×

โค้งสุดท้ายหุ้นไทย! 8 โบรกมอง SET ปิดปีนี้ สูงสุด 1,460 จุด ต่ำสุด 1,320 จุด

21.11.2020
  • LOADING...
โค้งสุดท้ายหุ้นไทย! 8 โบรกมอง SET ปิดปีนี้ สูงสุด 1,460 จุด ต่ำสุด 1,320 จุด

THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์จาก 8 บริษัทหลักทรัพย์ที่มีต่อตลาดหุ้นไทย (SET) ในช่วงโค้งสุดท้ายปี 2563 ซึ่งดัชนี SET เป้าหมายที่นักวิเคราะห์แต่ละรายให้ไว้อยู่ในกรอบ 1,320-1,460 จุด เทียบกับดัชนีปัจจุบันที่ราว 1,380-1,390 จุด

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยประเมินดัชนีโดยมองในกรณีดีสุด ซึ่งอิงจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ 16.8 เท่า และให้กำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 78.5 บาท ได้ระดับดัชนีเป้าหมายที่ 1,320 จุด ซึ่งต่ำกว่าระดับปัจจุบัน

 

โดยกลยุทธ์ยังคงแนะนำ Wait & See ในภาพรวมต่อไป ในภาวะที่สภาพคล่องไม่ได้ขยายตัวแต่อย่างใด จึงยังคงประเมินเช่นเดิมว่าดัชนีน่าจะกำลังอยู่ในช่วงท้ายของการปรับขึ้น (Final Stretch) ก่อนที่จะมีการย่อตัวลงเนื่องจากมูลค่า (Valuation) ที่อยู่ในโซนเปราะบาง คล้ายๆ กับภาพเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในช่วงปลายปี สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ‘การเมือง’ น่าจะมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากสภาไม่สามารถตอบโจทย์ขอเรียกร้องของประชาชน การชุมนุมน่าจะยืดเยื้อ และเป็นปัจจัยเข้ามารบกวนต่อเนื่อง ถัดมาคือ ‘ค่าเงินบาท’ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาหนักต่อภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ที่ต้องพึ่งพาการส่งออก แต่ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าต่อเนื่อง

 

“มาตรการเกี่ยวกับค่าเงินบาทล่าสุด มองว่าไม่ได้เป็นยาแรงเท่าใดนัก เป็นเพียงการกระตุ้นให้เงินออก แต่ไม่ได้กีดกันเงินเข้า ซึ่งในอดีตสะท้อนให้เห็นแล้วว่ามักจะไม่ได้ผล ฉะนั้นหากเงินบาทขยับถ้าเข้าใกล้ 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์อีกครั้ง อาจจะเห็นนโยบายที่เป็นยาแรงมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะกระทบ Fund Flow ได้เหมือนกัน โดย Fund Flow เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนดัชนี SET ให้ปรับขึ้นมาล่าสุดนี้”

 

ส่วนปัจจัยภายนอก ‘โควิด-19’ เป็นสิ่งที่ผู้คนเหมือนจะลืมไปชั่วขณะ แต่สัญญาณต่างๆ ยังไม่ดีขึ้นเลย ล่าสุดเริ่มเห็นหลายประเทศบังคับใช้มาตรการฉุกเฉินมากขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะได้รับผลกระทบ ส่วนประเด็น ‘การเมืองสหรัฐฯ’ จะร้อนแรงมากขึ้นต้นปีหน้า ขณะที่ ‘OPEC’ ซึ่งเดิมทีมีข้อตกลงลดกำลังการผลิตถึงสิ้นปีนี้ แต่เริ่มมีหลายประเทศไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง อาจเห็นการไม่ลงรอยกัน เป็นความเสี่ยงต่อภาวะอุปทานล้นตลาดได้ ซึ่งหุ้นพลังงานเป็นกลุ่มใหญ่ของไทย

 

“หากมองภาพปีหน้า ไตรมาส 1 ปี 2564 อาจเป็นช่วงที่ดีที่สุดในระยะสั้น จาก 5-6 ปีหลังสุด จะเห็นว่านักวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวกอย่างมากต่อประมาณการกำไร บจ. แต่เมื่อผ่านไปสักระยะจะเริ่มมองเป็นลบมากขึ้น ซึ่งปีหน้าอาจเป็นลักษณะเดียวกัน โดยประมาณการล่าสุดของ Consensus ค่อนข้างเป็นบวกมากจาก EPS ปีนี้ประเมินไว้ที่ 53.7 บาทต่อหุ้นประเมินว่าจะเติบโตถึง 46% เทียบกับเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวต่ำ จึงเป็นไปได้สูงที่ระหว่างทางจะเห็นการปรับลดประมาณการลงได้ ฉะนั้นช่วงเดือน 1-2 น่าจะเป็นเดือนที่ดีสุด กลายเป็น January Rally”

 

สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ พัฒนาการของวัคซีน ทำให้การลงทุนในหุ้นใหญ่จะค่อนข้างได้เปรียบ เพราะในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ ไทยคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากการมาของวัคซีน และกลุ่มหุ้นที่ขึ้นมาในช่วงนี้คือ กลุ่มธนาคาร ท่องเที่ยว ขนส่ง และโรงกลั่น ซึ่งก่อนหน้านี้ล้วนเป็นกลุ่มที่อ่อนแอ (Underperform) กว่าตลาด

 

“ส่วนปีหน้ามีแนวโน้มที่ตลาดหุ้นไทยจะเป็นบวกได้ต่อ หลังจากที่คิดค้นวัคซีนได้สำเร็จและมีโอกาสที่วัคซีนจะได้รับการอนุมัติในเร็วๆ นี้”

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่าดัชนี SET มีโอกาสจะไต่ระดับไปถึง 1,420-1,450 จุดได้ในปีนี้ โดยเชื่อว่าอย่างน้อยน่าจะเห็นการยืนเหนือระดับ 1,400 จุด จาก Fund Flow ที่เริ่มไหลเข้าต่อเนื่องจากแรงกระตุ้นของวัคซีน ซึ่งไทยเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์มาก โดยจะเห็นหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว พลังงาน ขยับขึ้นมาก่อน ล่าสุดเป็นกลุ่มธนาคารที่ปรับขึ้นตามมา

 

“การที่หุ้นกลุ่มใหญ่ขยับขึ้น จะช่วยดันดัชนีได้เร็ว ซึ่งเราอาจจะเห็นการปรับประมาณการกำไรปีหน้าตามมาได้ ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามแบ่งเป็น 3 เรื่อง ส่วนแรกคือพัฒนาการของวัคซีน ทำให้หุ้นเอเชียจะตอบรับเชิงบวก สองคือการเมืองในประเทศ หากยังทรงๆ เชื่อว่าจะไม่กดดันนัก และสามคือความร่วมมือ RCEP ที่จะหนุนเศรษฐกิจของเอเชีย”

 

ส่วนภาพปี 2564 มองในโทนบวก จากฐานที่ค่อนข้างต่ำในปีนี้ ทั้งกำไรบริษัทจดทะเบียนและ GDP ทำให้น่าจะเห็นการเติบโตแบบ YoY ในทุกไตรมาส รวมถึงเงินบาทแข็งค่าจะดึงดูดให้เม็ดเงินไหลเข้าลงทุนมากขึ้น

 

ณรงค์เดช จันทรไพศาล นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บล.ไอร่า มองว่า ดัชนี SET มีโอกาสขยับขึ้นไปทดสอบ 1,460 จุด โดยปัจจัยบวกสำคัญคือการที่ โจ ไบเดน ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีมากขึ้น ทำให้ภาพเศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวได้และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งจะช่วยดึง Fund Flow ไหลเข้าหุ้นไทยต่อได้

 

ส่วนปัจจัยลบคือการเมืองในประเทศ แต่ไม่ได้มองเป็นปัจจัยลบมากนัก เป็นเพียงปัจจัยที่เข้ามาจำกัดอัพไซด์มากกว่า ส่วนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 หากทำได้ช้าก็อาจจะกดดันได้ในระยะถัดไป

 

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน มองเป้าหมายดัชนีสิ้นปีที่ 1,370 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากที่ Fund Flow เริ่มไหลเข้า หากเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวดี Fund Flow ก็มีแนวโน้มไหลเข้าต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐจะเป็นตัวกระตุ้น

 

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ปัจจุบันดัชนี SET เกินเป้าหมายที่มองไว้ที่ระดับ 1,350 จุด ไปแล้ว แต่หากมองต่อไปปีหน้ายังมีมุมมองเชิงบวก จากแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือ สภาพคล่องที่ค่อนข้างสูง เมื่อความเสี่ยงในระบบลดลงเม็ดเงินที่กระจุกอยู่ในเงินฝาก ซึ่งมีขนาดกว่า 15 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า GDP ไทย ก็ควรจะไหลเข้าหาสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสูงขึ้น

 

ส่วนที่สองคือ เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศที่น่าจะเห็นการไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นมาบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมานี้ ขณะเดียวกันในเชิงปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) จะเห็นการฟื้นตัว ทั้งส่วนของ GDP ที่ประเมินว่าน่าจะเพิ่มขึ้น 4.1% ส่วนกำไรของบริษัทจดทะเบียนน่าจะโตได้ราว 42%

 

“ประมาณการกำไรบจ.ที่ 42% ค่อนข้างจะเป็นกลางจากฐานกำไรในปี 2563 ที่ถูกกดลงมาต่ำมาก หากมองเป็นตัวเงินจะเห็นว่าการเติบโต 42% คิดเป็นประมาณ 7.3 แสนล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าระดับปกติในปี 2562 ที่เคยทำได้ 9.5 แสนล้านบาท”

 

 

สรุปปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามช่วงการลงทุนโค้งสุดท้าย

ปัจจัยภายใน

  • การชุมนุมทางการเมือง (-)
  • เงินบาทแข็งค่าและมาตรการควบคุม (/ +)
  • สภาพคล่องในระบบเงินฝาก (+)
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ (+)

 

ปัจจัยภายนอก

  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ()
  • พัฒนาการของวัคซีนป้องกันโควิด-19 (+)
  • Fund Flow จะยังไหลเข้าไทยต่อหรือไม่ (+)
  • นโยบายของ โจ ไบเดน หนุนการค้าเสรี (+)
  • ความร่วมมือ RCEP หนุนเศรษฐกิจเอเชีย (+)

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising