม่ดีแล้ว เด็กจะไม่ได้เชื่อฟังจริงๆ เมื่อไรที่ผู้ใหญ่ไม่อยู่ก็ลั้นลาเหมือนเดิม
ประเภทที่ 3 พูดไปบ่นไป
บ่นไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ลงมือออกกฎจริงจังอะไร สุดท้ายบ่นจนเหนื่อยก็หยุด และลูกก็ได้เล่นเกมเหมือนเดิม
ประเภทที่ 4 พ่อแม่เชิงบวก
เป็นประเภทที่หมออยากให้มีมากที่สุด พ่อแม่กลุ่มนี้จะมีความใจดี แต่จริงจัง มีการออกกฎชัดเจน และเมื่อไรที่ลูกละเมิดข้อตกลงจะมีการลงมือเพื่อให้ลูกรู้ถึงผลจากการควบคุมตัวเองไม่ได้ ครั้งหน้าจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำ
Credits
The Host ซินดี้ บิชอพ
The Guest พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร
Show Creator ซินดี้ บิชอพ
Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Photographer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic