ผลงานวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่าหนึ่งในสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พนักงานมีฝีมือดีตัดใจลาออกจากบริษัทแม้ว่าจะมีผลตอบแทนมากมายเพียงใด ก็คือวัฒนธรรมองค์กรและที่ทำงานเป็นพิษ หรือ Toxic Culture/Toxic Workplace ซึ่งรายงานการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยี MIT ระบุว่า สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ ทำให้พนักงานทำงานอย่างไม่มีความสุขจนยอมตัดใจจากงานที่ทำอยู่
ทั้งนี้ MIT Sloan Management Review ระบุชัดว่า วัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษทำให้คนลาออกมากกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับค่าแรงรายได้ที่บริษัทจ่ายให้ ขณะเดียวกันทีมนักวิจัยชุดเดียวกันนี้ก็ได้เดินหน้าศึกษาแบบเจาะลึกต่อไปว่า ลักษณะหรือหน้าตาของวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษเป็นอย่างไร
ทางทีมวิจัยได้วิเคราะห์คำตอบของพนักงานจำนวน 1.4 ล้านคน จากเกือบ 600 บริษัทชั้นนำทั่วสหรัฐฯ ก่อนพบว่าพนักงานได้ให้นิยามที่ทำงานเป็นพิษไว้ 5 รูปแบบด้วยกัน คือ แบ่งแยกเลือกปฏิบัติ, ไม่เคารพให้เกียรติ, ปราศจากจรรยาบรรณ, โหดเหี้ยม ไร้ความปรานี และทารุณกรรมทำร้ายร่างกาย
ชาร์ลี ซูล นักวิจัยที่ทำการศึกษาในครั้งนี้กล่าวว่า พนักงานลูกจ้างต่างมีความเห็นเกี่ยวกับด้านมืดขององค์กรที่ทำงานอยู่แตกต่างกันออกไป กระนั้นความเห็นส่วนใหญ่ก็ไม่ส่งผลกระทบทางอารมณ์และผลการประเมินภาพรวมขององค์กรแต่อย่างใด ดังนั้นปัจจัยปัญหาที่คัดออกมานี้เป็นสิ่งที่ทีมวิจัยพิจารณาแล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่ทั้ง 5 ลักษณะของสถานที่ทำงานเป็นพิษเหล่านี้ จะทำให้บริษัทต้องเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากพนักงานมือดีลาออก
สำหรับในส่วนของการวิเคราะห์ ทางทีมนักวิจัยได้เน้นไปที่หัวข้อซ้ำๆ ในการแสดงความเห็นของบรรดาพนักงาน ซึ่งสัมพันธ์กับคะแนนเชิงลบด้านวัฒนธรรมของบริษัทและอัตราการออกจากงานในระดับสูง ตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2021
ซูลกล่าวว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นไม่ได้แค่สร้างความรำคาญให้กับพนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวจุดชนวนให้พนักงานเกิดปฏิกิริยาและอารมณ์ทางลบที่จะส่งผลให้พนักงานรู้สึกวิตกจริต โดยที่บางรายกลายเป็นคนหวาดกลัวที่ทำงานไปเลยก็มี
1. สำหรับนิยามที่ทำงานเป็นพิษนิยามแรก ก็คือ Non-inclusive หรือการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติ
กล่าวคือ เป็นสถานที่ทำงานที่ทำให้คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างเพศ ต่างรสนิยม ต่างวัย หรือมีความบกพร่องทางด้านร่างกาย รู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม หรือรู้สึกถูกแบ่งแยกกีดกันออกจากงานหรือการตัดสินใจ
2. ในส่วนของสถานที่ทำงานเป็นพิษแบบที่ 2 ก็คือ การไม่เคารพให้เกียรติ (Disrespectful)
ซึ่งหมายรวมถึงการขาดการพิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนรอบคอบ ขาดมารยาท และขาดการให้เกียรติผู้อื่นตามความเหมาะสม โดยงานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า การขาดความเคารพเป็นปัจจัยทำนายที่แข็งแกร่งที่สุดประการหนึ่ง ที่บอกใบ้ได้ว่าพนักงานในภาพรวมจัดอันดับวัฒนธรรมองค์กรไว้อย่างไร
3. Unethical Behavior หรือพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณ
ก็คือการไม่ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมที่เหมาะสมกับพนักงาน ซึ่งหมายรวมถึงองค์กรที่ไม่ซื่อสัตย์หรือขาดการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยและความสะอาดถูกหลักอาชีวอนามัยเพื่อคอยปกป้องความปลอดภัยของพนักงาน
4. ขาดความเมตตาปรานี เพื่อนร่วมงานคิดแต่จะแข่งขันหรือพร้อมแทงข้างหลังเสมอ
สถานที่ทำงานที่ขาดความเมตตาปรานี เพื่อนร่วมงานคิดแต่จะแข่งขันหรือพร้อมแทงข้างหลังเสมอ ย่อมเป็นสถานที่ทำงานที่ใครเข้าไปทำงานย่อมไม่มีความสุข โดยจากการสำรวจความเห็นของพนักงานพบว่า ต่อให้ทำงานไม่เข้าขากัน หรือไม่ประสานกันได้ดีสักเท่าไร ก็ไม่มีผลต่อความรู้สึกเท่ากับเพื่อนร่วมงานที่คิดจะแทงข้างหลังตนเอง
5. การจัดการที่ลำเอียง เมินเฉยต่อการกลั่นแกล้ง การล่วงละเมิด และความเกลียดชัง
โดยรายงานของ Glassdoor พบว่า เกือบ 1 ใน 3 ของพนักงานยอมรับว่า ลาออกเพราะรู้สึกว่าผู้จัดการลำเอียง หรือถูกบุคคลในระดับบริหารจัดการล่วงละเมิด
ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า สถานที่ทำงานเป็นพิษเป็นปัญหาที่สามารถสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เพราะเมื่อผู้คนลาออกเนื่องจากวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ ย่อมเป็นภาระหนักต่อฝ่ายทรัพยากรบุคคลในการจัดสรรจัดหาพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน ทั้งยังต้องเสียเวลาฝึกอบรม ปรับตัว ถือเป็นต้นทุนทางธุรกิจรูปแบบหนึ่ง
นอกจากนี้บริษัทยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะพนักงานที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษจะมีระดับความเครียด ความเหนื่อยหน่าย ปัญหาสุขภาพจิตและความเครียดอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่สุขภาพร่างกายที่ไม่ดี
โดยข้อมูลจากสมาคมบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ หรือ The Society for Human Resource Management ประเมินว่า พนักงาน 1 ใน 5 ลาออกจากงาน เนื่องจากวัฒนธรรมที่เป็นพิษ ซึ่งทำให้ธุรกิจต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีก่อนการลาออกครั้งใหญ่
ด้านข้อมูลของ Gallup พบว่า การที่พนักงานลาออกและหางานทำหมายถึงประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรที่จะลดลงไป และการแทนที่พนักงานอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 2 เท่าของเงินเดือนประจำปีของพนักงาน
ทั้งนี้ นักวิจัยของสถาบัน MIT กล่าวว่า ด้วยโลกธุรกิจในปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปที่การรักษาพนักงานและการจ้างงานให้มากที่สุด ดังนั้นองค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งและสร้างแบบจำลองของวัฒนธรรมที่สนับสนุนและครอบคลุมเท่าเทียมคนทุกกลุ่ม ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิดที่ได้เปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานของคนยุคใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง
ยิ่งไปกว่านั้น ทีมวิจัยยังแนะนำให้บรรดาผู้นำธุรกิจทั้งหลายให้ความสำคัญกับคนกลุ่มน้อยของบริษัทด้วย เพราะต่อให้มีวัฒนธรรมองค์กรที่ค่อนข้างดีพร้อม แต่หากมีคนส่วนน้อยที่รู้สึกได้รับความไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งนั้นก็ก่อให้เกิดสถานที่ทำงานที่เป็นพิษได้
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP