×

โอกาสมาถึงแล้ว! เปิด 6 อุตสาหกรรมที่สิงคโปร์กำลังขาดแคลนแรงงาน ขณะที่รัฐบาลเตรียมเพิ่มสิทธิพิเศษวีซ่าใหม่ หวังดูดคนเก่ง

11.04.2023
  • LOADING...
สิงคโปร์ ขาดแรงงาน

รัฐบาลสิงคโปร์เล็งให้วีซ่าต่างชาติที่กำลังขาดแคลน 6 อุตสาหกรรม 27 อาชีพ จูงใจคนเก่งเข้ามาทำงานบริษัทชั้นนำของโลก ตั้งแต่วิศวกร AI, ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์, นักวิทยาศาสตร์อาหารทางเลือก ไปจนถึงนักเดินเรือ คาดมีผลเดือนกันยายนนี้

 

ไม่น่าเชื่อว่าประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ ที่มีประชากรเพียง 5.64 ล้านคน จะเติบโตอย่างรวดเร็ว จนสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล แถมยังเป็นดินแดนแห่งการเงิน เทคโนโลยีที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกเข้าไปลงทุนต่อเนื่อง โดยเบื้องหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้มีแรงงานต่างชาติคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งเกาะ 

 

ในแรงงานต่างชาติจำนวนนี้มีกลุ่มที่ได้วีซ่าประเภท Employment Pass (EP) ซึ่งเป็นวีซ่าของชาวต่างชาติที่ทำงานในระดับผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือทำงานอาชีพพิเศษต่างๆ ประมาณ 187,300 คน หรือ 13% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสิงคโปร์กำลังขาดแคลนแรงงานหลังเจอวิกฤตโควิด ทำให้สิงคโปร์จำเป็นต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมา โดยกลยุทธ์ล่าสุดคือการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือวีซ่า เพื่อดึงดูดคนเก่งๆ หรือแรงงานทักษะขั้นสูงจากทุกมุมโลกให้เข้ามาทำงานให้เร็วที่สุด

 

สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า รัฐบาลสิงคโปร์เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับระบบวีซ่าต่างชาติใหม่ เพื่อดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการปรับปรุงวีซ่าของประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

 

เบื้องต้นอาชีพที่สิงคโปร์กำลังขาดแคลนและต้องการมีตั้งแต่วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (AI), ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์โปรตีนทางเลือก รวม 27 อาชีพ โดยที่ผู้สมัครเข้ามาจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก และเพื่อเร่งรัดกระตุ้นเศรษฐกิจหลังผ่านพ้นวิกฤตการระบาดของโควิด

 

ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นต้นไป สิงคโปร์จะใช้ระบบวีซ่าต่างชาติใหม่ที่เรียกว่า COMPASS (Complementarity Assessment Framework) ซึ่งจะเน้นการประเมินกลุ่มแรงงาน EP เป็นหลัก โดยผู้สมัครวีซ่าประเภท EP ทั้งหมดจะต้องผ่านการประเมิน 4 หัวข้อ ได้แก่ เงินเดือน คุณสมบัติ ความหลากหลายภายในบริษัทผู้ว่าจ้าง และอัตราส่วนของชาวสิงคโปร์ที่อยู่ในบริษัทนั้นๆ ด้วย โดยการประเมินแต่ละหัวข้อจะให้คะแนนเป็น 3 ระดับ คือ 0 คะแนน, 10 คะแนน และ 20 คะแนน โดยในระบบใหม่ผู้สมัครจะต้องได้คะแนนครบ 40 คะแนน

 

เปิด 6 อุตสาหกรรมและอาชีพที่สิงคโปร์ต้องการ

 

นอกจากนี้ภายในรายละเอียดของคุณสมบัตินั้นประเมินจากอาชีพที่ขาดแคลน ซึ่งมี 6 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย

 

  1. อุตสาหกรรมเกษตร (นักวิทยาศาสตร์ประยุกต์อาหารโปรตีนทางเลือก) 
  2. อุตสาหกรรมการเงิน (ที่ปรึกษาด้านการลงทุนให้กับผู้มีความมั่งคั่งสูง, ที่ปรึกษา Family Office หรือสำนักงานครอบครัวเพื่อดูแลทรัพย์สินตระกูล, ที่ปรึกษาด้านการกุศล จากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมทั้งจีน
  3. อุตสาหกรรมสีเขียว (ผู้จัดการโครงการคาร์บอนเครดิต, เทรดเดอร์คาร์บอนเครดิต)
  4. อุตสาหกรรมสุขภาพ (นักจิตวิทยาคลินิก, นักรังสี, นักกายภาพบำบัด, พยาบาลวิชาชีพ)
  5. อุตสาหกรรมเทคโนโลยี (วิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์​ (AI), ผู้เชี่ยวชาญด้านคลาวด์, ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงทางไซเบอร์, นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, นักพัฒนาซอฟต์แวร์)
  6. อุตสาหกรรมเดินเรือ คือกัปตันเดินเรือ ซึ่งอาชีพนี้จะได้รับคะแนนโบนัสมากถึง 20 คะแนน 

 

“อาชีพข้างต้นเป็นอาชีพที่ขาดแคลน มีแรงงานไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ดังนั้นบริษัทต่างๆ จะต้องเข้าถึงผู้ที่มีทักษะเพื่อเติมเต็มงานเหล่านี้ด้วย และแรงงานต่างชาติจำเป็นต้องมีทักษะและความสามารถ เนื่องจากขณะนี้ตลาดแรงงานทักษะเหล่านี้มีการแข่งขันสูง” รัฐบาลสิงคโปร์กล่าว

 

ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และระบบคลาวด์ เป็นที่ต้องการด่วน

 

นอกจากนี้รัฐบาลยังเผยอีกว่า ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ซึ่งมีเกือบครึ่งหนึ่งของอาชีพที่ขาดแคลนดังกล่าว โดยมีทั้ง AI และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคลาวด์และความปลอดภัยทางไซเบอร์ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นอาชีพที่รัฐบาลต้องการด่วน เนื่องจากปัจจุบันอาชีพนี้ก็ยังเผชิญกับวิกฤตขาดแคลน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่มีประสบการณ์ในด้าน ICT จะมีสิทธิ์ได้รับบัตรผ่านนานถึง 5 ปีหากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์

 

ขณะเดียวกันในภาคบริการทางการเงินเอง รัฐบาลก็กำลังมองหาที่ปรึกษาการลงทุนสำหรับบุคคลที่มีรายได้สุทธิสูง หรือบุคคลที่ร่ำรวยและมีเงินทุนจำนวนมากขึ้นจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมทั้งจีน

 

ส่วนความสามารถด้าน AgriTech ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์การประยุกต์ใช้อาหารโปรตีนทางเลือก ซึ่งส่วนนี้จะสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการที่สิงคโปร์ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของเอเชีย

 

ทั้งนี้ ผู้ที่มีรายชื่อจะได้รับการตรวจสอบทุกๆ 3 ปี แต่สามารถทำได้ทุกปีหากมีความจำเป็น เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความยืดหยุ่นและความมั่นคงสำหรับธุรกิจ

 

นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลหวังผลทางเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย

 

นักวิเคราะห์ลีโอนาร์โด เฟรทาส ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษา Hayman-Woodward Global Mobility กล่าวว่า กรอบการทำงานใหม่นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากระบบเดิม เนื่องจากเปลี่ยนจุดเน้นจากคุณสมบัติของบุคคลไปสู่การสนับสนุนของบริษัทต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย

 

โดยรัฐบาลระบุว่า ระบบใหม่นี้จะช่วยรับประกันตลาดแรงงานหลักที่แข็งแกร่งและเพิ่มความหลากหลายของแรงงาน ตัวอย่างเช่น ในเกณฑ์ความหลากหลาย นายจ้างต้องแน่ใจว่าสถานที่ทำงานของตัวเองมีภูมิหลังที่หลากหลายและแรงงานชาวสิงคโปร์จำนวนมากรวมอยู่ด้วยจึงจะได้คะแนนสูง โดยนอกเหนือจาก 27 อาชีพในรายการขาดแคลนแล้ว คะแนนโบนัสจะมีผลต่อบริษัทต่างๆ ที่มีส่วนในการร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลผ่านการลงทุนและนวัตกรรม ซึ่งจะสร้างงานที่ดีให้กับคนในท้องถิ่นมากขึ้นตามมาด้วย 

 

ที่ปรึกษาแนะ เอกชนเฟ้นหาแรงงานต่างชาติรอบคอบ 

 

ด้าน ซัลดิป บันดัล หุ้นส่วนบริการนายจ้างระดับโลกของบริษัทบริการมืออาชีพ Deloitte Singapore กล่าวว่า บริษัทต่างๆ ควรพิจารณาผู้สมัครต่างชาติแต่ละคนอย่างรอบคอบก่อนที่จะเสนอตำแหน่งให้พวกเขา แนะนำให้บริษัทต่างๆ ประเมินโปรไฟล์พนักงานของตนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถปฏิบัติตามเกณฑ์พื้นฐานได้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2020 สิงคโปร์เคยเปิดตัววีซ่า Talent ด้านเทคโนโลยีเข้าประเทศ เพื่อมุ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Tech.Pass Program สำหรับนักลงทุน โดยมีอายุเพียงแค่ 2 ปี เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการก่อตั้งและพัฒนาบริษัทเทคโนโลยีในประเทศสิงคโปร์ มุ่งสู่ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีในภูมิภาค และปัจจุบันสิงคโปร์ยังพร้อมเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของเอเชีย เห็นได้จากการเปิดรับนักวิทยาศาสตร์อาหารโปรตีน

 

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ดูเหมือนว่าสิงคโปร์กำลังปรับสมดุลระหว่างการลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ และจ้างงานคนในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นไปพร้อมกันด้วย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X