เปิดศักราชใหม่ปี 2568 ธุรกิจตั้งใหม่เป็นช่วงขาขึ้น เดือนแรกพุ่งไปกว่า 8,800 ราย ทุนรวม 24,951 ล้านบาท อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย ไตรมาส 1 คาดจัดตั้งใหม่ทะลุ 27,000-28,000 ราย คิดเป็น 30% ของทั้งปี และญี่ปุ่นยังคงขนเงินลงทุนไทยมากสุด ขณะที่เลิกกิจการลดลง เผยเทรนด์ดูแลสุขภาพดัน ‘ธุรกิจความงาม-ศัลยกรรม’ โตสวนกระแสเศรษฐกิจ โกยรายได้กว่า 3 แสนล้านต่อปี
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนมกราคม 2568 พบว่า มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 8,862 ราย เพิ่มขึ้น 4,485 ราย (102%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (4,377 ราย) โดยทุนจดทะเบียนรวม 24,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,056 ล้านบาท (8.98%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (22,895 ล้านบาท)
ในเดือนนี้มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ทุน โดยจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท เป็นกิจการ ผลิต จำหน่าย ส่งออก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง
ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่ สูงสุด 3 อันดับ
- ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 691 ราย ทุน 1,423 ล้านบาท
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 612 ราย ทุน 2,039 ล้านบาท
- ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 336 รายทุน 731 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.80%, 6.91% และ 3.79% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมกราคม 2568 ตามลำดับ
“ปัจจัยหลักคือเศรษฐกิจของไทยและของโลก ที่ได้รับแรงหนุนหลักทั้งจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว มาตรการรัฐ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของนโยบายของประเทศมหาอำนาจ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดชื่อ 20 บริษัทในวงการ ‘ขายตรง-ขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต’ ที่มีรายได้สูงสุดในประเทศไทย
- เปิด 3 อันดับธุรกิจที่ปิดกิจการมากสุด! วิเคราะห์ทำไม 7 เดือนทุนจดทะเบียนเลิกกิจการสูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท
- ชวนวิเคราะห์ เหตุใดสินค้าจีนทะลัก ส่งออกเริ่มหมดแรง แบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว
- ข่าวโรงงานทยอยปิดตัวไปทีละราย ปีนี้คนไทยตกงานแล้วกว่า 40,000 คน…
อรมนกล่าวอีกว่า ขณะที่การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,431 ราย ลดลง 4,634ราย (-76.41%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (6,065 ราย) และมีทุนจดทะเบียนเลิก 4,601 ล้านบาท ลดลง 30,501 ล้านบาท (-86.89%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (35,102 ล้านบาท)
“ในจำนวนนี้มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการที่ทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียน 1,568 ล้านบาท เป็นกิจการนำเข้าและส่งออก ยารักษาโรค เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ทุกชนิด”
ธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับ
- ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 151 ราย ทุนเลิก 264 ล้านบาท
- ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 58 ราย ทุนเลิก 178 ล้านบาท
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 52 ราย ทุนเลิก 158 ล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วน 10.55%,4.05% และ 3.64% ของจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนมกราคม 2568
สำหรับนิติบุคคล กลุ่มธุรกิจบริการเป็นประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนการจดทะเบียนมากที่สุด มีจำนวน 501,709 ราย ทุนจดทะเบียน 12.98 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก
“คาดการณ์ในไตรมาสแรกของปี 2568 จะมีธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งใหม่อยู่ที่ 27,000-28,000 ราย คิดเป็น 30% ของยอดจดทะเบียนทั้งปี และตลอดปี 2568 จะอยู่ที่ราว 90,000-95,000 ราย โดยอัตราส่วนการจัดตั้งธุรกิจต่อการเลิกธุรกิจในเดือนมกราคม 2568 พบว่าอยู่ที่ 6:1 ซึ่งถือว่ามีการจัดตั้งใหม่ที่เติบโตสูง”
ขณะที่การเลิกยังต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วนเฉลี่ย ปี 2567 อยู่ที่ 4:1 และ 5 ปี ย้อนหลัง (2562-2566) อยู่ที่ 3:1 แสดงให้ถึงแนวโน้มที่ดีของภาคธุรกิจในปี 2568 ญี่ปุ่นรั้งอันดับ 1 ลงทุนไทย
ส่วนการลงทุนของชาวต่างชาติประจำเดือนมกราคม 2568 เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 23,160 ล้านบาท อันดับ 1 ยังคงเป็นทุนจากญี่ปุ่น 21 ราย คิดเป็น 20% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 8,880 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ ตามด้วย สหรัฐฯ, จีน, สิงคโปร์, ฮ่องกง, ไต้หวัน, เยอรมนี ตามลำดับ
รวมถึงการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติเดือนมกราคม จำนวน 29 ราย คิดเป็น 28% ของนักลงทุนต่างชาติในไทย ยังคงเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นมากสุด 11 ราย ตามด้วยจีนและสิงคโปร์
คนไทยหันมาดูแลตัวเอง ดันธุรกิจความงามโตแรงสวนทางเศรษฐกิจ
อรมนกล่าวอีกว่า มีความน่าสนใจว่าธุรกิจความงาม มีแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่และมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องใน 5 ปีที่ผ่านมา (2563-2567) ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจความงาม 6,621 ราย ทุนจดทะเบียน 190,160 ล้านบาท
หากย้อนไปปี 2563 มีการจัดตั้งนิติบุคคลในธุรกิจนี้ 527 รายต่อปี และก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2566 มีการจัดตั้งใหม่จำนวน 1,161 และ ปี 2567 จัดตั้ง1,135 ราย ขณะที่วิเคราะห์เชิงลึก 3 ปี ย้อนหลัง (2564-2566) สามารถสร้างรายได้ที่สูงเฉลี่ยกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี
“การเติบโตของธุรกิจความงามเป็นผลมาจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดค่านิยมจากโซเชียลมีเดียที่นำเสนอเรื่องราวการดูแลตนเองผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ คนศัลยกรรมมากขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีวิวัฒนาการมากขึ้น และลูกค้าไม่ได้จำกัดแค่เพียงผู้หญิงแต่ยังขยายลูกค้าไปยังกลุ่มผู้ชาย กลุ่ม Gen Z ที่เริ่มเข้าสู่สังคมการทำงาน ผู้สูงอายุที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการชะลอวัย และลูกค้าต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการ”
ภาพ: RuslanKphoto / Shutterstock