โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไปแบบสดๆ ร้อนๆ เรียกได้ว่าการหวนคืนกลับมาทวงบัลลังก์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ ทรัมป์มาพร้อมลั่นวาจาลงนามคำสั่งพิเศษกว่าร้อยคำสั่ง เขย่าการค้าไปทั่วโลก รวมถึง ‘ไทย’ ด้วย
โดยเฉพาะทรัมป์เพ่งเล็งไปที่ประเทศที่ได้ดุลการค้า ดังนั้นเมื่อดูจากตัวเลข ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 35,427.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับที่ 12 ซึ่งมี 29 กลุ่มสินค้าเสี่ยง เหตุเกินดุลสหรัฐฯ ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสของ 4 กลุ่มสินค้าที่เข้ามาชิงแชร์ตลาดสหรัฐฯ แทนจีน มีสินค้าใดบ้าง?
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนราว 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยปี 2567 มีมูลค่าส่งออก 54,956.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้า สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทย มีสัดส่วนราว 6% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด หรือมีมูลค่า 19,528.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 35,427.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับที่ 12 ของโลก
โดยกลุ่มสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงอาจถูกสหรัฐฯ พิจารณาใช้มาตรการทางภาษีมีประมาณ 29 กลุ่มสินค้า เนื่องจากพบสถิติการค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2566) ยกตัวอย่างเช่น
- เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
- เครื่องโทรศัพท์มือถือ
- ไดโอด
- ทรานซิสเตอร์
- อุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลล์)
- ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่
- หม้อแปลงไฟฟ้า
- เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่
- เครื่องปรับอากาศ
- เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษเป็นม้วน
- เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์วงจรรวม
- อิเล็กทรอนิกส์
- เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและส่วนประกอบ
- เครื่องจักรไฟฟ้า
- ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง
- เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ
- ผลิตภัณฑ์จากไม้
- สินค้าเกษตร
- เกษตรแปรรูปบางรายการ เช่น ปลาสดแช่เย็นและแช่แข็ง
- ขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมจากโกโก้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทำไมทรัมป์ต้องการ ‘คลองปานามา’ กลับคืนมา เจาะเส้นเลือดใหญ่การค้าโลก มีผลกับไทยแค่ไหน?
- ทำไม Trade War รอบนี้ไทยตกเป็นเป้าทั้งขึ้นทั้งล่อง สินค้าไหนเสี่ยงโดนเช็กบิลจาก Trump 2.0
- เปิดฉากทัศน์ทางรอดเศรษฐกิจไทย ในสนามสงครามการค้ายุคทรัมป์ 2.0
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ยุโรป’ ภูมิภาคที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ถอยหลังสู่ภาวะถดถอย เตือนปรับตัวช้าเสี่ยงล้าหลัง…
- กกร. คาด GDP ไทยปี 67 แตะ 2.8% ปีหน้าเตรียมรับมือทรัมป์ 2.0 ขู่เก็บภาษีต่อรองคู่ค้ากลุ่ม BRICS
พาณิชย์เตรียมเยือนสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์นี้ เจรจาเว้นขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสินค้าไทย
ขณะเดียวกันสหรัฐฯ เองก็จับตาประเทศที่มีกลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนเพื่อตั้งฐานการผลิต เพราะต้องการเลี่ยงสงครามการค้าและมาตรการทางภาษีจากสหรัฐฯ โดยประเทศปลายทางที่จีนเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม (Greenfield FDI) มากเป็น 10 อันดับแรกในปี 2566 ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย เวียดนาม โมร็อกโก คาซัคสถาน อียิปต์ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา เซอร์เบีย และเม็กซิโก
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ จะชัดเจนมากขึ้น ภายหลังมีการแต่งตั้งคณะผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (The United States Trade Representative หรือ USTR) เรียบร้อย
โดยจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลการพิจารณาและออกประกาศมาตรการทางการค้าต่างๆ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยมีแผนที่จะนำคณะผู้บริหารเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ ชุดใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อการเจรจาขอยกเว้นการขึ้นภาษีสินค้าจากไทย
โอกาสของ 4 อุตสาหกรรมชิงแชร์ตลาดสหรัฐฯ แทนสินค้าจีน
ก่อนหน้านี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบทรัมป์ 2.0 ที่อาจมีต่อเศรษฐกิจไทย โดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยรวมประมาณ -0.87% ผ่านการลดลงของมูลค่าการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ อาจลดลง 3,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (-1.03% ต่อการส่งออกรวม) ขณะที่การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐฯ อาจลดลงอีก 1,403 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายนี้ ไทยมีโอกาสในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ แทนสินค้าจีน โดยเฉพาะในหมวด
- เครื่องจักรกล
- เครื่องใช้ไฟฟ้า
- ยางและผลิตภัณฑ์ยาง
- ของเล่น เกม และอุปกรณ์กีฬา
หากสามารถปรับตัวและขยายการผลิตให้ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนในตลาดไทยที่อาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ และสิ่งทอ
IMF และ World Bank เตือน ปีนี้ส่งออกไทยและอาเซียนขยายตัวลดลง
สำหรับในมุมของเศรษฐกิจโลกปี 2568 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 3.3% และยังมองว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีเสถียรภาพและได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยเติบโตอยู่ที่ 4.2% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเติบโตที่ 1.7%
อย่างไรก็ดี IMF เตือนถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกว่า ในระยะปานกลางเศรษฐกิจโลกอาจเผชิญกับความเสี่ยงนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นการปกป้องที่เข้มข้นขึ้น (Protectionist Policies) โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรที่อาจนำไปสู่การลดลงของการลงทุน ลดทอนความมีประสิทธิภาพของตลาด เบี่ยงเบนทิศทางการค้า และอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน
สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารโลก (World Bank) ที่ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการที่นำไปสู่การเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade-Distorting Measures) จะทำให้เกิดความเสี่ยงของการค้าโลกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่ง World Bank ได้ปรับประมาณการปริมาณการค้าโลกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือ +3.1% สำหรับเศรษฐกิจและการส่งออกไทยและอาเซียน คาดว่าจะส่งผลให้ขยายตัวลดลงเช่นกัน
ส.อ.ท. จับตานโยบายพลังงานและ EV หอการค้าชี้ ไทยต้องปรับตัว พร้อมเปลี่ยนแปลง
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาโต๊ะกลม Geopolitics 2025 หัวข้อ ‘Trump 2.0: The Global Shake Up’ จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวานนี้ (21 มกราคม) ว่า ต้องเฝ้าติดตามคำกล่าวในสุนทรพจน์ของทรัมป์ที่ย้ำถ้อยคำ “Drill, Baby Drill” สหรัฐฯ จะกลับมาขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่เคยยุติการผลิตไปในช่วงของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ดำรงตำแหน่ง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นอย่างไร ซึ่งนี่คือหนึ่งในนโยบาย Reshoring ที่ทรัมป์อยากดึงการลงทุน การจ้างงาน กลับเข้าสหรัฐฯ
นอกจากนี้การที่ทรัมป์ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นก็เพื่อเป็นการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในประเทศ และต้องการกลับมาจ้างงานชาวอเมริกันให้มากที่สุด นโยบายเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับหลายอุตสาหกรรมของไทย จากเดิมที่ต้องพึ่งพาการส่งออก จะต้องมีการปรับยุทธศาสตร์เป็นการออกไปลงทุนในสหรัฐฯ
“กรณีพลังงานฟังดูแล้วทรัมป์จะดึงอุตสาหกรรมยานยนต์กลับไปยังสหรัฐฯ แต่การที่ทุกประเทศมีเป้าหมาย Roadmap ด้านพลังงานสะอาด เมื่อทรัมป์ไม่สนับสนุนพลังงานสะอาดก็ต้องเฝ้าติดตาม ขณะเดียวกัน อีลอน มัสก์ มุ่งสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตรงนี้จะต้องดูต่อไปว่าจะมีทิศทางชัดเจนอย่างไร”
ด้าน วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า การกลับมาของทรัมป์ครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองครั้งใหญ่ของโลก
“ทุกครั้งที่ผู้นำสหรัฐฯ ขยับมักสร้างแรงกดดัน แต่ในขณะเดียวกันอาจเป็นโอกาสให้เกิดการปรับตัวแบบก้าวกระโดด จากปกติที่ปล่อยให้ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหากไม่ทำก็อยู่ไม่ได้ เพราะความผันผวน อาทิ ค่าเงินนั้นเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา”
โดยแนวทางที่ควรเตรียมพร้อมคือการไปเจรจาทางการค้าโดยตรง ซึ่งครั้งนี้ทรัมป์เพ่งเล็งไปที่ตัวเลขดุลการค้า และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องอัตราเงินเฟ้อสูง
“เราต้องชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริง เช่น สินค้าที่ส่งเข้าไปผลิตจากบริษัทอเมริกัน ขณะเดียวกันเรามียอดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ปริมาณมากเช่นกัน” วิศิษฐ์กล่าว
ภาพ: Wildpixel / Getty Images
อ้างอิง: