×

8 เช็กลิสต์สำหรับธุรกิจอาหารไทย ช่วยคว้าโอกาสบนความเสี่ยงวิกฤตอาหารโลก

25.06.2024
  • LOADING...

จากการศึกษาของธนาคารโลก (The World Bank) พบว่าประชากรโลกมีความเสี่ยงจะเผชิญกับวิกฤตด้านอาหาร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการอาหารที่จะเพิ่มขึ้น 50% ในปี 2050 เมื่อเทียบกับความต้องการอาหารเมื่อปี 2010 

 

ซึ่งในพื้นที่เอเชียแปซิฟิกจะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากจำนวนประชากรในภูมิภาคนี้คิดเป็นประมาณ 40-50% ของประชากรโลกในปัจจุบัน อย่างอินเดียและจีนที่มีประชากรรวมกันร่วม 3,000 ล้านคน

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านวิกฤตอาหารที่ว่านี้ ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารเช่นกัน แต่การจะคว้าโอกาสที่ว่านี้ แต่ละธุรกิจจำเป็นจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนรูปแบบของการดำเนินธุรกิจ

 

มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) มองว่า เรื่องของความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคของธุรกิจอาหาร

 

“ในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจ แต่ธุรกิจไม่สามารถที่จะทำแบบเดิมได้”​

 

มนตรีกล่าวต่อว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารไทยในอดีตที่ผ่านมาคือการเป็นเพียง Last Generation Industry หรือเป็นอุตสาหกรรมที่เคยรุ่งเรืองในยุคที่ผ่านไปแล้ว เช่น ผู้ผลิตผลไม้ที่ก้าวจากการส่งขายผลไม้ที่เก็บจากต้น มาสู่การแปรรูปโดยแกะเนื้อผลไม้และแช่แข็งเพื่อส่งออก แต่การแปรรูปอย่างง่ายอาจไม่เพียงพอ สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือการสกัดเอาคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในอาหารประเภทต่างๆ และอาจจะขายให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่อาหาร

 

เช่นกรณีของเปลือกมังคุดที่สกัดเอาสารที่ชื่อว่า แซนโทน เพื่อใช้กับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

 

เพื่อคว้าโอกาสที่ว่านี้และพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็น Next Generation Industry แต่ละธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารจำเป็นจะต้องปรับตัวหลายด้าน โดยสามารถสรุปได้เป็น 8 ข้อ ดังนี้ 

 

1. Market Demand, Industry Trend

อุตสาหกรรมอาหารในอดีตที่ผ่านมาจะเป็นลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก สิ่งสำคัญคือการก้าวไปให้ไกลกว่านั้น โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า และการสกัดเอาคุณประโยชน์อื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ในอาหารแต่ละชนิด เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

 

2. Supply Chain

ธุรกิจต้องมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบสำคัญจะมีอุปทานเพียงพอ และไม่ถูกกระทบจากปัญหาภายนอก เช่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่อาจทำให้ผลผลิตลดลงจากระดับปกติ

 

3. Food Technology, Food Innovation

เพื่อก้าวข้ามอุตสาหกรรมดั้งเดิม แต่ละธุรกิจต้องลงทุนและลงแรงในเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่สุดในโลก โดยอาจเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ของประเทศ หรือบางกรณีอาจจะใหม่สำหรับบริษัทก็เพียงพอแล้ว

 

4. Focus on Compliant to Global ESG Regulation, BCG Model Net Zero to Create Sustainability

แต่ละธุรกิจต้องศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎระเบียบต่างๆ ของบริษัทคู่ค้า เพื่อให้พร้อมในการส่งออก เมื่อประเทศคู่ค้าออกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมายของสหภาพยุโรป (EU) ในเรื่องของคาร์บอนเครดิต (CBAM)

 

5. Cost Effectiveness

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกไม่เคยเติบโตต่ำกว่า 3% แต่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตเฉลี่ย 28% เพราะฉะนั้นแต่ละธุรกิจต้องรับมือกับการชะลอตัวนี้ ซึ่งธุรกิจที่บริหารต้นทุนได้ดีกว่าจะได้เปรียบในการแข่งขัน

 

6. Consumer Sustainability

การดูแลผู้บริโภคและชุมชนให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน 

 

7. Competitive Landscape

สร้างพันธมิตรที่ดีเพื่อเปิดโอกาสในการขยายตลาด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 

 

8. Innovation Budget

การกำหนดค่าใช้จ่ายด้านนวัตกรรม ซึ่งธุรกิจในไทยมีค่าใช้จ่ายด้านนวัตกรรมโดยเฉลี่ยเพียง 1% เทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วที่ 5% 

 

มนตรีกล่าวต่อว่า โดยทั่วไปแล้วการเติบโตของธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารจะใกล้เคียงกับการเติบโตของ GDP โลก แต่สำหรับธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ จะเติบโตได้ถึง 3 เท่าของการเติบโตของ GDP

 

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมอาหารที่มนตรีเชื่อว่ามีศักยภาพจะเป็น New S-Curve ของไทย ยังมีอีก 3 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพไม่แพ้กัน ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์, อุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

“แต่ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมไหน เราไม่สามารถที่จะทำแบบเดิมได้ ต้องเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ วิธีการส่งเสริม และกำหนดทิศทางให้ชัดเจน”​

 

การปรับตัวของผู้ผลิตมันสำปะหลัง

 

ธุรกิจผลิตมันสำปะหลังของไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพด้านการผลิตสูงและภาวะการแข่งขันยังไม่รุนแรงมากนัก จากการประเมินของ SCB EIC 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่งของธุรกิจนี้คือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลัง เช่นกรณีของ บมจ.พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช (PQS) ซึ่งเมื่อปี 2566 เผชิญกับกำไรสุทธิที่ต่ำสุดในรอบหลายปี

 

รัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PQS กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับมันสำปะหลังมากเป็นอันดับ 1 ของโลก

 

“แต่ปีก่อนกำไรของบริษัทต่ำที่สุด ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งจากผลของ Climate Change ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง รวมทั้งปัญหาจากไวรัสในพืชที่แพร่กระจาย”​

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทพยายามแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนพัฒนาพันธุ์พืช หรือการสนับสนุนเกษตรกรในด้านเครื่องจักรและนวัตกรรม

 

“ในอดีตการปลูกมันสำปะหลัง 1 ไร่ จะใช้ 5-10 คนในการเก็บเกี่ยว แต่ปัจจุบันสามารถเก็บเกี่ยวได้ด้วยเพียงแค่ 1 คน หรือการพยายามเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากปัจจุบันที่การปลูก 1 ไร่ จะได้มันสำปะหลัง 3-4 ตัน แต่หากมีการเตรียมพื้นที่อย่างดี ผลผลิตอาจจะได้ 10-20 ตัน”

 

นอกจากความพยายามในการยกระดับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับ PQS คือการพยายามหาตลาดใหม่ๆ แม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะส่งออกไปยังต่างประเทศ 70% แต่ต่างประเทศที่ว่านี้คือการส่งออกไปยังจีนเกือบ 100% 

 

ทั้งนี้ รัฐวิรุฬห์กล่าวว่า เป้าหมายของ PQS ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลุดจากการเป็นแค่สินค้าโภคภัณฑ์ให้มากที่สุด โดยจะมีการดัดแปลงแป้งมันสำปะหลังให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising