×

ไม่ใช่แค่ไทย ประเทศอื่นก็มียุทธศาสตร์ชาติ ส่องยุทธศาสตร์ชาติเด่น 5 ประเทศ

19.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • จีนต้องการเป็นผู้นำด้าน AI ของโลกภายในปี 2030 ด้วยยุทธศาสตร์ส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จีนมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ ในด้านตลาด เงินทุน ขนาดเศรษฐกิจ และรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
  • ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ ด้วยเป้าหมายคงความเป็นประเทศมหาอำนาจในด้านนี้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดจากสหรัฐฯ และผู้เล่นรายใหม่ที่น่าจับตาอย่างจีน
  • เอสโตเนีย ประเทศเล็กๆ ในยุโรปคิดใหญ่ หวังเป็นซิลิคอนแวลลีย์แห่งภูมิภาค หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมต่อพลเมืองกับระบบดิจิทัลครบวงจร

ช่วงนี้เราอาจได้ยินคนพูดถึงยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศกันเยอะ หลังจากที่รัฐบาล คสช. พยายามผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศที่พัฒนาในหลากหลายมิติ

 

จริงๆ แล้วรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกก็มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ อย่างจริงจัง ซึ่งด้านหนึ่งก็สะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้นำและรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ว่าให้ความสำคัญกับนโยบายด้านไหนในระยะยาว

 

สำหรับยุคอุตสาหกรรม 4.0 หรือเศรษฐกิจดิจิทัลที่เทคโนโลยีสารสนเทศถูกนำมาผนวกกับอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแยกจากกันไม่ได้ เหล่าผู้เล่นต้องอาศัย Big Data ในการช่วยวิเคราะห์ตลาดเพื่อกำหนดกลยุทธ์อย่างแม่นยำ ดังนั้นยุทธศาสตร์ของหลายประเทศจึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระบบ Cloud Computing, Internet of Things (IoT) หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพราะใครกุมเทคโนโลยีเหล่านี้ย่อมหมายถึงโอกาสในการพิชิตคู่แข่งในตลาดและผงาดเป็นผู้นำโลกอย่างแท้จริง

 

นอกจากนโยบายด้านดิจิทัลแล้ว เทรนด์โลกหลังจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

THE STANDARD จะพาไปดูยุทธศาสตร์ที่เด่นๆ ของบางประเทศที่กำลังจับเทรนด์เหล่านี้กัน

 

จีนกับยุทธศาสตร์ผู้นำ AI ภายใน 12 ปี

ถึงแม้จีนจะออกตัวช้ากว่าประเทศในซีกโลกตะวันตก รวมถึงคู่แข่งในภูมิภาคอย่างญี่ปุ่นในการปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วง 2 ยุคแรก แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ไร้พรมแดนและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ จีนสามารถช่วงชิงความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลจากยุทธศาสตร์ที่โดดเด่น ทั้งในระบบอีคอมเมิร์ซที่ผูกติดกับเศรษฐกิจดิจิทัลและ AI

 

ในเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งออกโดยสภาคณะมนตรีแห่งรัฐของจีนเมื่อปีที่แล้วระบุไว้ชัดเจนว่า จีนต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักในด้าน AI ของโลก ภายในปี 2030 โดยระหว่างนี้รัฐบาลจะทุ่มเม็ดเงินลงทุนในด้านการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม AI อย่างต่อเนื่อง

 

ข้อได้เปรียบที่ทำให้หนทางการเป็นผู้นำ AI ของจีนราบรื่นกว่าชาติตะวันตกก็คือการที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำนโยบายจากรัฐไปปฏิบัติได้อย่างไม่มีสะดุด เนื่องจากรัฐบาลมีเสถียรภาพ ขณะที่ประเทศฝั่งเสรีนิยมอาจเผชิญอุปสรรคในการผลักดันนโยบายต่างๆ ตามกระบวนการของประชาธิปไตย

 

ที่ผ่านมาจีนแสดงให้เห็นว่าไม่ได้พูดแค่ลมปาก แต่ลงมือทำจริง หนึ่งในตัวอย่างคือการผลักดันอภิมหาโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ Belt and Road ในดำริของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จนเวลานี้เป็นรูปเป็นร่างไปมากและมีหลายประเทศที่ตั้งอยู่ตามรายทางตบเท้าเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพราะกลัวตกรถไฟขบวนสำคัญกับโอกาสเข้าถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ในจีน

 

ยุทธศาสตร์ AI ก็เช่นกัน สีจิ้นผิงหมายมั่นปั้นมือว่าจะผลักดันเป็นวาระแห่งชาติไม่ต่างจากโครงการ Belt and Road โดยภาครัฐเตรียมจัดสรรงบประมาณจำนวน 3.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนบรรดาผู้ประกอบการในการคิดค้นนวัตกรรม ด้วยเป้าหมายที่จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากที่เคยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นภาคบริการบนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

ไม่ใช่แค่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ทุกกระทรวงในจีนต่างขานรับนโยบายของรัฐบาลกันถ้วนหน้า รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการด้วย ซึ่งนำไปสู่การเตรียมพร้อมบรรจุหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการผลักดันโครงการส่งเสริมนวัตกรรม และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ

 

ปัจจุบันจีนได้ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมจำนวนมากที่พร้อมเข้าสู่สนาม AI ไม่เพียงแต่ระบบอัลกอริทึมในด้านการเงิน ธนาคาร รถยนต์อัตโนมัติ เวชภัณฑ์ หรือเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนวัตกรรม AI ด้านการเรียนรู้เชิงลึกอีกด้วย

 

ดังนั้นความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าก็คือการผลิตวิศวกรสาขา AI ที่สามารถสร้างอัลกอริทึมที่ประมวลวิเคราะห์ได้เร็วขึ้นและเชื่อมต่อกับระบบตรรกศาสตร์ทางธุรกิจได้ดีขึ้น

 

แต่จีนมีความได้เปรียบหลายประเทศอยู่หลายช่วงตัวในด้านนี้ เพราะในขณะที่หลายประเทศกำลังอยู่ในขั้นค้นคว้าวิจัยหรือร่างนโยบายอยู่นั้น จีนได้ไปฉิวถึงขั้นนำนโยบายต่างๆ ไปปฏิบัติ

 

ดังนั้นเป้าหมายการเป็นฮับนวัตกรรม AI ภายในปี 2030 จึงไม่น่าไกลเกินเอื้อมสำหรับจีน

 

 

โปรตุเกสกับยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือก

ถ้าพูดถึงพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เราอาจนึกถึงจีนเป็นประเทศแรกๆ เพราะเป็นประเทศที่ลงทุนในด้านนี้มากเป็นลำดับต้นๆ ของโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่คุณรู้หรือไม่ว่าโปรตุเกสก็เป็นอีกชาติที่ส่งเสริมโครงการพัฒนาพลังงานทางเลือกเช่นกัน แถมยังกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติอย่างจริงจังและต่อเนื่องด้วย

 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โปรตุเกสสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้เกินความต้องการของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปี คิดเป็น 103.6% ของการบริโภคไฟฟ้าทั่วประเทศ นั่นหมายความว่าในอนาคตอันใกล้นี้โปรตุเกสจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลอีกต่อไป หากพวกเขาต้องการบอกลาแหล่งพลังงานที่ก่อมลพิษเหล่านั้น

 

สมาคมพลังงานหมุนเวียนแห่งโปรตุเกสและองค์กรรักษ์โลกอย่าง ZERO ระบุว่า ความสำเร็จดังกล่าวนับเป็นแบบอย่างที่ดีให้ชาวโลกได้เห็นว่าพลังงานทดแทนจะเป็นทางเลือกแห่งอนาคต ขณะที่โปรตุเกสต้องการให้แหล่งพลังงานสะอาดเหล่านี้มีความปลอดภัยและพึ่งพาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

เมื่อ 4 ปีก่อนโปรตุเกสเคยสร้างสถิติผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 99.2% ของความต้องการ ซึ่งตอกย้ำว่าพวกเขามีแต่เดินหน้า และไม่ต้องการไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ พร้อมกับตั้งเป้าว่า ภายในปี 2040 พวกเขาจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อรองรับการบริโภคไฟฟ้าของประชาชนทั่วประเทศตลอดทั้งปีและตอบโจทย์ทั้งในแง่ต้นทุนและประสิทธิผลด้วย หลังจากที่กำหนดเป้าหมายไว้ในแผนยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติ (ENE 2020) ว่าจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วน 60% ของพลังงานทั้งหมดภายในปี 2020

 

ไปดูกันว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้โปรตุเกสประสบความสำเร็จในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก

 

คำตอบคือแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมทั้งแสงแดดและแรงลม ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อโครงการพลังงานทางเลือกของโปรตุเกส โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำและกังหันลม โดยที่ผ่านมาสัดส่วนการบริโภคไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนในโปรตุเกสอยู่ที่ประมาณ 55% ต่อเดือน ขณะที่กังหันลมอยู่ที่ระดับ 42% ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

 

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนดีมานด์ในพลังงานหมุนเวียนของโปรตุเกสก็คือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโจเซ โซเครติส ตั้งแต่ปี 2005 จนนำไปสู่การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถึง 3 เท่าตัวจากระดับ 1,220 เมกะวัตต์ในปี 2004 ถึง 4,307 เมกะวัตต์ในปี 2009 ซึ่งขณะนั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 36% ของปริมาณการบริโภคไฟฟ้าทั้งประเทศ

 

นอกจากนี้รัฐบาลยังส่งเสริมนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีต้นทุนสูงเพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าพลังงานจากเชื้อเพลิง ซึ่งก็นับว่าได้ผล และเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจไม่น้อย

 

 

เอสโตเนีย ผู้นำดิจิทัลในยุโรป

เมื่อปีที่แล้ว นิตยสาร Forbes ยกเอสโตเนียเป็นประเทศผู้นำด้านดิจิทัลในยุโรป หลายคนอาจไม่คาดคิดว่าประเทศเล็กๆ ที่อยู่ริมทะเลบอลติกและถูกรายล้อมด้วยชาติแถบสแกนดิเนเวียสามารถก้าวไปถึงจุดนี้ได้อย่างไร อันที่จริงแล้วเอสโตเนียมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนมาแต่แรก ด้วยเป้าหมายที่จะเป็นซิลิคอนแวลลีย์แห่งยุโรปหรือศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาค เริ่มจากการวางรากฐานการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีให้กับประชาชนทั่วประเทศ

 

เอสโตเนีย ซึ่งมีประชากรเพียง 1.3 ล้านคนยังเป็นผู้นำด้านบริการสาธารณะด้วยระบบออนไลน์ในยุโรป จากการจัดอันดับด้วยดัชนี Digital Economy and Society Index (DESI) ของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่างๆ ในยุโรป

 

นอกจากนี้เอสโตเนียยังติดทำเนียบผู้นำชาติยุโรปในดัชนีความมั่นคงทางไซเบอร์ระดับโลกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)

 

อาจเป็นเรื่องน่าประหลาดใจไม่น้อยสำหรับประเทศที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตอย่างเอสโตเนียที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกด้านนวัตกรรมทางดิจิทัล แต่หากเรามองย้อนกลับไปจะเห็นว่า นอกจากนโยบายด้านการศึกษาแล้ว รัฐบาลเอสโตเนียยังมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับยุคอุตสาหกรรม 4.0 ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมสู่ยุค ‘เอสโตเนีย 5.0’ ตั้งแต่การผลักดันนโยบายพลเมืองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Citizenship) จนประสบความสำเร็จ ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรม หรือติดต่อราชการผ่านทางระบบดิจิทัล ไปจนถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับต่างๆ ที่เปิดทางให้พลเมืองสามารถออกเสียงเลือกตั้งในระบบออนไลน์ รวมถึงลงประชามติ เรียกได้ว่าเข้าสู่ยุครัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) เต็มรูปแบบเลยทีเดียว

 

และเทคโนโลยีบล็อกเชนนี่แหละที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเงินตราดิจิทัลชั้นนำอย่างบิตคอยน์ด้วย ขณะที่รัฐบาลเอสโตเนียยังมีแผนออกเงินตราเสมือนแห่งชาติ (National Virtual Currency) เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมและชำระหนี้ตามกฎหมาย แต่โครงการดังกล่าวถูกชะลอออกไป เนื่องจากถูกคัดค้านโดย มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB)

 

รัฐบาลเอสโตเนียยังส่งเสริมผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจต่างๆ โดยที่บริษัทเหล่านี้สามารถดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก

 

ที่ผ่านมามีรัฐบาล 40 ประเทศที่ยึดโมเดลของเอสโตเนียในการพัฒนาระบบดิจิทัล อย่างไรก็ดี เอสโตเนียระบุว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเอสโตเนียกำลังสร้างโมเดลประเทศดิจิทัลใหม่สำหรับพลเมืองโลกทุกคน และต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์ม e-Residency ที่มีความเป็นหนึ่งเดียว ชอบด้วยกฎหมาย และโปร่งใส โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติหรือที่ตั้งประเทศ

 

ภายใต้แพลตฟอร์มดังกล่าว ผู้ประกอบการทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) ของเอสโตเนีย ซึ่งมอบเสรีภาพในการจัดตั้งและดำเนินงานบริษัท  EU จากทุกที่ทั่วโลก

 

สหราชอาณาจักรกับอนาคตสีเขียว

หลายประเทศกำลังตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาโลกร้อนและมลพิษในสิ่งแวดล้อม สหราชอาณาจักรก็เป็นหนึ่งในนั้นและได้คลอดแผนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมระยะ 25 ปีเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราไปดูกันว่านโยบายด้านเด่นๆ มีอะไรบ้าง

 

รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าจะกำจัดขยะประเภทที่สามารถลดได้ให้หมดไปภายในปี 2050 และขยะพลาสติกประเภทที่ลดได้ภายในปี 2042 นอกจากนี้ยังเตรียมนำระบบภาษีมาช่วยควบคุมการบริโภคพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง รวมถึงพิจารณามาตรการแบนของใช้หรือวัสดุบางอย่างที่ทำจากพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะในทะเล ตลอดจนส่งเสริมให้ใช้วัสดุทดแทนที่สามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้

 

นอกจากนี้ภาครัฐจะช่วยผู้ค้าปลีกและผู้ให้บริการขนส่งมวลชนติดตั้งจุดบริการน้ำดื่มฟรีตามเมืองใหญ่ๆ ในอังกฤษ เพื่อลดปริมาณขวดพลาสติก ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้อุตสาหกรรมผลิตน้ำดื่มสร้างเครือข่ายจุดเติมน้ำทั่วประเทศด้วย

 

สำหรับแผนลดปริมาณคาร์บอนนั้น รัฐบาลอังกฤษได้เริ่มยุทธศาสตร์ทำให้ถนนปลอดจากคาร์บอนตั้งแต่ปี 2018 โดยส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า รถขับเคลื่อนเองอัตโนมัติ และการใช้ข้อมูลการคมนาคมที่ดีขึ้น

 

ขณะเดียวกันสหราชอาณาจักรยังมุ่งลดมลพิษทางอากาศจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ท้องถนนอีกด้วย เช่น การใช้ปุ๋ยเคมีในภาคการเกษตร และการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ภาคครัวเรือนลดการใช้เชื้อเพลิงแข็งอย่างถ่านหินในการเพิ่มความอบอุ่นในช่วงหน้าหนาวด้วย

 

อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจก็คือการสร้างเครือข่ายฟื้นฟูธรรมชาติ โดยการขยายพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเพิ่มเติม 500,000 เฮกตาร์ในเขตป่าสงวน พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลเชื่อว่าการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอน เพิ่มคุณภาพน้ำและป้องกันอุทกภัยได้เป็นอย่างดี

 

สหราชอาณาจักรยังตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำโลกในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ ใช้วัสดุเหลือใช้ และจูงใจให้เกิดนวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

 

 

ญี่ปุ่น มหาอำนาจด้านหุ่นยนต์

เมื่อพูดถึงญี่ปุ่น แน่นอนว่าสิ่งแรกๆ ที่เรานึกถึงคือหุ่นยนต์ ในอดีตญี่ปุ่นนำวิทยาการด้านหุ่นยนต์มาใช้ในสายพานการผลิตของอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

 

สำหรับญี่ปุ่นแล้ว หุ่นยนต์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น ดังนั้นการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาวะเงินฝืด

 

แต่เทรนด์หลังจากนี้หุ่นยนต์จะมีบทบาทมากกว่าการอยู่บนสายพานตามโรงงาน เพราะเทคโนโลยี AI จะถูกนำมาผนวกกับหุ่นยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเปิดตัวหุ่นยนต์คนรับใช้ หรือหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการแบบจำเพาะเจาะจงยิ่งขึ้นด้วยฟังก์ชันต่างๆ และเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ซับซ้อน

 

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องเร่งพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่องก็เพราะญี่ปุ่นประสบปัญหาในด้านอัตราการเกิดต่ำและเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเหมือนกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งทำให้แรงงานในวัยทำงานมีสัดส่วนลดลงจนน่าวิตก ดังนั้นการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานคนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

นอกจากนี้เจ้าแห่งเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นยังต้องการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อช่วยในงานกู้ภัยและการปกป้องชีวิตพลเรือน เนื่องจากญี่ปุ่นตั้งอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งจากแผ่นดินไหวและสึนามิ

 

แต่ถึงแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศมหาอำนาจด้านหุ่นยนต์มาตลอด แต่พวกเขาก็กำลังเผชิญกับคู่แข่งและผู้เล่นรายใหม่ที่ยกระดับตัวเองขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ

 

ในช่วงไม่กีปีที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วทั้งในยุโรปและอเมริกา รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่อย่างจีนต่างก็ให้ความสำคัญกับการนำวิทยาการหุ่นยนต์มาช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในปี 2011 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ผลักดันโครงการนำร่องด้านหุ่นยนต์แห่งชาติ และมอบเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยหุ่นยนต์ในสาขา AI และเทคโนโลยีจดจำภาพและเสียงจำนวนหลายสิบล้านเหรียญต่อปี

 

ขณะที่จีนมีการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา AI และหุ่นยนต์ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นจึงน่าจับตาดูว่าญี่ปุ่นซึ่งมีข้อจำกัดในด้านตลาดแรงงานและเงินทุนสนับสนุนจะคงความเป็นผู้นำในด้านนี้ได้อีกนานแค่ไหน ถึงแม้ว่ายุทธศาสตร์ของพวกเขาจะมีความชัดเจนก็ตาม

 

อ้างอิง:

FYI

สำหรับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2580) ซึ่งผลักดันโดยรัฐบาล คสช. นั้น ให้ความสำคัญใน 6 ด้าน ได้แก่

  1. การยกระดับความมั่นคงของสถาบันหลักและกลไกบริหารประเทศ
  2. การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน
  3. การพัฒนาศักยภาพคน
  4. การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมในสังคม
  5. การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  6. การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว และจากนี้จะตั้งคณะกรรมาธิการ 38 คน เพื่อศึกษาร่างยุทธศาสตร์ภายใน 22 วัน และต้องส่งรายงานให้ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนวันที่ 7 กรกฎาคมนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X