×

437 โรงเรียน กทม. เข้าร่วมเครือข่าย ‘ต้นกล้าไร้ถัง’ เปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สิน จากระบบคัดแยกขยะ

โดย THE STANDARD TEAM
05.10.2022
  • LOADING...
ต้นกล้าไร้ถัง

วันนี้ (5 ตุลาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง ร่วมกับ ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ สุนันท์ ประสพผล ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลทับสะแก

 

โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้นำโรงเรียนในสังกัด กทม. จำนวน 437 แห่ง เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีในฐานะโรงเรียนไร้ถังสังกัด กทม. เพื่อร่วมกับองค์กรภาคเอกชนกว่า 10 แห่ง และ 443 โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ ปลูกฝังให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้กับเยาวชนและชุมชน แก้ปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเป็นวาระสำคัญของประเทศ 

 

สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถังสังกัด กทม. และการอบรมสัมมนา การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดต้นกล้าไร้ถัง เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการเห็นชอบร่วมกันเพื่อส่งเสริม สนับสนุนภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง 

 

โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการสนับสนุนแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิดการบริหารจัดการขยะแบบชุมชนไร้ถังขยะ ดำเนินการโครงการ เผยแพร่ และขยายเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังในสถานศึกษาไปจนถึงชุมชนใกล้เคียง พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ต้นกล้าไร้ถัง และจัดให้มีการเรียนการสอนเพื่อมุ่งสู่โรงเรียนไร้ถังขยะ วิถีใหม่ที่ยั่งยืน โดยมีการรายงานผลงาน สถิติ ในระบบที่จัดเตรียมไว้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

 

‘โรงเรียนไร้ถัง’ เป็นการนำโมเดลการจัดการขยะแบบทับสะแกโมเดล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการลดปริมาณขยะจาก 15 ตัน (15,000 กิโลกรัม) ต่อเดือน เหลือเพียง 2 กิโลกรัมต่อเดือน ปลูกฝังเยาวชนให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ รียูส รีไซเคิล อัปไซเคิล และมีส่วนร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางภายในโรงเรียน รวมทั้งสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนหันมาคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 

 

นำสิ่งที่เป็นวัสดุอินทรีย์ วัสดุรีไซเคิล ส่งต่อไปยังหน่วยงานและกระบวนการจัดการขยะที่เหมาะสม สร้างรายได้กลับเข้าสู่โรงเรียนและชุมชน และทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะไปยังชุมชนใกล้เคียงโรงเรียน ปลูกฝังให้คนในท้องถิ่นร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยทางภาคีจะสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ โดยมีคู่มือการดำเนินงาน การจัดฝึกอบรม การลงพื้นที่ และการติดตามผลอย่างใกล้ชิด 

 

ศานนท์กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ต้องเสียงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะปีละมากกว่าหมื่นล้านบาท แต่ใช้เงินกับการศึกษาประมาณ 4 พันล้านบาท เนื่องจากกระบวนการจัดการขยะตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำยังไม่สอดคล้องกัน การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจึงต้องดำเนินการไปพร้อมกันทุกส่วน ทั้งต้นน้ำ คือ ปลูกฝังให้ประชาชนเกิดการคัดแยกขยะ กลางน้ำ คือ กทม. จัดเก็บขยะแบบแยก และปลายน้ำ คือ การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ การให้โรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง เข้าร่วมภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยปลูกฝังในระดับต้นน้ำ และมีผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศปลายน้ำ สานฝันการจัดการขยะให้เป็นระบบได้จริง และต้นแบบไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่เรายังสามารถขยายผลได้ด้วย 

 

“ถ้าเราได้โมเดลของการแยกขยะต้นทางที่มีที่มาที่ไป หลักการของโครงการนี้คือ เมื่อแยกเสร็จแล้วจะมีคนรับไปเลย ทุกชิ้นจะไม่เป็นขยะอีกต่อไป ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่เริ่มจากนักเรียนในโรงเรียน 24 โรงเรียน โดยตั้งเป้าว่าทั้ง 24 โรงเรียน จะต้องขยายผลเพิ่มโรงเรียนละ 3 โรงเรียน รวมเป็น 72 โรงเรียน จาก 72 โรงเรียน ก็จะเป็น 216 โรงเรียน ภายใน 3 ปี ก็จะครบ 437 โรงเรียน หรือมากกว่านั้น เราต้องถอดบทเรียนที่จะเอาโมเดลนี้ไปใช้ในหน่วยงานราชการอื่นอย่างไร ซึ่ง กทม. ยังมีสำนัก สำนักงานเขต และสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งจะได้ศึกษาโดยจะติดตามผลตลอด” ศานนท์กล่าว

 

ศานนท์กล่าวต่อไปว่า ทาง กทม. จะนำโมเดลของภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังมาดำเนินการทันทีกับโรงเรียนสังกัด กทม. ใน 4 เขต ได้แก่ หนองแขม ปทุมวัน พญาไท และบางเขน รวม 19 โรงเรียน โดย 3 เขตแรกเป็นเขตนำร่องโครงการ ‘ไม่เทรวม’ ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยรณรงค์แยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป ขณะที่เขตบางเขนเป็นเขตที่ทางภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังมีเครือข่ายชุมชนไร้ถังอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถดำเนินการได้ทันที รวมถึงอีก 5 เขต 5 โรงเรียน ในเขตหนองจอก จตุจักร บางซื่อ จอมทอง และบางกอกใหญ่ ที่มีต้นทุนและความพร้อมด้านการจัดการขยะอยู่แล้ว พร้อมร่วมโครงการทันที รวมทั้งหมดเป็น 9 เขต 24 โรงเรียน และหลังจากนี้จะค่อยๆ ขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ จนครบ 437 แห่ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X