หากการเดินวันละ 10,000 ก้าว เป็นเรื่องยากเกินไปจนไม่ลงมือทำสักที ตอนนี้ได้เวลาหมดข้ออ้างแล้ว เมื่อผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ลง JAMA Internal Medicine พบว่า ผู้หญิงสูงวัยที่เดินเพียงวันละ 4,400 ก้าว สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตลงถึง 41 เปอร์เซ็นต์
หลังการศึกษาชิ้นนี้ได้ตามติดผู้หญิงชาวอเมริกันจำนวน 17,000 คน ซึ่งมีอายุโดยเฉลี่ย 72 ปี นาน 4 ปีขึ้นไป โดยที่ทุกคนต้องสวมใส่อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและความเร็วไว้บริเวณสะโพกเป็นประจำทุกวัน ระหว่างเก็บข้อมูลมีผู้เสียชีวิตจำนวน 504 ราย จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตามเก็บมาพบว่า ผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มที่มีความแอ็กทีฟต่ำ จำนวนการก้าวเดินต่อวันเพียง 2,700 ก้าวเท่านั้น ในขณะที่ผู้หญิงซึ่งอยู่ในกลุ่มที่เดิน 4,400 ก้าวต่อวัน ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลง 41 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับคนที่เดินไม่ถึง จนกระทั่งเดินครบที่จำนวน 7,500 ก้าวต่อวัน มากไปกว่านั้นก็ไม่มีผลใดๆ และไม่จำเป็นต้องเดินเร็ว เพราะอัตราความเร็วในการเดินไม่ได้มีผลเรื่องนี้ เพียงแค่เดินก็ได้ประโยชน์แล้ว
ส่วนคำพูดที่ว่า เดินวันละ 10,000 เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นนั้นมาจากไหน? เรื่องนี้ ไอมินลี ผู้นำการศึกษาและนักระบาดวิทยาประจำที่ Division of Preventive Medicine ใน Brigham และ Women’s Hospital ในบอสตัน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากปี 1965 เมื่อบริษัทแห่งหนึ่งของชาวญี่ปุ่นได้ผลิตอุปกรณ์นับก้าวออกมาในชื่อ Manpo-Kei (ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า 10,000 ก้าว) ซึ่งมีผลทางวิทยาศาสตร์รองรับน้อยมาก และน่าจะเป็นการประดิษฐ์คำเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดมากกว่า
ถึงตอนนี้เราก็รู้แล้วว่า สำหรับคนสูงอายุเพศหญิงไม่จำเป็นต้องเดินวันละ 10,000 ก้าว คุณก็มีสุขภาพที่ยืนยาวขึ้นได้ แต่เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่า สามารถเหมารวมกับผู้สูงอายุเพศชายด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับกลุ่มคนวัยอื่นๆ ที่ลีเสริมว่า “หากอายุน้อยกว่านี้ น่าจะต้องเดินมากขึ้น” แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่า หากคุณสามารถเดินวันละ 10,000 ก้าว ได้อย่างสบายๆ ก็ไม่จำเป็นต้องลดมาเดินเพียง 7,500 ก้าวต่อวัน เนื่องจากผลการศึกษานี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงประโยชน์ทางสุขภาพในแง่มุมอื่นๆ ที่ได้จากการเดินเช่นกัน
ภาพ: shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง