วันที่ 7 ธันวาคมนี้ ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในปี 2024 สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ตลอดคืน
ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 11 เท่าของโลก โดยในวันที่ 7 ธันวาคม ดาวพฤหัสบดีจะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หรือเรียกว่า Jupiter Opposition หมายความว่าดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดีอยู่ในระนาบเส้นตรงเดียวกัน
ด้วยเหตุเช่นนี้ จึงทำให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้โลกที่สุดในวันที่ 7 ธันวาคม เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อสังเกตจากโลก โดยมีระยะห่างไปประมาณ 611 ล้านกิโลเมตร และมีค่าความสว่างปรากฏประมาณ -2.8 เป็นรองเพียงดวงจันทร์และดาวศุกร์บนท้องฟ้ายามค่ำคืน
ในวันดังกล่าวผู้คนบนโลกสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีบนท้องฟ้ายามค่ำคืนได้ด้วยตาเปล่า และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายเพียงพอ จะมองเห็นลวดลายของแถบเมฆ พายุ และจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีรวมถึงบรรดาดวงจันทร์กาลิเลียนทั้ง 4 ดวงที่โคจรอยู่รอบได้
หากพลาดโอกาสชมครั้งนี้ไป ปรากฏการณ์ Jupiter Opposition ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในอีก 13 เดือนถัดจากนี้ ในวันที่ 10 มกราคม 2026
นอกจากนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ร่วมมือกับ กทม. และหน่วยงานพันธมิตร จัดงาน ‘ดูดาวกลางกรุง’ Starry Night over Bangkok 2024 ในคืนดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยมีกิจกรรมต่างๆ และคาราวานกล้องโทรทรรศน์กว่าร้อยตัว ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมฟรี ณ ลานอัฒจันทร์กลาง สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ คืนวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2567 เวลา 17.00-22.00 น.
ภาพ: NASA / ESA / Amy Simon (NASA-GSFC) / Michael H. Wong (UC Berkeley)