การประชุมผู้ถือหุ้นของ Berkshire Hathaway ปีนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซีอีโอของบริษัท และ ชาร์ลี มังเกอร์ มือขวาของเขา ได้ถูกตั้งคำถามจากผู้ถือหุ้นในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการธนาคารของสหรัฐอเมริกา สถานะของเงินสกุลดอลลาร์ในการเป็นเงินสกุลหลักของโลก เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ไฮไลต์สำคัญในงานดังกล่าวมีอะไรบ้าง THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมมาไว้ให้แล้ว
1. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มถูกกระทบจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
ในงานดังกล่าว บัฟเฟตต์และมังเกอร์ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของภาคอสังหาเพื่อการพาณิชย์สหรัฐฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก โดยเฉพาะในย่านใจกลางเมืองที่มีความเสี่ยงจะเกิดปัญหามากขึ้น เนื่องจากผู้กู้ยืมจำนวนมากกำลังดิ้นรนกับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน
“เราเริ่มเห็นคนที่กู้ยืมในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5% ประสบปัญหากับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน พวกเขาอาจต้องยอมให้ธนาคารที่ให้พวกเขากู้เงินมาสร้างตึกยึดตึกเหล่านั้นไป แม้ว่านั่นจะเป็นสิ่งที่ธนาคารไม่ต้องการก็ตาม” บัฟเฟตต์ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ้น Defensive, หุ้นญี่ปุ่น และหุ้นของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าสู่เรดาร์นักลงทุน ช่วงสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
- Berkshire Hathaway ของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เตรียมเทขายบอนด์สกุลเงินเยนอีกระลอก
- ส่องไลฟ์สไตล์ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ มหาเศรษฐีสุดมัธยัสถ์ แม้จะร่ำรวยถึง 1.06 แสนล้านดอลลาร์ แต่ยังอยู่บ้านหลังเดิม
2. ภาคธนาคารจะเผชิญแรงกดดันที่มากขึ้น แต่เงินฝากยังปลอดภัย
บัฟเฟตต์ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องในภาคธนาคาร แต่เน้นย้ำว่าผู้ฝากเงินไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับเงินฝากของตัวเองมากเกินไป ขณะเดียวกันยังระบุว่า Berkshire เก็บสภาพคล่องของตัวเองเอาไว้ในรูปของเงินสดและพันธบัตรรัฐบาล และมีการเตรียมพร้อมไว้แล้วหากมีปัญหาเกิดขึ้นกับระบบธนาคาร
บัฟเฟตต์ยังวิพากษ์วิจารณ์กรรมการและผู้บริหารของ First Republic Bank และธนาคารอื่นๆ ที่ล้มไปก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า บุคคลเหล่านี้ควรได้รับบทลงโทษจากความล้มเหลวในการบริหารความเสี่ยงของพวกเขา อย่างไรก็ตาม บัฟเฟตต์ได้ให้ความมั่นใจกับผู้ฝากเงินว่า เงินของพวกเขาจะยังปลอดภัยจากการสนับสนุนของรัฐบาลและความมุ่งมั่นของ FDIC ในการคุ้มครองผู้ฝากเงิน
นอกจากนี้ บัฟเฟตต์ยังกล่าวด้วยว่า ภาวะวิกฤตภาคธนาคารในรอบนี้ตอกย้ำความคิดของเขาว่า ประชาชนและฝ่ายนิติบัญญัติจำนวนมากในสหรัฐฯ ยังไม่มีความเข้าใจภาคการธนาคารมากพอ หรือแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับภาคธุรกิจนี้ในระยะข้างหน้าเช่นกัน
3. ดอลลาร์จะยังเป็นเงินสกุลหลักของโลก
บัฟเฟตต์ไม่เชื่อว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะสูญเสียสถานะการเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก แม้ว่าปัจจุบันจะมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสกุลเงินอื่นที่จะก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกแทนที่ดอลลาร์ได้
เจ้าของฉายา The Oracle of Omaha ยังเชื่อว่า ไม่มีใครเข้าใจปัญหาหนี้ของสหรัฐฯ ดีไปกว่า เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนปัจจุบัน เพียงแต่พาวเวลล์ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ดูแลนโยบายการคลัง เขายังกล่าวด้วยว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะเตรียมพร้อมรับมือปัญหาเพดานหนี้และผลกระทบที่จะมีขึ้นกับเงินดอลลาร์ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นการตัดสินใจทางการเมือง
ขณะที่มังเกอร์ได้เปรียบเทียบวิธีการจัดการหนี้สาธารณะระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น และชื่นชมความสามารถของญี่ปุ่นในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถเลียนแบบวิธีการของญี่ปุ่นได้ เพราะเงินเยนไม่ได้มีสถานะเป็นเงินสำรองของโลกเหมือนดอลลาร์
4. Apple มีความแตกต่างและดีกว่าธุรกิจอื่นๆ ที่ Berkshire เคยลงทุนมา
บัฟเฟตต์ได้ถูกผู้ถือหุ้นถามถึงแผนการลงทุนใน Apple ของ Berkshire โดยเขาปฏิเสธข้อมูลที่ระบุว่า ปัจจุบันหุ้น Apple มีสัดส่วนสูงถึง 35% ของพอร์ตการลงทุนของ Berkshire อย่างไรก็ดี บัฟเฟตต์ก็ได้ให้มุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับ Apple ว่า เป็นธุรกิจที่แตกต่างและดีกว่าธุรกิจอื่นๆ ที่ Berkshire เคยลงทุนมา
“Apple สามารถทำให้ผู้บริโภคยอมจ่าย 1,500 ดอลลาร์สำหรับมือถือหนึ่งเครื่องได้ โดยลูกค้าคนเดียวกันอาจซื้อรถมือสองในราคา 35,000 ดอลลาร์ เมื่อลูกค้าคนนี้ต้องเลือกว่าจะขายรถหรือ iPhone ทิ้ง เขาจะเลือกทิ้งรถมือสอง นี่คือความพิเศษของ Apple ซึ่งทำให้ผมมีความสุขที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทนี้” บัฟเฟตต์กล่าว
บัฟเฟตต์ยังยอมรับว่า เขาเคยทำผิดพลาดที่ขายหุ้น Apple บางส่วนออกไปเมื่อหลายปีก่อนด้วยเหตุทางภาษีและการบริหารจัดการสภาพคล่อง ซึ่งนั่นเป็นการตัดสินใจที่โง่เขลาของเขา
5. การกระจายความเสี่ยงที่มากเกินไปอาจนำไปสู่ผลเสีย
มังเกอร์กล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับคำสอนการลงทุนพื้นฐานที่ระบุว่า การกระจายการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอให้มีความหลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความยืดหยุ่น เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นพบสินทรัพย์ที่ดีและน่าลงทุนหลายๆ ตัวพร้อมๆ กัน
โดยเขาเชื่อว่าในบางครั้งหากนักลงทุนมองเห็นโอกาสการลงทุนที่ดีในสินทรัพย์บางอย่าง อาจเป็นการดีกว่าถ้าจะตัดสินใจลงทุนตามแนวคิดที่ดีที่สุดของตัวเอง แทนที่จะกระจายความเสี่ยงออกไปซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนแย่ลงกว่าเดิม
มังเกอร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในมุมมองของเขา การรู้ขอบเขตความสามารถของตนเองเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ และนักลงทุนไม่ควรให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องการกระจายพอร์ตการลงทุนมากเกินไป
6. มองหาโอกาสลงทุนในญี่ปุ่นเพิ่มเติม
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับแผนการลงทุนในญี่ปุ่นของ Berkshire บัฟเฟตต์กล่าวว่า เขาพอใจกับผลลัพธ์ของการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน 5 บริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ได้แก่ Mitsubishi Corp, Mitsui, Itochu Corp, Marubeni และ Sumitomo เมื่อเดือนที่ผ่านมา
“เราจะมองหาโอกาสเพิ่มเติม เรามีพันธมิตรที่ยอดเยี่ยมร่วมทำงานกับเราในญี่ปุ่น” บัฟเฟตต์กล่าว
ในเดือนที่ผ่านมา บัฟเฟตต์ได้เปิดเผยกับสื่อในญี่ปุ่นว่า เขามีแผนจะลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทการค้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น 5 แห่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อกลุ่ม ‘โซโก โชชา’ ซึ่งมีบทบาทในการนำเข้าสินค้าต่างๆ รวมถึงพลังงาน โลหะ อาหาร สิ่งทอ และให้บริการแก่ผู้ผลิตในญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Berkshire ได้เข้าถือหุ้นสัดส่วนราว 7.4% ใน ITOCHU เพิ่มขึ้นจาก 6.8% ในปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันยังถือหุ้นราว 6.6% ใน Mitsubishi Corp และ Mitsui & Co., 6.2% ใน Sumitomo Corp. และ 6.8% ใน Marubeni Corp.
7. ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นเรื่องโง่และงี่เง่า
มังเกอร์ในวัย 99 ปี ได้แสดงความเห็นถึงความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ร้อนแรงขึ้นเป็นเรื่องที่ ‘งี่เง่า งี่เง่า และงี่เง่า’ โดยเขาเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายควรตอบสนองความงี่เง่านี้ด้วยการมีไมตรีระหว่างกันแทน
“สหรัฐฯ และจีนควรจะร่วมมือกันและทำให้เกิดการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น เราต้องแข่งขันกันแต่ก็ต้องเรียนรู้ที่จะไม่ล้ำเส้นของกันและกันด้วย” มังเกอร์ระบุ
8. AI ไม่สามารถแทนที่สติปัญญาของมนุษย์ได้ทั้งหมด
เมื่อถูกถามถึงมุมมองต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ทั้งบัฟเฟตต์และมังเกอร์เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต โดยเฉพาะในด้านโรโบติก
อย่างไรก็ตาม มังเกอร์ยังเชื่อว่าความฉลาดแบบดั้งเดิมของมนุษย์ยังมีความจำเป็นและทำงานได้ดีเช่นกัน ในขณะที่บัฟเฟตต์เชื่อว่า AI จะเปลี่ยนทุกสิ่งในโลก แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเข้ามาแทนที่สติปัญญาของมนุษย์ทั้งหมด
9. เกร็ก อาเบล และ อาจิต เจน พร้อมรับไม้ต่อ
บัฟเฟตต์ในวัย 92 ปี ย้ำในการประชุมว่า เกร็ก อาเบล และ อาจิต เจน จะเป็นผู้ที่ก้าวขึ้นมาสืบทอดการบริหาร Berkshire Hathaway ต่อจากเขาและมังเกอร์ และผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญอื่นๆ จะถูกพิจารณาตามเห็นควรจากทั้งสองคนนี้
“อาเบลจะสืบทอดต่อจากผม เขาจะรับหน้าที่ดูแลงานคล้ายกับที่ผมทำอยู่ แต่ทำเก่งและทำได้ดีกว่าที่ผมเคยทำ เมื่อมีปัญหาเขาจะได้รับคำปรึกษาจากเจน แต่การตัดสินใจสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับเขา” บัฟเฟตต์กล่าว
สำหรับอาจิต เจน นั้น บัฟเฟตต์ระบุว่า เขาจะทำหน้าที่ดูแลธุรกิจประกันและให้คำปรึกษาสำคัญแก่อาเบล ซึ่งเขาเชื่อว่าคำแนะนำของเจนจะมีประโยชน์ต่อการบริหารของอาเบลมาก ส่วนคนที่จะเข้ามารับหน้าที่สำคัญในตำแหน่งอื่นๆ บัฟเฟตต์กล่าวว่ามันจะเป็นการดีกว่าที่จะยังไม่เปิดเผยชื่อเหล่านั้นออกมาในตอนนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงยังเกิดขึ้นได้เสมอ
อ้างอิง: