×

วงเสวนา ‘30 ปี พฤษภาทมิฬ’ สะท้อนบทเรียน ทหารต้องเลิกปฏิวัติ-คนต้องเคารพกติกา-จบที่คูหาเลือกตั้ง

20.05.2022
  • LOADING...
พฤษภาทมิฬ

วานนี้ (19 พฤษภาคม) ศูนย์ข้อมูลมติชนได้จัดงานเสวนา-นิทรรศการ ‘3 ทศวรรษ พฤษภามหาโหด People Power ฝันไกลที่ไปไม่ถึง…’ ณ หอประชุมข่าวสด รวบรวมภาพถ่ายและสื่อสิ่งพิมพ์ที่บันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นไว้ เวลา 13.00-15.00 น. โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั้งสามมุมมอง คือ นักศึกษา ทหาร และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ประกอบไปด้วย

 

  • รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตเลขาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ผู้นำนิสิต-นักศึกษา ในช่วงพฤษภา 2535 
  • พล.อ. บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในยุคดังกล่าว
  • สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมทางการเมือง

 

สาระสำคัญในวงเสวนา รศ.ดร.ปริญญา ตั้งข้อสังเกตถึงกองทัพไทยที่เข้ามาแทรกแซงหลักการทางประชาธิปไตย สืบเนื่องจากการรัฐประหารในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. จนนำมาซึ่งรัฐบาลทหารที่นำโดย พล.อ. สุจินดา คราประยูร ทั้งนี้ ภาพการรัฐประหารยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซ้ำยังเลวร้ายมากกว่า เนื่องจาก ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช. สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ ซึ่งเป็นการทำลายหลักการ 1 คน = 1 เสียง รศ.ดร.ปริญญา ชี้ชัดว่า การปฏิวัติรัฐประหารโดยกองทัพนี้จะต้องหมดไปได้แล้ว

 

“วันนี้ไม่ใช่เพียงแค่ครบ 30 ปี เหตุการณ์พฤษภา 2535 แต่ยังเป็นวันที่ครบกำหนดจะครบ 90 ปีของประชาธิปไตย เราต้องให้การปฏิวัติรัฐประหารให้มันจบไป ผมเปรียบประชาธิปไตยเหมือนต้นไม้ ต้นไม้ต้นนี้ไม่มีทางที่จะออกรากเติบโตให้เข้มแข็งเป็นร่มเงาให้ประชาชนทุกคนใช้ประโยชน์ได้เลย เพราะมันถูกโค่นมาอยู่เรื่อยๆ”

 

ด้านสมบัติเล่าว่า การเคลื่อนไหวในเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 นักศึกษาและภาคประชาสังคม หรือ NGO ฝ่ายซ้าย มีบทบาทในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารปี 2534 อย่างมาก หนังสือ คู่มือต่อต้านรัฐประหาร โดย ยีน ชาร์ป ถูกเผยแพร่กว้างขว้างในหมู่ภาคประชาสังคมในปี 2535 เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างแนวทางการประท้วงอย่างสันติและการต่อต้านรัฐโดยไม่ให้เกิดการสูญเสีย เหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งขึ้น

 

“ความน่าเสียใจในปี 2549 หรือ 2557 คือพวกเราภาคประชาชนที่ได้รับบทเรียนจากปี 2535 นั้นแตกแยกกัน บรรดาคนส่วนใหญ่อยู่ในฝ่ายที่สนับสนุนหรือนิ่งเฉยต่อก่อการยึดอำนาจ ทำให้ภาคประชาสังคมในช่วงหลังอ่อนแอลง ไม่สามารถดำรงบทบาทในสิ่งที่ควรได้ และไม่สามารถนำบทเรียนที่เคยเรียนรู้จากปี 2535 มาช่วยในการต่อสู้กับการรัฐประหาร”

 

ขณะที่ พล.อ. บัญชร นายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงเหตุการณ์พฤษภา 2535 เปิดเผยว่า ตั้งแต่หลังการปฏิวัติการปกครองปี 2475 ได้มีการก่อตั้งของกลุ่มทหารแนวคิดใหม่ ใฝ่ประชาธิปไตย ยึดหลักเหตุผลมากกว่าระบบอาวุโส ทำให้บรรยากาศของกองทัพในปี 2535 เป็นการต่อสู้ระหว่างแนวคิดดั้งเดิมและแนวคิดใหม่ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานนัก จนสุดท้ายกองทัพก็เข้าสู่วังวนแนวคิดแบบเก่า พล.อ. บัญชร กล่าวในทำนองเดียวกับ รศ.ดร.ปริญญา ว่า นับวันการเมืองไทยยิ่งซับซ้อน ทหารควรถอนตัวออกมา เพื่อลดตัวแปรความซับซ้อนทางการเมืองลง

 

“ผมยังจำความรู้สึกตัวเองหลังจบเหตุการณ์พฤษภา 2535 ได้ว่า คงถึงเวลาที่กองทัพจะถอนตัวออกจากการเมืองเสียทีเหมือนที่ อ.ปริญญา ก็เคยหวังว่าการรัฐประหารควรหมดไปเสียที”

 

รศ.ดร.ปริญญา กล่าวในช่วงท้ายของการเสวนาว่า เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น สิ่งที่รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 ไม่ได้ คือการเข้ามาของมือถือหรือแฟกซ์ ทำให้สื่อไม่ได้ตกอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลทั้งหมด และทุกวันนี้สมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจมากขึ้น

 

รศ.ดร.ปริญญา ย้ำว่า ทุกคนในสังคมต้องเคารพกติกา ต้องไม่มีการเข้าไปปิดคูหาเลือกตั้ง โดยเฉพาะทหารต้องหยุดเข้ามาแทรกแซงการเมือง เพื่อให้สังคมเกิดความเป็นธรรมและสันติสุขอย่างแท้จริง มิฉะนั้นการเมืองไทยจะวนมาจบที่การรัฐประหาร และนำไปสู่การเอื้อให้ทหารเข้ามามีอำนาจเหนือประชาชนอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2535, 2549 และ 2557

 

“ประชาชนต้องรวมเสียง 71,000 คน ถึงจะได้ ส.ส. 1 คนที่จะไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ พล.อ. ประยุทธ์ เพียงคนเดียวมี ส.ว. 250 เสียง ถามว่า พล.อ. ประยุทธ์ มีสิทธิมากกว่าประชาชนกี่เท่า ก็ให้เอาจำนวน ส.ว. คูณกับ 71,000 ผลลัพธ์คือ พล.อ. ประยุทธ์ มีสิทธิมากกว่าเรา 17.75 ล้านเท่าในการกำหนดว่าใครจะเป็นนายกฯ”

 

ส่วนตัวแทนภาคประชาชน บก.ลายจุด กล่าวสรุปว่า แม้การเมืองไทยในภาพใหญ่กำลังถดถอย แต่การตื่นตัวของประชาชนกลับก้าวหน้ามากกว่าที่เคยเป็นมา และความขัดแย้งในหมู่ประชาชนจะทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าผ่านการถกเถียงกัน และนี่คือหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น

 

“ผมได้บทสรุปอันหนึ่งว่า ผมอยากให้ทุกคนยึดติดในแนวคิดหรือหลักการมากกว่าการยึดติดในตัวบุคคล เพราะผมเชื่อว่าหลักการนั้นจะยั่งยืนแม้เวลาจะผ่านไป”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X