×

‘รำลึก 31 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม’ เมื่อกระแสแห่งประชาธิปไตยได้กลับมาอีกครั้ง คนไทยจะต้องไม่ทำให้มันล้มเหลวอีก

โดย THE STANDARD TEAM
17.05.2023
  • LOADING...

วันนี้ (17 พฤษภาคม) ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดงาน ‘รำลึก 31 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม’ โดยช่วงเช้าเป็นพิธีไว้อาลัย วางมาลา และกล่าวสดุดีวีรชน ก่อนมีพิธีการสงฆ์และการเสวนาในช่วงบ่าย

 

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า การจะไม่ให้ความสูญเสียอย่างในอดีตเกิดขึ้นอีก คือการทำตามครรลองประชาธิปไตย ยึดหลักเสียงข้างมากและรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่พร้อมรับการตรวจสอบจากองค์กรอิสระและจากทุกภาคส่วน หรือการยึดหลักความโปร่งใส 

 

โดยในระบอบประชาธิปไตยที่แม้ว่าจะมีความเห็นต่างกัน แต่จะสามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้ ซึ่งเมื่อ 9 ปีก่อน การเมืองรถถังหรือฝ่ายเผด็จการรัฐประหารชนะ แต่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประจักษ์ชัดแล้วว่าฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ดังนั้น เมื่อกระแสแห่งประชาธิปไตยได้กลับมาอีกครั้ง คนไทยจะต้องไม่ทำให้มันล้มเหลวอีก

 

ด้าน ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวรำลึกวีรชนว่า การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534 และเกิดเหตุการณ์ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านการรัฐประหาร จนกลายเป็นเหตุการณ์พฤษภา 35 

 

ท่ามกลางข้อจำกัดของการส่งข่าวสารในยุคนั้น กลายเป็นวันประวัติศาสตร์ที่วีรชนพลีร่างเรียกร้องประชาธิปไตย จึงหวังให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงคุณูปการและบทเรียน ด้วยการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งในทุกองค์กร หลังจากผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะเส้นทางของการพัฒนาประชาธิปไตยยังอีกยาวไกล

 

ขณะที่ คุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวรำลึกวีรชนว่า เหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นประจักษ์พยานว่ารัฐไทยพร้อมใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้เสมอ ทหารยังมายุ่งกับการเมืองและไม่เคยเชื่อวิจารณญาณของประชาชน ไม่ยอมให้ประชาธิปไตยในประเทศนี้มีโอกาสเติบโต

 

ซึ่งเหตุการณ์เมื่อ 31 ปีก่อนนั้น ประชาชนเรียกร้องเรื่องง่ายๆ คือให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้ทหารเลิกแทรกแซงกับการเมือง แต่สิ่งที่ได้รับในเวลานั้นกลับเป็นอาวุธและกำลังของเจ้าหน้าที่ที่เข้าทำร้ายประชาชน ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก แต่เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหมือนภาพฉายซ้ำในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่เคยปราศจากการแทรกแซงของกองทัพ 

 

การรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ เหมือนโรคร้ายที่มีอาการเจ็บปวดและจะเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ แต่หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาล่าสุด มองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สันติที่สุดตามระบอบประชาธิปไตย และหวังว่าจะไม่มีข้ออ้าง ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ เพื่อหวังก่ออาชญากรรมในนามของความดีงามใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมยืนยันว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนี้เป็นของประชาชน และทหารต้องกลับกรมกอง วงจรอุบาทว์จะยุติลงเสียที

 

จากนั้นผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ วางมาลา และกล่าวรำลึกวีรชน โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวรำลึกวีรชนว่า สิ่งที่มุ่งหวังไม่ใช่เพียงรำลึกการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ทรัพย์สิน หรือโอกาสของประเทศชาติและประชาชน แต่ในฐานะประชาชนที่ได้รับผลพวงทางด้านบวกและด้านลบในการต่อสู้ครั้งนั้น จะนำการสูญเสียมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง 

 

เพราะไทยยังวนเวียนและมีเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากคนในชาติเดียวกันเอง เพียงเพื่อต้องการอยู่ในอำนาจและรักษาอำนาจเพื่อใช้แสวงหาความสุขบนการบาดเจ็บล้มตายหลายครั้งของประชาชน ยืนยันว่าประชาชนเพียงต้องการใช้อำนาจปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นอำนาจที่แท้จริงในการปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน และเป็นของประชาชนเท่านั้นเอง แต่โดนปิดกั้นขัดขวางมาตลอด แต่เชื่อว่าวันนี้วีรชนพฤษภา 35 จะมีรอยยิ้มที่มุมปากเล็กๆ เกิดขึ้น 

 

เพราะวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ชัดแจ้งที่บอกถึงข้อเรียกร้องของความเป็นประชาธิปไตยที่ถูกปลูกฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนไทย อย่างน้อยได้เห็นประชาชนออกมาใช้อำนาจของตัวเองผ่านบัตรเลือกตั้ง ประกาศชัดว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เป็นอยู่ หรือรัฐราชการ-รัฐทหารที่เป็นอยู่ ประชาชนไม่ได้ต้องการแล้ว เป็นคำตอบอย่างชัดแจ้งผ่านการเลือกฝ่ายเสรีประชาธิปไตยอย่างท่วมท้น 

 

นพ.ชลน่านกล่าวด้วยว่า การรำลึกถึงผู้สูญเสียวันนี้มีเหตุการณ์ที่ต้องจารึกมากมาย ขอให้ทุกฝ่ายนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง มั่นใจว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่จะเป็นแกนกลางในการสืบสานเจตนารมณ์วีรชนพฤษภา 35 เพื่อให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงปรากฏเป็นจริง เพราะพรรคการเมืองคือกลไกที่สำคัญที่สุดที่จะรับมอบอำนาจจากประชาชน และการมอบอำนาจนั้น เพื่อความสุขของประเทศชาติและประชาชน

 

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และคัดค้านนายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหารในเหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งผ่านมา 31 ปี มี 4 บทเรียนที่ไม่มีบทสรุปร่วมกันในสังคมไทย

 

บทเรียนแรก คือการยอมรับกติกาประชาธิปไตยร่วมกันจะไม่นำมาซึ่งการสูญเสียใด ซึ่งวันนี้สังคมไทยสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่ยืนอยู่บนพื้นฐานและหลักการประชาธิปไตยได้ โดยไม่เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจหรือประชาชนไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต 

 

บทเรียนที่ 2 ต้องปฏิรูปกองทัพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าในอนาคตจะไม่มีเหตุการณ์รัฐประหารหรือการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพอีก เพราะหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 สังคมไทยเห็นกองทัพหรือทหารกลับเข้าสู่กรมกองในช่วงแรกแล้วประชาชนก็ยินดีว่าจะไม่มีการรัฐประหารอีก แต่ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลยในการปฏิรูปกองทัพ บทเรียนนี้จึงมีความสำคัญว่า การไม่ปฏิรูปกองทัพ การไม่ทำให้ทหารอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง ไม่ทำให้กองทัพออกจากบทบาทปัญหาความมั่นคงภายในแล้วปล่อยให้การจัดการปัญหาความมั่นคงภายในเป็นหน้าที่ของพลเรือนอย่างจริงจัง ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก 

 

บทเรียนที่ 3 การไม่ปล่อยให้เกิด ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ซึ่งเหตุการณ์พฤษภา 35 ยังไม่เคยมีการไต่สวน สอบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง แล้วนำผู้ที่มีบทบาทในการปราบปรามประชาชนมารับผิด มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ ดังนั้น หากไม่ต้องการเห็นผู้มีอำนาจรัฐใช้อำนาจในการปราบปรามประชาชนจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายหรือสูญหายอีกในอนาคต จำเป็นต้องไม่ปล่อยให้มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอีกต่อไป โดยต้องแสวงหาข้อเท็จจริงในหลายเหตุการณ์ในอดีต การไม่ยอมให้เกิดการนิรโทษกรรมโดยผู้มีอำนาจและกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำเอาผู้มีอำนาจที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายมารับผิดชอบจึงเป็นความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างเหตุการณ์พฤษภา 35 อีก

 

บทเรียนที่ 4 คือเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเมื่อ 31 ปีก่อน สื่อมวลชนถูกเซ็นเซอร์ถูกปิดปากไม่ให้นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นการเปิดทางให้ผู้มีอำนาจปราบปรามประชาชนได้อย่างไม่ต้องสนใจใคร ดังนั้น การต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อมวลชน เสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน จึงเป็นวาระสำคัญซึ่งสังคมไทยยังไม่บรรลุอย่างเต็มที่ 

 

ชัยธวัชยังได้กล่าวถึงความหวังว่า เมื่อประเทศไทยกลับเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตย คนไทยจะสามารถร่วมกันทำให้วาระสำคัญ 4 วาระข้างต้นบรรลุให้เป็นจริง เพื่อจะไม่ให้คนต้องมารำลึกโศกนาฏกรรมทางการเมืองเพิ่มอีก พร้อมกันนี้ เชิญชวนทุกฝ่ายช่วยกันเปลี่ยนพฤษภา 35 กับเหตุการณ์พฤษภา 53 ให้เป็นเดือนพฤษภาคมแห่งความหวัง ทำให้ประชาชนที่ได้เสียสละชีวิต ร่างกาย รวมถึงครอบครัวของเขาไม่สูญเปล่า

 

ส่วน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย วางพวงมาลาพร้อมกล่าวถึงการได้ร่วมในเหตุการณ์ว่า ตัวเองเพิ่งได้เป็น ส.ส. สมัยแรกเช่นกัน ก่อนที่จะเข้าร่วมกับประชาชนในการชุมนุม จึงพูดได้ว่าตัวเองเข้าสภาไม่เกิน 5 วัน แต่นอนอยู่กลางถนนไม่ต่ำกว่า 2 เดือนครึ่งร่วมกับพี่น้องประชาชน และยังได้รับฉันทานุมัติให้เป็นตัวแทนเข้าไปเจรจาให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการสืบทอดอำนาจรัฐประหารลาออก 

 

ซึ่งได้รับคำตอบคล้ายกับยุคหลังคือ เผด็จการขอเวลาอีกไม่นาน ทำให้ประชาชนยิ่งไม่พอใจและระดมกันมาชุมนุมมากขึ้น แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกงล้อประวัติศาสตร์ที่ย่ำอยู่กับที่และกงล้อยิ่งจมลึกไปกว่าเดิม เหมือนรถที่ติดหล่ม ซึ่งเคยคิดว่าหลังจากเหตุการณ์ปี 2535 จะไม่มีการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจอีก แต่พิสูจน์แล้วว่าตัวเองนั้นคิดผิด เพราะเหตุการณ์ยิ่งหนักกว่าเดิม มีรัฐบาลสืบทอดอำนาจ มีนายกฯ คนนอก และยังมี ส.ว. 250 คน และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของคณะรัฐประหารอีกด้วย

 

คุณหญิงสุดารัตน์เสนอว่า นอกจากให้กำลังใจ เชิดชู และเคารพวีรชนผู้เสียสละแล้ว อยากให้กำลังใจประชาชนที่ได้ใช้สิทธิเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ชัยชนะไม่ได้จบที่ปลายปากกาของประชาชน แต่มันจะต้องมีความพยายามมากไปกว่านั้นในการรักษาสิทธิและอำนาจของประชาชนเองที่ได้เลือกพรรคการเมืองให้ไปทำงาน ที่สำคัญทางออกที่จะแก้ไขปัญหาอย่างถาวรคือต้องร่วมกันทำภารกิจ 2 อย่าง คือ 

 

ภารกิจแรก ทำให้พรรคการเมืองที่ประชาชนมอบฉันทามติได้เดินหน้าต่อในการจัดตั้งรัฐบาล โดยที่ไม่มีอะไรที่จะมีวาระแอบแฝงซ่อนเร้น

 

ภารกิจที่ 2 คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยได้เสนอเข้าสภาแล้ว จึงอยากเชิญชวนทุกคนร่วมกันสนับสนุน 

 

“มาช่วยกันสร้างรัฐธรรมนูญจากปลายปากกาของประชาชน และขจัดรัฐธรรมนูญที่มาจากปลายกระบอกปืนที่มาจากรัฐบาลให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ภาคประชาชน เครือข่ายญาติวีรชน รวมถึงคนรุ่นใหม่ ตัวแทนนิสิตนักศึกษา ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาประเทศอย่างถาวร ไม่อยากเห็นความสูญเสียแม้แต่ชีวิตเดียวในอนาคตอีกแล้ว ต้องให้สิทธิและเคารพเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ช่วยกันแก้กติกายุติการสืบทอดอำนาจให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน มาร่วมกันสร้างสิ่งที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศอย่างถาวร ไม่ใช่แก้จุดหนึ่งแล้วก็จะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

 

ขณะที่ตัวแทนผู้ใช้แรงงานนำโดย สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย วางพวงมาลา พร้อมกล่าวถึงบทบาทของขบวนการผู้ใช้แรงงานที่ร่วมในเหตุการณ์พฤษภา 35 ว่า ความอดอยากยากแค้นแสนเข็ญในขณะนี้ ทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าใจภารกิจและบทบาทในการต่อสู้เป็นอย่างดี และเผด็จการนั้นแต่งตัวมาหลายรูปแบบ หากมีอาวุธมีรถถังเป็นเครื่องมือก็เห็นภาพได้ชัดเจน แต่ยังมีเผด็จการที่ซ่อนรูปคือเผด็จการทุนนิยม 

 

โดยในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เจตนารมณ์ของประชาชนชัดเจนแล้วว่าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ขณะที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานไม่ต้องการให้ผู้ใดไปเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์นี้ จึงขอฝากถึงนักการเมืองที่ได้เข้าสภาว่า ต้องเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แต่ไม่ต้องการเห็นลักษณะพวกมากลากไป ขอให้ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง และอย่าสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายเผด็จการที่จะยกอ้างในการขอรัฐประหาร

 

“โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน และทุกฝ่ายอย่าบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ให้กระบวนการทั้งหมดเดินหน้าไปตามครรลองประชาธิปไตย หากไม่พึงพอใจกับพรรคการเมืองหรือใครก็แล้วแต่ ก็มีหนทางประชาธิปไตยในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงในท้ายที่สุด และนักการเมืองต้องไม่ลืมศักดิ์ศรีและคำมั่นที่เคยให้ไว้กับประชาชน” สาวิทย์กล่าว

 

ส่วน อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า จะดำเนินการสืบสานเจตนารมณ์วีรชนจนถึงวันสุดท้ายของลมหายใจ และกล่าวว่า ญาติวีรชนได้ทำเจตนารมณ์ 3 อย่างครบถ้วน คือ

 

1) ให้รัฐบาลยอมรับเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ซึ่งรัฐบาลยอมรับแล้ว

 

2) การสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งญาติวีรชนทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วด้วยการอโหสิกรรมให้กับผู้ที่ทำให้ต้องสูญเสียสมาชิกของครอบครัว โดยที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องร้องขอ

 

3) การสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภา 35 ซึ่งสำเร็จลุล่วงแล้ว

 

อดุลย์กล่าวด้วยว่า ทั้ง 3 อย่างที่สำเร็จเป็นการทำให้สังคมโดยรวม แต่ขาดอยู่อย่างเดียวที่ยังไม่ได้ทำให้ญาติวีรชน คือการชดเชยเยียวยาให้กับญาติวีรชน จึงฝากถึงผู้แทนราษฎรที่จะได้เป็นรัฐบาลในสมัยหน้าพิจารณาเรื่องนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาญาติวีรชนไม่ร้องขอและไม่ยอมรับการชดเชยที่ไม่มีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะจากรัฐบาลเผด็จการ 

 

“การรัฐประหารไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องได้พูดแล้วว่าจะลบการรัฐประหารออกจากพจนานุกรม พร้อมขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันสืบสานเจตนารมณ์วีรชนพฤษภา 35 ให้คงทนถาวรต่อไป” อดุลย์กล่าว 

 

อดุลย์ยังได้ฝากถึงพรรคการเมืองให้ทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่มีมติบอกนักการเมืองชัดเจนแล้วว่าต้องการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ฝ่ายการเมืองต้องทำให้ได้ อย่าให้ประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงผิดหวัง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising