งานวิจัยใหม่จาก Resume Genius ที่สำรวจผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากร 625 คนทั่วสหรัฐฯ ระบุว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขาลังเลมากที่สุดในการเลือกพิจารณาผู้สมัคร คือ เรซูเมที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เขียนให้ ขณะที่ความผิดพลาดอื่นๆ เช่น การย้ายงานบ่อย การจัดรูปแบบที่ไม่ดี หรือมีคำสะกดผิด ก็เป็นสิ่งที่ผู้จัดการรับสมัครไม่อยากเห็นเช่นกัน
ลองมาดูกันว่า 3 สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรชี้ว่าอาจทำให้คุณพลาดโอกาสได้งานมีอะไรบ้าง และเราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร
-
เรซูเมที่ใช้ AI เขียน
ผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากรกว่าครึ่ง (53%) ระบุว่าพวกเขาไม่ค่อยไว้ใจเรซูเมที่มีเนื้อหาซึ่งสร้างขึ้นโดย AI โดย 20% เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น ‘ประเด็นสำคัญ’ ที่อาจทำให้พวกเขาไม่รับบุคคลนั้นเข้าทำงาน
“เรซูเมของคุณจำเป็นต้องสะท้อนทักษะและประสบการณ์ที่แท้จริงอย่างตรงไปตรงมา” Michelle Reisdorf ผู้อำนวยการฝ่ายของบริษัทจัดหางาน Robert Half กล่าว “หากคุณใช้ AI เขียนเรซูเมภายในไม่กี่นาที มันแสดงว่าคุณไม่ได้ใช้เวลาและความคิดมากนักในการสมัครงานกับบริษัทของฉัน”
Reisdorf ซึ่งทำงานด้านสรรหาบุคลากรและจัดจ้างมานานกว่า 30 ปี ยังสนับสนุนให้ผู้หางานใช้ AI ช่วยตรวจทานและแก้ไขเรซูเม แต่เธอย้ำว่าคุณควรที่จะเขียนฉบับร่างแรกเอง
“AI ช่วยตรวจทานและปรับปรุงสิ่งที่คุณเขียนได้ดี แต่ไม่ใช่ทางลัดในการสร้างเรซูเมที่สมบูรณ์แบบ” เธอกล่าวเสริม “ฝ่ายสรรหาจะสามารถบอกได้หากคุณไม่ได้ใส่รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงจากงานก่อนๆ หรือหากการเขียนของคุณไม่ได้แสดงน้ำเสียงของมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ”
-
เปลี่ยนงานบ่อย
งานวิจัยของ Resume Genius พบว่า ในทำนองเดียวกัน เรซูเมที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง ทำให้ผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากร 50% ลังเลที่จะพิจารณาผู้สมัครรายนั้นต่อ
การหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ทำได้ยากกว่า เพราะหากคุณเปลี่ยนงานบ่อย คุณไม่สามารถโกหกเกี่ยวกับประวัติการทำงานได้ และยิ่งไปกว่านั้นแต่ละคนก็มีคำจำกัดความต่างกันว่า การเปลี่ยนงานแบบไหนที่ถือว่า ‘บ่อยเกินไป’
สำหรับบางคน มันอาจหมายถึงการเปลี่ยนงานทุก 1-2 ปี ในขณะที่คนอื่นอาจมองว่ากรอบเวลาที่สั้นกว่านั้น (เช่น เปลี่ยนงานหลังจากทำมาไม่ถึงปี) ถือว่าบ่อย
คุณไม่จำเป็นต้องอธิบายทุกครั้งที่เปลี่ยนงาน “เพราะฝ่ายสรรหาไม่ได้มองหาตรงนั้นเป็นอันดับแรก” Reisdorf กล่าว “พวกเขาต้องการรู้ว่าคุณมีทักษะและประสบการณ์ที่จะทำงานได้ดีหรือไม่ ประสบการณ์ในอดีตและความทุ่มเทกับงานมักถูกเก็บไปถามกันตอนสัมภาษณ์”
อย่างไรก็ตาม หากคุณมีงานหลายแห่งที่ทำในระยะเวลาสั้นๆ Reisdorf แนะนำให้ใส่รายละเอียดสั้นๆ (1-2 ประโยค) เกี่ยวกับการเปลี่ยนงานของคุณในส่วนอื่นๆ ของใบสมัคร
“ใบสมัครออนไลน์ส่วนมากจะมีช่องสำหรับข้อความเพิ่มเติมหรือ ‘เหตุผลที่ลาออก’ ภายหลังจากที่คุณอัปโหลดเรซูเมแล้ว” เธออธิบาย “นั่นเป็นส่วนที่ดีในการพูดถึงการเปลี่ยนงาน โดยไม่ดึงความสนใจมามากเกินไป” หรือไม่เช่นนั้นก็เก็บคำอธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจทางอาชีพไว้พูดในตอนสัมภาษณ์แทน
-
จัดรูปแบบไม่ดี
สิ่งที่ผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากรมองหาอีกอย่างในเรซูเมคือ การจัดรูปแบบที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเลย์เอาต์ที่ไม่เป็นระเบียบ ใช้ฟอนต์อ่านยาก หรือแม้แต่ลืมตรวจสอบคำผิด
Reisdorf บอกว่าเรซูเม่ที่สะอาดตาและเรียบง่ายนั้นได้ผลที่สุด เพราะอ่านง่ายสำหรับทุกคน ฟอนต์สีดำพื้นฐาน จำกัดความยาวให้อยู่ในหนึ่งหน้า และมีการแบ่งส่วนแต่ละหัวข้ออย่างชัดเจน คือสิ่งที่ควรทำ
พูดง่ายๆ ก็คือคุณอยากให้ความสนใจของฝ่ายสรรหาอยู่ที่ความสำเร็จของคุณ ไม่ใช่ฟอนต์ตัวหนาหรือเลย์เอาต์ที่แน่นขนัด
การตรวจทานคำผิดหรือไวยากรณ์ก่อนส่งเรซูเมก็สำคัญเช่นกัน Reisdorf กล่าว เพราะสิ่งนี้แสดงให้ผู้ว่าจ้างในอนาคตเห็นว่าคุณเป็นคนใส่ใจในรายละเอียดและมีความรอบคอบ
“สุดท้ายแล้ว คุณอยากให้ผู้จัดการฝ่ายสรรหาสนใจตัวคุณในฐานะผู้สมัคร มากกว่าสนใจข้อผิดพลาดในเรซูเม” Reisdorf กล่าว “เรซูเมของคุณควรทำให้พวกเขาตื่นเต้นที่จะเรียกคุณไปสัมภาษณ์ และหวังว่าจะนำไปสู่การจ้างงานคุณ”
อ้างอิง: