ฉายาเซลส์แมนสแตนด์ ‘ชิน’ ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คงไม่เกินจริง หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทิ้งทวนทริปโรดโชว์ต่างประเทศปี 2023 ในการไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหารือบริษัทใหญ่ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์สันดาป เพื่อหวังจูงใจเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่ EV รวมไปถึงโครงการแลนด์บริดจ์
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ข้อสรุปว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 4 ราย ตอบรับพร้อมขยายการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถกระบะไฟฟ้าในประเทศไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นก็เสนอให้ไทยใช้โมเดลของการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swapping) สำหรับรถเชิงพาณิชย์
โดย 4 ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นพร้อมขยายการลงทุนดังนี้
- Toyota ลงทุน 50,000 ล้านบาท
- Honda ลงทุน 50,000 ล้านบาท
- Isuzu ลงทุน 30,000 ล้านบาท
- Mitsubishi ลงทุน 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า นอกจากนี้บางค่ายรถให้ความเห็นว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตรถกระบะไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Honda e:N1 แม้ประกอบในไทย แต่ ‘ราคา’ คือตัวชี้เป็นชี้ตาย เพราะตั้งราคาแพงก็ขายไม่ได้
- ที่สุดแห่งปี! ตลาด EV ไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน เมื่อยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV ปีนี้พุ่ง 7.9 เท่า
- เปิดชื่อแบรนด์รถยนต์ EV จีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เริ่มเดินสายพานปี 2567-2568
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้ง 7 ค่ายรถญี่ปุ่น ให้เปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องสันดาปไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และรถยนต์ไฮโดรเจน ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตต่างยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค ขณะเดียวกัน บรรดาค่ายรถญี่ปุ่นยังได้นำเสนอโมเดลของการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swapping) สำหรับรถเชิงพาณิชย์ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ไทยออกมาตรการ ได้แก่
- ยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และกรณีใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30%
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลวงเงิน 100% ของเงินลงทุน ซึ่งต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567
รายงานข่าวระบุอีกว่า ท่ามกลางกระแสการลงทุนของฝั่งค่ายรถจีนก็ตอบรับเข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตในไทยต่อเนื่อง ผ่านมาตรการลดภาษีและมาตรการ EV3.5 ซึ่งสามารถดึงดูดค่ายรถจีนทั้ง BYD และ Great Wall Motor ที่พร้อมลงทุนรวม 1.44 พันล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในไทย ยังไม่รวมถึง NETA, GAC และ CHANGAN ที่จะเดินสายพานผลิตปี 2567 ในไทยอีกด้วย
มองอุตสาหกรรมยานยนต์ปีหน้าเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นปีทองของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ขณะที่ปี 2567 เบื้องต้นประเมินว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโตไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยคาดการณ์อยู่ที่ 3.0-3.5% จากปัจจัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะมาช่วยเพิ่มกำลังซื้อ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับโครงสร้างหนี้ การพักหนี้เกษตรกร รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายภาครัฐที่จะเริ่มใช้เดือนเมษายน 2567
“รวมไปถึงยังมีการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าภายหลังจากที่นายกฯ ได้ออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศ
“ขณะที่ยอดผลิตรวม 11 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 1,708,042 คัน ลดลง 0.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกรถยนต์ในปีหน้ามองว่าพอๆ กับในปีนี้ที่ 1.1 ล้านคัน อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังต้องจับตาความเสี่ยงทั้งความตึงเครียดในทะเลแดง สงคราม และความขัดแย้งในหลายภูมิภาคที่อาจบานปลายได้” สุรพงษ์กล่าว
อ้างอิง: