×

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ 3% ‘ไม่เพียงพอ’ ห่วงอีสานเจอปัญหารายได้โตไม่ทันรายจ่าย ‘หนักสุด’

13.07.2024
  • LOADING...

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ราว 3% ‘ไม่เพียงพอ’ ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหา ‘โตแบบไม่ทั่วถึง’ โดยเฉพาะภาคอีสานที่ครัวเรือนรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ‘สูงสุด’ เมื่อเทียบกับรายได้ภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลให้หนี้เกษตรกรอีสานโตเร็วกว่าทุกภาค โดยโตถึง 65% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

 

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหัวข้อ ‘แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน’ โดยระบุว่า ปัจจุบันศักยภาพการเติบโต (Potential Growth) ของเศรษฐกิจไทยที่ราว 3% ‘ไม่เพียงพอ’ สำหรับไทย เนื่องจากอัตรา 3% เหมาะสมกับประเทศร่ำรวย แต่ไทยเป็นประเทศที่รายได้ต่ำกว่า จึงมีความต้องการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนที่สูงกว่านี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหา ‘โตไม่ทั่วถึง’ ซ้ำเติมด้วย

 

“ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจากเดิมอยู่ 4-5% ลดลงมาอยู่ที่บวกลบ 3% สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยหลักๆ เป็นเรื่องปัญหาประสิทธิภาพแรงงานควบคู่อัตราการเติบโตของแรงงานที่ชะลอลง โดย 3% นี้ ไม่เพียงพอสำหรับไทย” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

 

พร้อมระบุอีกว่า อีกปัญหาที่ไทยเจอคือ เศรษฐกิจไทยโตไม่ทั่วถึงและกระจุกตัว เห็นได้จาก 40% ของการบริโภคที่โตในปี 2566 มาจากการบริโภคเพียง 10% ของกลุ่มรายได้สูง 

 

ครัวเรือนอีสานเผชิญปัญหาช่องว่างรายได้หนักสุด

 

ดร.เศรษฐพุฒิ เปิดเผยด้วยว่า ครัวเรือนอีสานเผชิญปัญหา ‘ช่องว่างด้านรายได้’ หนักสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ กล่าวคือ ในช่วงปี 2556-2566 รายได้จากการทำงานของครัวเรือนอีสานเติบโตเพียง 0.87% ต่อปี ขณะที่รายจ่ายเติบโตถึง 1.27% ต่อปี ทำให้ช่องว่างรายได้ของครัวเรือนอีสานสูงที่สุด จึงเป็นเหตุเป็นผลว่า ครัวเรือนอีสานพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุด

 

จากการคำนวณการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ (SES), Labour Force Survey ของ ธปท. พบว่า รายได้ครัวเรือนอีสานน้อยกว่ารายจ่าย 5,396 บาท สูงกว่าภาคเหนือ ภาคใต้ และประเทศที่ -3,112, -1,499 และ -2,663 บาท ตามลำดับ

 

เกษตรกรชาวอีสานเป็นหนี้มากถึง 93%

 

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวถึงภาระหนี้สินของเกษตรกรไทยที่มีหนี้ก้อนใหญ่เกือบ 5 แสนบาทต่อครัวเรือน มากกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่น นอกจากนี้ หนี้ยังโตเร็วราว 41% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดยกว่า 50% ของเกษตรกรชำระได้เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนเกษตรกรชาวอีสานมีหนี้โตเร็วกว่าทุกภาค โดยโตถึง 65% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

 

อีกทั้งจากข้อมูลของ ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า เกษตรกรชาวอีสานเป็นหนี้ถึง 93% จากจำนวนเกษตรกรชาวอีสานทั้งหมด โดยจำนวนนี้มากกว่าครึ่ง (53.3%) เป็นหนี้เรื้อรังที่มีโอกาสกลายเป็นมรดกหนี้ ขณะที่ลูกหนี้ที่มีหนี้เสีย คิดเป็น 10.4% และลูกหนี้ปกติ คิดเป็น 36.4%

 

เปิด 3 แนวทางการเงินสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน

 

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน ควรให้ครอบคลุมใน 3 มิติ ได้แก่ ดูแลรายจ่าย โดยดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงเกินไป, ดูแลให้รายได้โตอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและสร้างโอกาส และแก้ปัญหาหนี้สิน ผ่านมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

 

“การจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนต้องทำให้ครบเบ็ดเสร็จ ซึ่งต้องดูให้ครบทั้งมิติรายได้ มิติรายจ่าย และมิติการดูแลหนี้”

 


 

 

“ศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ราว 3% ‘ไม่เพียงพอ’ อัตราดังกล่าวเหมาะสมกับประเทศร่ำรวย แต่ไทยเป็นประเทศที่รายได้ต่ำกว่า จึงมีความต้องการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนที่สูงกว่านี้”

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567

 


 

 

“ครัวเรือนอีสานเผชิญปัญหา ‘ช่องว่างด้านรายได้’ หนักสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ รายได้ครัวเรือนอีสานน้อยกว่ารายจ่ายถึง 5,396 บาท เป็นเหตุเป็นผลว่า ครัวเรือนอีสานพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุด”

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567

 


 

 

“การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องทำให้ครบเบ็ดเสร็จ ทั้งมิติรายได้ รายจ่าย และหนี้สิน การแก้ปัญหาหนี้ต้องไม่ทำให้เร็วเกินไป เพราะจะทำให้เศรษฐกิจสะดุด ดังนั้น ธปท. จึงได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ และให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เพื่อแก้อย่างเป็นระบบ”

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising