วันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคมนั้นเป็นวัน ‘National Ice Cream Day’ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้คนมักจะเฉลิมฉลองด้วยการกินไอศกรีม ห้างร้านต่างๆ ก็จะร่วมกิจกรรมวันนี้ด้วยการแจกไอศกรีมฟรี ส่งต่อความสุขให้กับทุกคนที่รักไอศกรีม ในโอกาสพิเศษนี้เราจึงอยากชวนคุณเปิดประตูไปท่องโลกแห่งไอศกรีมว่ามีแบบใดบ้าง พร้อมแจกพิกัดร้านไอศกรีมน่าลองให้ด้วย ถ้าพร้อมแล้วก็ตามมาได้เลย
- ไอศกรีม (Ice Cream)
เริ่มที่ ‘ไอศกรีม’ แบบธรรมดาที่เกิดจากนมและผสานความหวานด้วยสารให้ความหวานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครีม น้ำตาล ไข่ บ้างก็มีการผสมรสชาติแปลกใหม่ลงไป ทำให้ไอศกรีมเป็นของหวานที่สามารถกินได้ทุกวันไม่มีเบื่อ แม้ไอศกรีมจะมีต้นกำเนิดที่ไม่แน่ชัดนัก แต่การทำไอศกรีมอย่างจริงจังนั้นเกิดขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยีการแช่แข็งที่ดีกว่าการใช้หิมะหรือน้ำแข็งแบบโบราณในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไอศกรีมจึงเป็นของหวานที่กินกันอย่างแพร่หลาย และหลังจากนั้นก็มีการคิดค้นไอศกรีมในรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘ไอศกรีมซันเด’ ที่มีการเพิ่มสิ่งที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของไอศกรีมซันเดอย่างวิปครีม ซอสช็อกโกแลต ไซรัปผลไม้ และเชอร์รีเชื่อมลูกโตลงไปด้านบน ‘โฟลต’ การกินไอศกรีมคู่กับน้ำอัดลมรสชาติซาบซ่า หรือไอศกรีมแปลกๆ อย่าง ‘Spaghettieis’ ขนมหวานยอดฮิตของชาวเยอรมันที่นำไอศกรีมวานิลลามาทำเป็นรูปแบบเส้นคล้ายกับสปาเกตตี เสิร์ฟพร้อมไซรัปสตรอว์เบอร์รีสีแดงดูคล้ายกับซอสมะเขือเทศ ‘Plombières’ ไอศกรีมที่ปรากฏทั้งในฝรั่งเศสและรัสเซียที่มีการผสมไข่แดงลงไปในไอศกรีม ทำให้มีรสชาติคล้ายคัสตาร์ด และยังมีไอศกรีมอีกมากมายที่มีรากฐานมาจากไอศกรีมธรรมดาเหล่านี้
ร้านไอศกรีมที่น่าสนใจและเราอยากให้คุณได้ลองคือ Peyton Brown’s ร้านไอศกรีมโฮมเมดที่ใช้รสชาติวัตถุดิบเป็นตัวชูโรง อัดแน่นไปด้วยคุณภาพและความใส่ใจ รสชาติต่างๆ ออกแบบมาแทบไม่ซ้ำในแต่ละสัปดาห์ อ่านรีวิวฉบับเต็มได้ที่ https://thestandard.co/peyton-browns-icecream/
- ซอฟต์เสิร์ฟ (Soft Serve)
ไอศกรีม ‘ซอฟต์เสิร์ฟ’ หรือบางที่เรียกกันว่า ‘ซอฟต์ครีม’ ที่จริงแล้วเป็นไอศกรีมที่แตกสูตรมาจากไอศกรีมดั้งเดิม แต่มีกรรมวิธีการทำที่ต่างออกไปเล็กน้อยด้วยอุณหภูมิที่ใช้นั้นสูงกว่า เพื่อที่จะทำให้ไอศกรีมมีรสสัมผัสที่เหนียวนุ่ม ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟนั้นโด่งดังมากในประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าคุณจะไปเที่ยวที่เมืองไหน คุณจะต้องเห็นโมเดลรูปไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟวางไว้ริมถนนอย่างแน่นอน นั่นเป็นสัญลักษณ์ที่จะบอกคุณว่า ‘ที่นี่มีไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟขาย’ ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟที่ญี่ปุ่นนั้นมีมากมายหลายรสชาติ ทั้งรสดั้งเดิมอย่างนม วานิลลา ช็อกโกแลต ชาเขียว ยังมีรสชาติแปลกใหม่จากของดีประจำจังหวัดทั้งรสเมลอน ลาเวนเดอร์ ซากุระ มันหวาน แต่ถ้าจังหวัดไหนมีของดีเป็นของคาว ชาวญี่ปุ่นก็ไม่หยุดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นรสอุด้งจากจังหวัดคางาวะ หรือรสกุ้งจากจังหวัดนิงาตะ
ซอฟต์ครีมที่คุณต้องลองชิมสักครั้งในชีวิต! Hokkaido Softkream ที่มีซอฟต์เสิร์ฟสัญชาติญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง ‘Cremia’ ให้คุณได้ลิ้มลอง ความพิเศษของ Cremia นั้นคือเป็นพรีเมียมซอฟต์เสิร์ฟที่ใช้ครีมสดกว่า 25% และนมสดอีก 12.5% เสิร์ฟในโคน Langue de Chat หรือคุกกี้ลิ้นแมวของฝรั่งเศสที่มีรสชาติหวาน หอม นุ่ม เป็นเอกลักษณ์
ภาพ: ชินกฤต เชื้ออินต๊ะ
- โฟรเซนโยเกิร์ต (Frozen Yogurt)
‘โฟรเซนโยเกิร์ต’ ไอศกรีมที่เป็นดั่งพี่น้องของไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ เพราะรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกัน แต่แตกต่างกันตรงที่โฟรเซนโยเกิร์ตจะใช้โยเกิร์ตไขมันต่ำเป็นส่วนประกอบ ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบในไอศกรีม แต่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพและหุ่นมีทางเลือกมากขึ้น โฟรเซนโยเกิร์ตนิยมกินกับท็อปปิ้งผลไม้ หรือบางครั้งก็ปั่นผลไม้รวมกันไปในกรรมวิธีการผลิตเพื่อให้ได้โฟรเซนโยเกิร์ตรสใหม่ๆ
ร้านโฟรเซนโยเกิร์ตที่เราอยากแนะนำนี้อาจจะอยู่ไกลสักนิด เพราะอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ Frosé Yogurt Café นั้นควรค่าแก่การไปลอง เพราะมีโฟรเซนโยเกิร์ตหลากหลายรสชาติ ทั้งรสเพลนโยเกิร์ต มะม่วง เมลอน บลูเบอร์รี และลิ้นจี่ และท็อปปิ้งให้เลือกอีกกว่า 50 ชนิด ทำให้คุณสามารถออกแบบเมนูได้เอง เมื่อสร้างสรรค์เมนูเสร็จก็จ่ายเงินโดยคิดราคาตามน้ำหนักได้เลย อ่านรีวิวฉบับเต็มได้ที่ https://thestandard.co/frose-yogurt-cafe/
- ไอศกรีมซอร์เบต์ (Sorbet) และไอศกรีมเชอร์เบต (Sherbet)
ไอศกรีม ‘ซอร์เบต์’ หนึ่งทางเลือกของคนแพ้แลคโตส เพราะเป็นไอศกรีมที่มีส่วนผสมหลักเป็นผลไม้และน้ำตาล นำไปแช่แข็งจนกลายเป็นเกล็ด ไอศกรีมซอร์เบต์ที่แท้จริงจะมีเนื้อคล้ายกับเกล็ดน้ำแข็ง ได้รสชาติของผลไม้แบบเข้มข้น ส่วนไอศกรีม ‘เชอร์เบต’ นั้น แม้จะชื่อคล้ายกันแต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อยตรงที่ไอศกรีมเชอร์เบตจะมีส่วนผสมของนมหรือสารอื่นๆ ที่ทำให้ไอศกรีมมีเนื้อเนียนนุ่มอยู่บ้าง
หากคุณอยากลองไอศกรีมซอร์เบต์แบบแท้ๆ เราก็แนะนำให้ไปลองที่ Veganerie Soul ร้านอาหารวีแกนที่มีเมนูของหวานเป็นไอศกรีมซอร์เบต์เบอร์รีรสชาติเปรี้ยวหวานลงตัว เสิร์ฟในรูปแบบไอศกรีมซันเดที่ล้นไปด้วยท็อปปิ้งผลไม้และกราโนลามากมายหลายชนิด
ภาพ: ตินกานต์
- เจลาโต (Gelato)
‘เจลาโต’ ไอศกรีมสัญชาติอิตาเลียน เป็นของหวานดับร้อนที่มีประวัติยาวนาน ในอิตาลีมีร้านเจลาโตอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนน ไอศกรีมเจลาโตนี้มีความพิเศษตรงที่มีความแน่นหนึบกว่าไอศกรีมทั่วไป ใช้กรรมวิธีการปั่นที่ทำให้อากาศแทรกอยู่ในเนื้อน้อย และใช้ปริมาณนมน้อยกว่า ทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้นกว่าไอศกรีมปกติ และมีปริมาณไขมันน้อยกว่า การทำไอศกรีมเจลาโตนี้ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งสำหรับชาวอิตาเลียนเลยทีเดียว ยามอยู่ในตู้แช่เย็น เจลาโตจะดูมีเนื้อเนียน หนืด และถูกประดับตกแต่งด้วยผลไม้หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการทำเจลาโตรสนั้นๆ ส่วนการตักเจลาโตนั้นจะแตกต่างออกไปจากไอศกรีมทั่วไปอยู่นิดหน่อย เพราะปกติแล้วไอศกรีมทั่วไปมักจะตักขึ้นมาเป็นทรงกลม แต่เจลาโตนั้นจะต้องใช้ที่ตักที่เรียกว่าสปาทูลา ปาดแล้วป้ายลงในถ้วยหรือโคนไอศกรีมจนเต็ม แต่ข้อเสียของเจลาโตคือเป็นไอศกรีมที่ละลายง่าย ถ้าซื้อมาสักหนึ่งถ้วย คุณควรรีบกินก่อนที่มันจะละลายเป็นน้ำจนหมด
ถ้าคุณกำลังมองหาร้านเจลาโต เราอยากแนะนำ Grazia Gelato & Coffee ร้านไอศกรีมเจลาโตที่ทำจากวัตถุดิบสดและด้วยกรรมวิธีโฮมเมดหมุนเวียนรสชาติกันไป มีรสซิกเนเจอร์ในชื่อ Grazia ที่มีส่วนผสมของอะโวคาโดและนมอัลมอนด์ อีกทั้งรสช็อกโกแลต เสาวรส กรีกโยเกิร์ต บราวนี เอิร์ลเกรย์ ชาไทย มัตฉะ คาราเมล ฯลฯ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มีในแต่ละวัน อ่านรีวิวฉบับเต็มได้ที่ https://thestandard.co/grazia-gelato-coffee/
- ดอนดูร์มา (Dondurma)
หลายคนน่าจะเคยเห็นคลิปวิดีโอที่มีชาวตุรกีถือไม้พายและควงไอศกรีมเนื้อหนืดยืดได้ไปมา ในขณะที่ลูกค้ายืนถือโคนไอศกรีมรออยู่หน้าร้าน แต่ด้วยลีลาและความขี้เล่นของคนขาย ทำให้ลูกค้าไม่ได้ไอศกรีมมาลิ้มรสสักที คุณน่าจะสงสัยว่าเหตุการณ์นี้คืออะไรกัน ไอศกรีมเนื้อหนืดที่เกาะอยู่บนปลายไม้พายนี้เรียกว่า ‘ดอนดูร์มา’ ของหวานดับร้อนที่มีเอกลักษณ์เป็นความเหนียวหนืดจาก ‘ซาเลป’ หรือผงกล้วยไม้ป่า และ ‘แมสติก’ ยางไม้ที่สามารถกินได้ที่หาได้ง่ายในประเทศตุรกี เมื่อไอศกรีมมีความหนืดและหนัก การตักไอศกรีมจึงจำเป็นต้องใช้ไม้พายที่แข็งแรงและคนตักไอศกรีมที่ชำนาญการ สิ่งที่อยู่คู่กับดอนดูร์มาอยู่เสมอคือคนตักไอศกรีมที่มีความขี้เล่น ควงดาบไปมา หลอกล่อหยอกเย้าไม่ให้เราได้ไอศกรีมไปเสียที จึงเป็นที่มาของคลิปวิดีโอตลกๆ ที่ผู้คนชอบใจกัน
แม้ร้านดอนดูร์มาจะหายาก หากินได้เฉพาะช่วงเทศกาลของหวาน แต่ก็ยังมีร้านแบบที่คุณสามารถเข้าไปกินได้ทั้งปีหลงเหลืออยู่ร้านหนึ่งคือ Irem Turkish Ice Cream ที่ Asiatique The Riverfront คุณจะได้เห็นลีลาการควงไม้พายไอศกรีมเหมือนกับต้นตำรับที่ประเทศตุรกีอย่างแน่นอน
ภาพ: นวลตา วงศ์เจริญ
- คุลฟี (Kulfi)
ไอศกรีมแบบอินเดียที่นำนมสดที่ผ่านการเคี่ยวจนข้นมาแช่แข็งจนกลายเป็นไอศกรีม ขนมหวานดับร้อน เมนูของหวานเย็นชื่นใจนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมกุล และเป็นขนมของชนชั้นสูงเท่านั้น เนื่องจากต้องใช้น้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัยที่เป็นของหายาก แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการทำอาหารที่ทำให้การทำคุลฟีเป็นเรื่องง่ายขึ้น คุลฟีจึงเป็นของหวานที่สามารถหากินได้ทั่วไปและเป็นที่นิยมทั่วประเทศอินเดีย
ถ้าคุณอยากลองกินไอศกรีมอินเดียรสชาติเข้มข้นดูสักครั้ง คุลฟีของร้านอาหารอินเดีย JHOL ก็น่าลองอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะมาในรสชาติมะม่วงสุก เสิร์ฟพร้อมโฟมมะกรูดและไวต์ช็อกโกแลต หอมหวานชื่นใจ อ่านรีวิวฉบับเต็มได้ที่ https://thestandard.co/jhol-modern-indian-restaurant/
ภาพ: Shutterstock, ชินกฤต เชื้ออินต๊ะ, ติณกานต์, นวลตา วงศ์เจริญ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: