×

23 องค์กรนักศึกษา แถลงการณ์ยก 5 เหตุผลวิชาการ ค้านกระบวนการไต่สวน-คำวินิจฉัยศาล รธน. ปมล้มล้างการปกครอง

โดย THE STANDARD TEAM
11.11.2021
  • LOADING...
องค์กรนักศึกษา

วันนี้ (11 พฤศจิกายน) สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม 23 องค์กรนิสิต นักศึกษา เรื่อง ปฏิเสธคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุช่วงหนึ่งว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคำร้องของ ณฐพร โตประยูร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีการปราศรัยการชุมนุมทางการเมืองในปลายปี พ.ศ. 2563 ของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

 

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย ระบุว่า “การชุมนุมและการปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้งสามมีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง เป็นการกัดกร่อนบ่อนทำลายการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการปลุกระดมก่อให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงในสังคม เป็นการกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือเพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าด้วยการพูด การเขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

 

“ผู้ถูกร้องทั้งสามใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่ปฏิรูป ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสาม รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” นั้นองค์กรนักศึกษาทั้ง 18 แห่ง ขอปฏิเสธกระบวนการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรมและคำวินิจฉัยของศาล โดยขอยืนยันว่า 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของผู้ถูกร้องทั้งสามนั้น เป็นข้อเสนอที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยคงอยู่สถาพรในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างาม สมกับพระเกียรติยศที่สมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทรงดำรงไว้ตั้งแต่ครั้งอดีต ผู้ถูกร้องทั้งสามและผู้ชุมนุมเพียงหวังให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา ปราศจากมลทินและข้อครหาที่จะทำให้พระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย นำมาสู่เหตุผลห้าประการในการขอปฏิเสธกระบวนการไต่สวนและวินิจฉัยของศาล ดังนี้

 

ประการแรก ผู้ถูกร้องทั้งสามท่านมิได้รับโอกาสขอไต่สวนเพิ่มเติมจากศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสู้คดีและแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อศาล ด้วยการสั่งงดการไต่สวนโดยอ้างว่าพยาน หลักฐาน ข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังยกคำร้องขอเบิกตัว อานนท์ นำภา และ ภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งขณะนี้ทั้งสองท่านยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ฉะนั้นจึงมิอาจเรียกได้ว่ากระบวนการไต่สวนในครั้งนี้เป็นกระบวนการอันสถิตไว้ซึ่งความยุติธรรม

 

ประการที่สอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ยึดถือหลักการที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ The King Can Do No Wrong พระมหากษัตริย์จะทรงกระทำผิดมิได้ พระองค์จะทรงมีพระราชอำนาจในการกระทำอันใดจำกัดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เนื่องจากพระมหากษัตริย์จะต้องทรงดำรงพระองค์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและดำรงพระราชสถานะเป็นประมุขของประเทศ ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ จุดมุ่งหมายมิใช่เพื่อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงถึงมูลเหตุ ช่วยส่งเสริมให้สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยธำรงไว้อย่างมั่นคงและสมพระเกียรติยศ

 

ประการที่สาม ถ้อยวลีของคำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ในประเทศไทยนั้น ถูกปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 อันเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ดังนั้นเหตุผลการวินิจฉัยของศาลที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ได้บัญญัติให้เรียกระบอบการปกครองว่า ‘เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ จึงไม่อาจเชื่อถือได้

 

ประการที่สี่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับสะท้อนถึงเจตนารมณ์ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด เพียงแต่ผู้ใช้อำนาจนั้นคือพระมหากษัตริย์ ผ่านกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญ มิได้สะท้อนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นเหตุผลการวินิจฉัยของศาลที่อ้างถึงประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยจึงไม่สมเหตุสมผล

 

ประการสุดท้าย การเคลื่อนไหวทางการเมืองและการชุมนุมของผู้ถูกร้องและประชาชนชาวไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอันได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ปราศจากเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองของประเทศ มิใช่เป็นการกระทำอันก่อให้เกิดการรัฐประหารเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา

 

สำหรับองค์กรที่ร่วมลงชื่อ ได้แก่

  1. กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเยาวชนภาคเหนือตอนล่าง
  2. กลุ่มนิสิตพรรคชาวดิน
  3. คณะกรรมการกลางบริหาร องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (10 ตําแหน่ง)
  4. แนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย
  5. พรรคก้าวใหม่
  6. พรรคโดมปฏิวัติ
  7. พรรคป๋วยก้าวหน้า
  8. พรรคเสรีธรรมศาสตร์
  9. พรรคแสงโดม
  10. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
  11. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  12. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้
  13. สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  14. สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  15. สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  16. สโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  17. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  18. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  19. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้
  20. องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร
  21. องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  22. องค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  23. องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising