×

‘ไม่ใช่มโน แต่เป็นวิชาการ’ ป.ป.ช. ส่ง 8 ความเสี่ยงดิจิทัลวอลเล็ตถึงรัฐใน 2 วัน ชี้ ‘ไม่วิกฤต-ไม่ควรกู้-แจกเฉพาะกลุ่ม’

โดย THE STANDARD TEAM
07.02.2024
  • LOADING...

วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วย ฐิติวรดา เอกบงกชกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ร่วมกันแถลงข้อเสนอของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลกรณีเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 

 

นิวัติไชยกล่าวเริ่มต้นการแถลงข่าวถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ระบุถึงการที่ ป.ป.ช. สามารถเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ในการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ 

 

ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาว

 

แนะ 4 ประเด็นเสี่ยง

 

นิวัติไชยกล่าวอีกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยง ต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยผลการศึกษาพบว่า มี 4 ประเด็นความเสี่ยง ดังนี้

 

  1. ความเสี่ยงต่อการทุจริต เช่น ความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการ 

 

  1. ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ คือ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินและการคลังในอนาคต 

 

  1. ความเสี่ยงด้านกฎหมาย รัฐบาลจะต้องตระหนัก ใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส และปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ 

 

  1. เรื่องที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง

 

8 ความเห็นป้องกันดิจิทัลวอลเล็ตทุจริต 

 

นิวัติไชยกล่าวต่อว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้พิจารณาแล้วและมีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวไปยัง ครม. จำนวน 8 ข้อ คือ

 

  1. รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ และดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

 

  1. การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยและการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ‘มีความแตกต่างกัน’ โดยเสนอว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ 

 

  1. การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต

 

รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาระหว่างผลดีและผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

 

  1. ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

 

  1. ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน มีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง ดำเนินโครงการ 

 

  1. การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้นั้น ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียว โดยให้ใช้จ่ายภายใน  6 เดือน

 

  1. จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนภายใต้เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด 

 

  1. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง และที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ ไม่ใช่เงินกู้ตาม พ.ร.บ.กู้เงิน และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวดๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ 

 

ไม่ใช่จากการกู้เงินตาม พ.ร.บ.กู้เงิน จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และขัด พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 และไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว

 

ชง กกต. ฟันเข้าข่ายทุจริตหรือไม่

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ส่งความเห็นไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้พิจารณาตรวจสอบว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้หรือไม่นั้น

 

นิวัติไชยกล่าวว่า กกต. จะต้องมีการพิจารณาว่านโยบายให้ไว้อย่างหนึ่ง แต่หลังจากเข้าบริหารประเทศ ได้มีการดำเนินการตามที่ได้มีการหาเสียงไว้หรือไม่หรือมีความแตกต่างกันอย่างไร เป็นการให้คำมั่นไว้อย่างหนึ่ง และเมื่อนำมาปฏิบัติกลับทำอีกอย่างหนึ่งหรือไม่ 

 

นิวัติไชยกล่าวต่อว่า อยากให้พรรคการเมืองให้ความสำคัญต่อการหาเสียงและการดำเนินการนโยบายต้องมีการวิเคราะห์ พิจารณา รวมถึงศึกษาให้รอบคอบก่อนที่จะหาเสียงว่าสามารถทำได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนการโฆษณา ซึ่งความเห็นในส่วนนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะที่ส่งไปให้ กกต. รับไปพิจารณาต่อ เพราะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน ซึ่งหน่วยงานอิสระจะต้องประสานความร่วมมือกัน ซึ่งเราก็เสนอแนะในรูปธรรม ยังไม่ได้บอกว่าจะเกิดการทุจริต

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลต้องรับฟังความคิดเห็นของ ป.ป.ช. อย่างละเอียด 

 

นิวัติไชยกล่าวว่า ตนเองไม่สามารถเดาการพิจารณาของ ครม. ได้ อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. จบสิ้นที่การเสนอแนะ หากเกิดปัญหาต่างๆ ป.ป.ช. มีหน้าที่เฝ้าระวังตามรัฐธรรมนูญมาตรา 35 ในวันนี้เป็นเพียงการป้องกัน ไม่ใช่การดำเนินการหลังจากที่เกิดเหตุหรือเกิดความเสียหาย และมีผู้ที่กระทำความผิดแล้ว พร้อมยืนยันว่า ความเห็นของ ป.ป.ช. ไม่ใช่เรื่องมโน แต่มันเป็นความเห็นเชิงวิชาการ ไม่ใช่คิดเองเออเอง

 

ป.ป.ช. มอง เศรษฐกิจยังไม่วิกฤต

 

ส่วนมีความเสี่ยงหรือไม่ รัฐบาลเดินหน้าโครงการตามแนวทางเดิม

 

นิวัติไชยกล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคต หากดำเนินการไปแล้วสามารถอธิบายได้ สามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น และไม่มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ตอนนี้รัฐบาลมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจวิกฤตจึงต้องเดินหน้าโครงการนี้ 

 

นิวัติไชยกล่าวว่า สิ่งแรกที่เราต้องมองคือว่า ประเทศไทยตอนนี้วิกฤตหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่นักวิชาการของ ป.ป.ช. มองว่ายังไม่วิกฤต เราจึงได้เสนอมุมมองนี้ให้กับรัฐบาล แต่หากรัฐบาลมีมุมมองและข้อมูลว่าวิกฤต ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดำเนินโครงการ

 

ป.ป.ช. ไม่มีหน้าที่ระงับโครงการ 

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากมีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน มาดำเนินโครงการ ใครจะเป็นคนชี้ว่าคุ้มค่าตามกฎหมายหรือไม่ นิวัติไชยกล่าวว่า คงเป็นรัฐบาล เมื่อดำเนินโครงการแล้วก็จะต้องรับผิดชอบ แต่ในการขับเคลื่อนรัฐบาลก็ต้องมีข้อมูลพอสมควรว่าใช้ Big Data จากที่ไหน

 

นิวัติไชยยังกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ ป.ป.ช. จะติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เป็นแนวทางในการป้องกัน เพราะตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร และ ป.ป.ช. ไม่สามารถที่จะชี้ชัดได้ว่าโครงการนี้ดีหรือไม่ดี รัฐบาลควรจะยึดติดโครงการนี้หรือเดินหน้าต่อ และยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่มีหน้าที่ไประงับยับยั้ง​โครงการ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ เว้นแต่กรณีที่มีความผิดเกิดขึ้น เกิดการทุจริตไปแล้ว ป.ป.ช. สามารถขอศาลให้มีสั่งยกเลิกโครงการ 

 

เมื่อถามต่อว่า หากรัฐบาลยืนยันจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสู่สภา ป.ป.ช. สามารถตรวจสอบเชิงรุกได้เลยหรือไม่ นิวัติไชยกล่าวว่า เราก็ตรวจสอบเป็นระยะ แต่การที่กฎหมายจะผ่านสภา ก็ต้องความผ่านความเห็นจากสมาชิก ซึ่งมาจากประชาชน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะต้องผ่านทั้ง สส. และ สว. เขาอาจจะหยิบยกข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ไว้พิจารณาด้วย

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความคิดเห็นของ ป.ป.ช. ในข้อที่ 8 กังวลหรือไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเพดานให้แคบลงว่ามีประชาชนที่ได้รับสิทธิ์จำนวนน้อยลงหรือไม่ 

 

นิวัติไชยกล่าวว่า แม้จะมีมุมมองต่อกลุ่มคนที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน รัฐบาลจะยืนยันว่าจะต้องมีการเพิ่มกลุ่มคนที่สามารถขับเคลื่อนการใช้จ่าย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ แต่หากรัฐบาลยังขยายเพดานออกไป รัฐบาลก็ชี้แจงกับประชาชนอย่างมีเหตุและมีผลอีกครั้งว่าเหตุใดจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนมากกว่ากลุ่มที่มีความเปราะบาง ในส่วนนี้ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนโครงการต่อไปได้ และยืนยันว่ามีความกังวลทั้ง 8 ข้อที่เสนอ

 

ผู้สื่อข่าวจึงถามย้ำว่า ระหว่างช่องทางการกระจายเงินที่จะถึงมือประชาชนและภาระที่จะเกิดกับประเทศ ภาระด้านไหนที่มีความกังวลมากกว่ากัน นิวัติไชยกล่าวว่า “ผมกังวลว่าจะเป็นหนี้ร่วมเท่านั้นเอง”

 

ซ้ำรอยจำนำข้าวหรือไม่ ‘เป็นเรื่องของอนาคต’

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลได้ดำเนินการต่อไปโดยไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอทั้ง 8 ข้อของ ป.ป.ช. อย่างเคร่งครัด จะนำไปสู่ความเสี่ยงและซ้ำรอยเหมือนการทุจริตรับจำนำข้าวหรือไม่ 

 

นิวัติไชยกล่าวว่า ส่วนนี้ตนเองไม่สามารถตอบได้ เป็นเรื่องของอนาคต 

 

คาดหนังสือความเห็น ‘ถึงมือรัฐบาล’ ภายใน 2 วัน 

 

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การส่งหนังสือความคิดเห็นดังกล่าวจะถึงมือรัฐบาลในวันใด 

 

นิวัติไชยกล่าวว่า พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ลงนามแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของธุรการ โดยที่ตนเองคิดว่ารัฐบาลได้ทราบถึงข้อเสนอแนะแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน โดยเหลือเพียงรายละเอียดว่าข้อเสนอแนะทั้ง 8 ข้อนั้นมีที่มาและที่ไปอย่างไร ซึ่งรายละเอียดและเอกสารในการอ้างอิงรวมทั้งสิ้นประมาณ 100 หน้าที่เป็นข้อมูลสำหรับการประกอบการพิจารณา

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising