ยอดปิดกิจการปี 2567 พุ่งสูงถึง 23,679 ราย มูลค่ารวม 171,180 ล้านบาท แม้สถิติยอดธุรกิจตั้งใหม่ทะลุ 87,596 ราย ทุบนิวไฮ ‘กรมพัฒนาธุรกิจ’ ประเมินแนวโน้มปี 2568 คาดแตะ 90,000 ราย จากปัจจัยบวกภาคการท่องเที่ยว ชี้จับตาภูมิรัฐศาสตร์-สงครามทางการค้า รวมถึงนโยบายทรัมป์ 2.0 อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ลงทุนและผู้เริ่มต้นธุรกิจ
วันนี้ (27 มกราคม) อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่และธุรกิจเลิกกิจการ และภาพรวมตลอดปี 2567 พบว่า การจดทะเบียนเลิกทั้งปี 2567 มีจำนวน 23,679 ราย เพิ่มขึ้น 299 ราย (1.28%) เมื่อเทียบกับปี 2566 (23,380 ราย) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 171,180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,124 ล้านบาท (6.95%) เมื่อเทียบกับปี 2566 (160,056 ล้านบาท)
ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเลิกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 2,146 ราย ทุนจดทะเบียน 4,761 ล้านบาท
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,238 ราย ทุนจดทะเบียน 16,885 ล้านบาท
- ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 805 ราย ทุนจดทะเบียน 1,994 ล้านบาท
ทั้งนี้ คิดเป็นสัดส่วน 9.06%, 5.23% และ 3.40% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจตามลำดับ
สำหรับการจดทะเบียนเลิกของนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1 พันล้านบาท ในปี 2567 มีจำนวน 13 ราย ทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 85,839 ล้านบาท มาจากธุรกิจโทรคมนาคม, ขายสิทธิการเช่าห้องชุดพักอาศัย/ให้เช่าห้องชุดพักอาศัย, โรงงานผลิต ซื้อ และจำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซตต์ แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียงฯ และบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ
ขณะเดียวกัน การจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั้งปี 2567 มีจำนวน 87,596 ราย เพิ่มขึ้น 2,296 ราย (2.69%) เมื่อเทียบกับปี 2566 (85,300 ราย) ทุนจดทะเบียน 285,745 ล้านบาท ลดลง 276,724 ล้านบาท (49.20%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (562,470 ล้านบาท)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดชื่อ 20 บริษัทในวงการ ‘ขายตรง-ขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต’ ที่มีรายได้สูงสุดในประเทศไทย
- เปิด 3 อันดับธุรกิจที่ปิดกิจการมากสุด! วิเคราะห์ทำไม 7 เดือนทุนจดทะเบียนเลิกกิจการสูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท
- ชวนวิเคราะห์ เหตุใดสินค้าจีนทะลัก ส่งออกเริ่มหมดแรง แบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว แม้แต่ ‘ข้าวไทย’ ยังเสี่ยง…
- ข่าวโรงงานทยอยปิดตัวไปทีละราย ปีนี้คนไทยตกงานแล้วกว่า 40,000 คน สัญญาณอันตรายกำลังบอกอะไร
ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 6,636 ราย ทุนจดทะเบียน 14,881 ล้านบาท
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 6,542 ราย ทุนจดทะเบียน 30,323 ล้านบาท
- ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 4,025 ราย ทุนจดทะเบียน 8,120 ล้านบาท
ทั้งนี้ คิดเป็นสัดส่วน 7.58%, 7.47% และ 4.59% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในปี 2567 ตามลำดับ
อรมนระบุว่า “น่าสนใจว่าตลอดทั้งปี 2567 มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1 พันล้านบาท จำนวน 15 ราย รวม 45,558 ล้านบาท เป็นธุรกิจ Data Center, รับเหมาก่อสร้างอาคาร, ค้าส่งและค้าปลีก และโรงพยาบาล”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,964,829 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.56 ล้านล้านบาท
หากมองภาพรวมของสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งและจดเลิกในปี 2567 ยังอยู่ในทิศทางที่ดี ส่งผลบวกมาจากปัจจัยการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซัน นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น สร้างการจ้างงานมากขึ้น
“ที่สำคัญธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในปี 2567 (87,596 ราย) ถือเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการจดทะเบียน และคาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ปี 2568 จะเพิ่มขึ้น 2-4% อยู่ที่ 90,000-95,000 ราย”
อรมนกล่าวอีกว่า ปีนี้ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม สงครามทางการค้าและผลที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายภายใต้ทรัมป์ 2.0 ที่อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ลงทุนและผู้เริ่มต้นธุรกิจ
นอกจากนี้ปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 954 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 228,106 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 5,040 คน
5 อันดับ ต่างชาติที่ขนเงินมาลงทุนไทยสูงสุด
- ญี่ปุ่น 254 ราย คิดเป็น 27% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 121,190 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์/พัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
- สิงคโปร์ 137 ราย คิดเป็น 14% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 22,485 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคด้านต่างๆ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
- จีน 123 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 19,547 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการทำเทคนิคด้านภาพสำหรับภาพยนตร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
- สหรัฐอเมริกา 121 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 24,675 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
- ฮ่องกง 69 ราย คิดเป็น 7% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,281 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่า ปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 287 ราย (43%) มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 100,574 ล้านบาท (79%)
ภาพ: simona pilolla 2 / Shutterstock