วันนี้ (28 พฤศจิกายน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกําลังแรงขึ้น ทําให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากระหว่างวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2567
ปัจจุบันมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาสและสตูล รวม 50 อำเภอ 321 ตำบล 1,884 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 136,219 ครัวเรือน เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมดูแลให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประกาศเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังภาคใต้ตอนล่าง ช่วงวันที่ 28 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม 2567 จากปริมาณฝนตกหนักบริเวณลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำและคลองสาขามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะล้นตลิ่งและหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
- แม่น้ำปัตตานี บริเวณอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา อำเภอยะรังและหนองจิก จังหวัดปัตตานี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2-2.5 เมตร
- แม่น้ำสายบุรี บริเวณอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2-2.8 เมตร
- คลองตุยง บริเวณอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.8-1.5 เมตร
- แม่น้ำโก-ลก บริเวณอำเภอสุไหงปาดี, แว้ง, สุไหงโก-ลก และตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.4-2 เมตร
- คลองตันหยงมัส บริเวณอำเภอเมืองนราธิวาส, ระแงะ และยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.5-2.3 เมตร
เทศบาลยะลาเตือนประชาชนริมแม่น้ำปัตตานียกของขึ้นที่สูงด่วน
สถานการณ์ภาพรวมอุทกภัยที่จังหวัดยะลา เทศบาลนครยะลา แจ้งเตือนผู้ที่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำปัตตานีและบริเวณใกล้เคียงที่มีความเสี่ยง โปรดขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงโดยด่วน เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีล้นคันกั้นน้ำแล้ว ทั้งนี้ หากต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อ 0 7321 3345 ตลอด 24 ชั่วโมง
อำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา มีความห่วงใยชาวบ้านที่เดือดร้อนอย่างหนัก หลังฝนตกต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วันเต็มๆ ซึ่งพบว่าสภาพโดยรวมของจังหวัดยะลามีน้ำท่วมพื้นที่รอบนอกบริเวณตำบลเปาะเส้งและสะเตงนอก ภาวะน้ำล้อมเมืองบริเวณหน้าสถานีรถไฟยะลามีปริมาณน้ำสูงขึ้น ร้านค้าต่างยังคงขนย้ายสิ่งของ
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดยะลากำชับหน่วยงานให้ความช่วยเหลือจัดทำข้าวกล่องสำหรับเป็นอาหารเที่ยงและเย็นช่วงละ 4,000 กล่อง และบริหารจัดการแจกจ่ายอาหารช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ซ้ำซ้อน
ขณะเดียวกันพบชาวบ้านเดือดร้อนแล้วกว่า 107,000 คน น้ำท่วม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา, รามัน, ยะหา, บันนังสตา และกาบัง รวมกว่า 20,000 ครัวเรือน
สงขลาน้ำท่วม กระทบแล้ว 50,000 ราย
สถานการณ์ภาพรวมอุทกภัยที่จังหวัดสงขลา เผชิญอุทกภัยหนัก 15 อำเภอ ครอบคลุม 99 ตำบล กระทบประชาชนกว่า 50,000 คน โดยพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขัง และบางส่วนได้รับความเสียหาย ซึ่งยังคงต้องรับมือฝนตกหนัก เนื่องจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกเตือนว่าจะมีฝนตกต่อเนื่องถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
ด้านการช่วยเหลือ หน่วยงานต่างๆ ระดมกำลังเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและแจกจ่ายสิ่งของจำเป็น เช่น ข้าวกล่อง ยารักษาโรค และถุงยังชีพ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงช่วยเคลื่อนย้ายประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมกว่า 300 ราย พร้อมจัดตั้งจุดรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือ ณ ศาลากลางจังหวัดสงขลา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาสั่งการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง พร้อมสำรวจความเสียหายและวางแผนฟื้นฟูเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ขณะที่เซ็นทรัล หาดใหญ่ พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากสถานการณ์ฝนตกหนักในจังหวัดสงขลา เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถนำรถยนต์ของท่านมาฝากจอดฟรีได้ที่ลานจอดรถเซ็นทรัล หาดใหญ่ ตั้งแต่วันนี้ พร้อมนำสำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนรถ และบัตรจอดรถ มาลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่จุดรับ-ส่งสินค้า ชั้น G เมื่อลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะแจ้งจุดจอดรถให้ลูกค้าทราบ โดยลูกค้าต้องมารับรถภายใน 3 วันเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ เทศบาลนครหาดใหญ่ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ประกาศยกธงเหลืองจำนวน 9 ชุมชนในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ดังนี้
- ชุมชนหาดใหญ่ใน
- ชุมชนคลอง ร.1
- ชุมชนศาลาลุงทอง
- ชุมชนตลาดพ่อพรหม
- ชุมชนเทศาพัฒนา
- ชุมชนจันทร์ประทีป
- ชุมชนจันทร์นิเวศน์
- ชุมชนรัตนวิบูลย์
- ชุมชนจันทร์วิโรจน์