ตลอดปี 2017 ที่ผ่านมา THE STANDARD เฝ้าติดตามสถานการณ์ต่างๆ ในแวดวงต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และมีเหตุการณ์สำคัญจำนวนไม่น้อยที่สร้างปรากฏการณ์และแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในประชาคมโลก ซึ่งภาพรวมส่วนใหญ่ยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง
THE STANDARD จึงขอยกให้ภาพรวมต่างประเทศในปี 2017 เป็นปีแห่ง ‘ความโกลาหล’ ที่ยังคงวุ่นวายต่อเนื่องมาจากปี 2016
การเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายขวาและชาตินิยมทั่วโลก
เราเริ่มต้นปีด้วยชัยชนะจากการเลือกตั้งของกลุ่มฝ่ายขวาและการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมต่างๆ ทั่วโลกลากยาวมาตลอดทั้งปี นับตั้งแต่พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2017 และผลประชามติที่สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้แก่ระบบระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศและด้านเศรษฐกิจ
รวมถึงการกลับมามีบทบาทสำคัญของพรรคฝ่ายขวาจัด (AfD) ในเยอรมนี ที่สามารถคว้าที่นั่งหวนคืนสู่รัฐสภาได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แม้พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) ของนางอังเกลา แมร์เคิล จะยังคงกุมเสียงข้างมากไว้ได้ และชัยชนะของนายเซบาสเตียน คูร์ซ ผู้นำฝ่ายขวาที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำออสเตรียคนใหม่ในช่วงต้นปีหน้า พร้อมด้วยภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ด้วยวัยเพียง 31 ปี ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในโลกคนล่าสุด ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมของการเมืองโลกดูเอียงขวามากยิ่งขึ้น แม้ว่าผู้นำของกลุ่มฝ่ายขวาอย่างนางมารีน เลอ แปน และนายกีรต์ ไวล์เดอร์ส จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งระดับชาติในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ก็ตาม
นอกจากนี้เรายังเห็นความพยายามของกลุ่มชาตินิยมต่างๆ ทั่วโลกที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชหรือเพิ่มอำนาจการปกครองให้แก่ดินแดนของตน โดยใช้ความรุนแรงและวิธีตามแบบฉบับของประชาธิปไตยอย่างการหยั่งเสียงลงประชามติ (ทั้งที่เป็นทางการและไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย) ไม่ว่าจะเป็นในสกอตแลนด์, เคอร์ดิสถาน, บางแคว้นในอิตาลี, 3 รัฐทางใต้ของบราซิล และโดยเฉพาะพื้นที่อย่างแคว้นกาตาลุญญาที่กลายเป็นประเด็นร้อนตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในหลายพื้นที่จะยังไม่สามารถประกาศตัวเป็นรัฐเอกราชได้อย่างสมบูรณ์ แต่พวกเขาก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมและขยับเข้าใกล้จุดมุ่งหมายดังกล่าวเข้าไปทุกที ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นประเทศสมาชิกเกิดใหม่ของประชาคมโลกอีกหลายสิบประเทศในอนาคตอันใกล้นี้
วิกฤตการณ์นิวเคลียร์และความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี
บุคลิกที่ยากจะคาดเดาได้ของทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ และคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 3 ของเกาหลีเหนือ ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดเกี่ยวกับการครอบครองขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือคุกรุ่นและร้อนระอุมากยิ่งขึ้นตลอดทั้งปี โดยหลายฝ่ายเกรงว่าสงครามน้ำลายและการซ้อมรบร่วมกันกับบรรดาชาติพันธมิตรจะพัฒนากลายเป็นชนวนเหตุของการชิงโจมตีก่อน และนำไปสู่การทำสงครามนิวเคลียร์ในที่สุด
จากการเก็บสถิติและข้อมูลของ CNS/NTI เปิดเผยว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์รวมกันอย่างน้อย 16 ครั้ง มากกว่า 20 ลูก และในจำนวนนี้เป็นขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ที่มีพิสัยไกลกว่า 5,500 กิโลเมตร (ถึงแผ่นดินสหรัฐฯ) ถึง 3 ลูกด้วยกัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเกาหลีเหนือได้ขยับเข้าใกล้สถานะของการเป็นรัฐนิวเคลียร์ตามที่พวกเขากล่าวอ้างแล้ว ส่งผลให้โอกาสในการเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และบรรดาชาติพันธมิตรกับกองทัพโสมแดงเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้เกาหลีเหนือเองก็คงไม่ยินยอมที่จะยุติการเดินหน้าพัฒนาและครอบครองขีปนาวุธนิวเคลียร์โดยง่ายอย่างแน่นอน เนื่องจากตัวผู้นำเห็นว่านี่คือเครื่องมือต่อรองกับชาติมหาอำนาจที่ทรงพลังที่สุดที่จะปกป้องระบอบและผลประโยชน์สูงสุดของเกาหลีเหนือไว้ได้ ในขณะเดียวกัน คิมจองอึนก็เห็นบทเรียนของอดีตผู้นำประเทศที่ยอมจำนนต่อสหรัฐฯ อย่างซัดดัม ฮุสเซน ในอิรัก และมูอัมมาร์ กัดดาฟี ของลิเบีย ที่นำไปสู่จุดจบของชีวิตในที่สุด ประชาคมโลกจะร่วมกันแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้อย่างไรในวันที่ความมั่นคงระหว่างประเทศถูกสั่นคลอนครั้งแล้วครั้งเล่า
แม้รักกาและโมซุลจะสงบลง แต่เหตุก่อการร้ายยังเพิ่มขึ้นทั่วโลก
สงครามในหลายพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไป และอัตราการก่อการร้ายที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก หนึ่งในภูมิภาคที่เกิดสงครามความขัดแย้งมากที่สุดคงหนีไม่พ้นตะวันออกกลาง ทั้งปัญหาภายในประเทศทับซ้อนกับการก่อการร้าย ลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศขนาดย่อมที่บรรดามหาอำนาจและชาติพันธมิตรต่างเข้าร่วมสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามความขัดแย้งในซีเรีย การต่อสู้กับขบวนการรัฐอิสลาม (กลุ่มไอเอส) ที่พยายามจะแย่งชิงพื้นที่และสถาปนารัฐอิสลามขึ้นภายในภูมิภาค ก่อนที่จะกระจายตัวไปยังภูมิภาคต่างๆ อย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมาราวีของฟิลิปปินส์
ถึงแม้ว่ากองกำลังอิรักจะสามารถยึดครองดินแดนคืนมาและประกาศชัยชนะเหนือกลุ่มไอเอสได้ในฐานที่มั่นสำคัญอย่างรักกาในซีเรีย และโมซุลในบังกลาเทศ แต่อุดมการณ์และชุดความคิดของการก่อการร้ายจะยังคงถูกส่งต่อและเชื้อเชิญผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวให้ลงมือปฏิบัติตามผ่านการรับสารจากช่องทางอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ต่างๆ
ในขณะที่ประเทศแถบยุโรปก็ไม่น้อยหน้า เกิดเหตุก่อการร้ายเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เกิดรูปแบบการก่อการร้ายที่นิยมลงมือคนเดียว (Lone wolf) โดยใช้ยานพาหะอย่าง ‘รถตู้’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการลงมือก่อเหตุ รวมถึงใช้มีดและอาวุธปืนไล่กราดยิงและทำร้ายผู้บริสุทธิ์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือเหตุกราดยิงผู้คนในเทศกาลดนตรีที่นครลาสเวกัสเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 59 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 546 คน นับเป็นเหตุสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เลยทีเดียว
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐกำลังเผชิญหน้ากับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Actors) เช่น กลุ่มก่อการร้ายที่มีความซับซ้อน หรือกลุ่มหัวรุนแรง โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ที่เกิดการกระชับแน่นของคน เวลา ทุน และสถานที่ พร้อมท้าทายอำนาจที่มีอยู่ของรัฐในการจัดการกับปัญหานี้มากยิ่งขึ้น
วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ
อีกหนึ่งสถานการณ์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและสะท้อนความโกลาหลได้เป็นอย่างดีคือวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ อันเป็นผลพวงมาจากปัญหาสงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ก่อให้เกิดกระแสผู้ลี้ภัยไหลทะลักเข้าไปยังยุโรปเป็นจำนวนมาก จากตัวเลขสถิติของ UNHCR พบว่า ปัจจุบันพลเมืองโลกที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานกว่า 65.6 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 22.5 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากซีเรีย อัฟกานิสถาน และซูดานใต้ ยังไม่นับรวมกลุ่มคนไร้รัฐ (Stateless People) อีกกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก
ยิ่งไปกว่านั้น การใช้มาตรการความรุนแรงกวาดล้างชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างเมียนมา บริเวณรัฐยะไข่ เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปะทุออกมากลายเป็นกระแสวิกฤตโรฮีนจาที่ประชาคมโลกจับตามอง ตลอดระยะเวลากว่า 5 เดือนที่ผ่านมา มีชาวโรฮีนจามากกว่า 626,000 คน เดินทางอพยพไปยังบังกลาเทศ ชุมชนและบ้านเรือนของพวกเขาถูกเผาทำลายเสียหายเกือบหมด เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สั่นคลอนแรงศรัทธาที่มีต่อนางออง ซาน ซูจี ผู้นำคนสำคัญของเมียนมา ที่ต่อสู้เพื่อความความเป็นประชาธิปไตยในบ้านเกิดของเธอมาโดยตลอด จนหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเธอเหมาะสมแค่ไหนกับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่เคยได้รับ รวมถึงแท้จริงแล้วเธอมีอำนาจในการตัดสินใจและบริหารประเทศมากน้อยแค่ไหนกันแน่ และถ้าหากสงครามและความรุนแรงยังคงถูกขับเคลื่อนต่อไป วิกฤตการณ์ของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพนี้จะรุนแรงมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
สหรัฐฯ ขอถอนตัวออกจากการเป็นภาคีความตกลงปารีส
ด้านสิ่งแวดล้อมโลกก็ปั่นป่วนไม่น้อย หลังประเทศมหาอำนาจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีนอย่างสหรัฐฯ ขอถอนตัวออกจากการเป็นภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ที่ประชาคมโลกเกือบ 200 ประเทศยอมอยู่ภายใต้กรอบข้อตกลงเดียวกัน
ในปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นชาติสมาชิกของสหประชาชาติเพียงชาติเดียวที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับความตกลงดังกล่าว หลังนิการากัวและลิเบียตัดสินใจยอมปฏิบัติตามความตกลงและตระหนักถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการขอถอนตัวของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการบรรลุเป้าหมายของความตกลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่มหาอำนาจอื่นๆ อย่างเช่น จีน และรัสเซีย ให้มีบทบาทในเวทีโลกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ตลอดปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลกไม่ค่อยสู้ดีนัก ราวกับธรรมชาติกำลังต้องการจะทวงบางสิ่งอย่างบางอย่างกลับคืน ดังจะเห็นได้จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น ทั้งไฟป่า วาตภัย อุทกภัย แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม รวมถึงภูเขาไฟระเบิด ซึ่งท้าทายระบบการจัดการภัยพิบัติของประเทศต่างๆ อยู่ไม่น้อย
โดยเฉพาะเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนที่ผ่านมา เกิดพายุลูกใหญ่ถึง 4 ลูกในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ พัดถล่มบริเวณชายฝั่งของสหรัฐฯ รวมถึงประเทศหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลแคริบเบียน จนอาคารบ้านเรือนและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ถูกทำลายเกือบหมด หนึ่งในนั้นคือพายุเฮอร์ริเคนเออร์มาร์ที่มีความเร็วลมสูงถึง 295 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นพายุหมุนที่มีความเร็วลมสูงที่สุดในรอบสิบกว่าปี นับตั้งแต่พายุเฮอร์ริเคนวิลมาเมื่อปี 2005 ในขณะที่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณพรมแดนอิรักและอิหร่าน และแผ่นดินไหวในเม็กซิโก ก็มียอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปีนี้ถึง 540 คน และ 370 คนตามลำดับ
ความปั่นป่วนวุ่นวายของบรรดารัฐอาหรับ
วิกฤตกาตาร์ที่ปะทุขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของบรรดา 6 รัฐอาหรับกับกาตาร์ที่ดำเนินไปจนถึงจุดต่ำสุด ถึงขั้นประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน หลังประเทศพี่ใหญ่ นำโดยซาอุดีอาระเบีย อ้างว่ากาตาร์เป็นประเทศตัวการที่บ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงภายในภูมิภาค พร้อมทั้งสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ค่านิยมสุดโต่ง และร่วมมือกับรัฐอันธพาลอย่างอิหร่าน
จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการกดดันและเรียกร้องให้กาตาร์ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยหนึ่งในจำนวนนั้นคือ การตัดความสัมพันธ์กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มต้องห้ามของประเทศอื่นๆ ภายในภูมิภาค รวมถึงต้องยุติการสนับสนุน (ปิดกิจการ) สำนักข่าวอัลจาซีราและสื่อย่อยอื่นๆ
นับเป็นวิกฤตทางการทูตครั้งรุนแรงที่สุดของอ่าวอาหรับในรอบหลายทศวรรษ แม้ผู้นำกาตาร์จะยืนยันว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง พร้อมทั้งยังจะสนับสนุนสำนักข่าวอัลจาซีรา ผู้มีบทบาทสำคัญในการรายงานสถานการณ์เหตุลุกฮือต่อต้านรัฐบาลของประชาชนในช่วงอาหรับสปริงนี้ต่อไป เนื่องจากเขาเชื่อว่าสื่อสำนักนี้จะเปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงทางการเมือง นำความทันสมัยและความเปลี่ยนแปลงในทางบวกมาสู่ภูมิภาคแห่งนี้ โดยการ์ตาพร้อมเดินหน้าเจรจาหาทางออกร่วมกัน
นอกจากวิกฤตกาตาร์แล้ว การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศพี่ใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียก็สำคัญไม่แพ้กัน หลังเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ เร่งเดินหน้าปฏิรูปประเทศและปราบปรามคอร์รัปชัน สั่งควบคุมตัวเจ้าชายถึง 11 พระองค์ พร้อมบุคคลสำคัญท่านอื่นๆ ที่อาจมีส่วนพัวพันกับการทุจริต เพื่อสอบปากคำ ก่อนที่ทั้งหมดจะถูกปล่อยตัวพร้อมเงื่อนไขที่มีมูลค่าสูงหลายล้านเหรียญสหรัฐเพื่อแลกกับอิสรภาพ
ถือเป็นความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับประเทศที่เคร่งครัดในหลักศาสนาอิสลามแห่งนี้ อีกทั้งยังคงสถานะความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มีบริบททางสังคมที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิสตรี ซึ่งแนวทางและมาตรการต่างๆ เหล่านี้ที่ดูมีความทันสมัยและเบนหาทางโลกมากยิ่งขึ้นอาจจะยิ่งส่งผลให้นักการศาสนาและกลุ่มกลุ่มสุดโต่ง ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าและทรงอิทธิพลภายในซาอุดีอาระเบียต้องออกมาเคลื่อนไหว และอาจส่งผลให้มิติต่างๆ ของประเทศนี้ขาดเสถียรภาพ ซึ่งแน่นอนว่าผลพวงจากการเมืองภายในประเทศนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่ประชาคมโลก รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่มากก็น้อย
สีจิ้นผิงพาจีนผงาด ท้าชิงมหาอำนาจของโลก
หน้าฉากเกมการเมืองของบรรดาผู้นำโลกยังคงเป็นสงครามเย็นกลายๆ ที่ต่างฝ่ายต่างสวมบทบาทในการชิงชัยเป็นมหาอำนาจลำดับต้นๆ ของโลก หากเทียบกระแสความนิยมในตัวประธานาธิบดีทั้ง 3 คนของจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ ดูเหมือนว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะเป็นคนที่ตกที่นั่งลำบากและได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลกมากที่สุด
ด้านนายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ดูเหมือนจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากพลเมืองแดนหมีขาว เพื่อลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกสมัยในเดือนมีนาคม ปี 2018
ในขณะที่ผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีนอย่างนายสีจิ้นผิง ก็มีภาพลักษณ์เชิงบวกในเวทีโลก อีกทั้งยังได้รับเสียงสนับสนุนและยกย่องจากชาวจีนในฐานะ ‘ผู้มีอำนาจสูงสุด’ ในรอบหลายทศวรรษ เทียบเท่ากับสุดยอดผู้นำตลอดกาลอย่างเหมาเจ๋อตุง และเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ทิ้งมรดกทางประวัติศาสตร์การเมืองไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะการมีแนวคิดและทฤษฎีทางการเมืองเป็นของตนเอง และตัวสีจิ้นผิงเองก็สร้างผลงานไว้มากมายตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยได้นำพาจีนไปสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ รวมถึงเดินหน้าผลักดันให้พญามังกรจีนพุ่งทะยานขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงอิทธิพลและน่าจับตามองมากที่สุดประเทศหนึ่งในประชาคมโลก
ทั้งยังมีความเป็นไปได้สูงมากที่นายสีจิ้นผิงจะได้รับมติให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนต่ออีก 1 สมัยในที่ประชุม ‘สภาประชาชนแห่งชาติ’ ที่จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้านี้ และจะนำพาจีนในอีกอย่างน้อย 5 ปีต่อจากนี้ให้เป็นจีนที่ใครต่อใครในประชาคมโลกก็ไม่อาจจะละสายตาไปจากประเทศนี้ได้เลย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงต่างประเทศตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ THE STANDARD ยกให้ภาพรวมต่างประเทศของปี 2017 เป็นปีแห่งความโกลาหลวุ่นวาย แม้จะมีเสียงตะโกนกู่ร้องด้วยความดีใจจากพี่น้องกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในหลายประเทศที่ประสบความเร็จในการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน รวมถึงทุกๆ ความสำเร็จและเรื่องราวน่ายินดีที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก แต่อย่างไรก็ตาม เสียงของพวกเขาเหล่านี้ก็อาจจะยังไม่ก้องกังวานเท่าเสียงระเบิด ไฟแห่งสงคราม เสียงสะอื้นไห้ และคราบน้ำตาของผู้คนมากมายที่ยังคงตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของความรุนแรงและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ ทั่วโลก
Photo: AFP
อ้างอิง:
- www.nti.org/analysis/articles/cns-north-korea-missile-test-database
- edition.cnn.com/2017/05/29/asia/north-korea-missile-tests/index.html
- www.unhcr.org/figures-at-a-glance.html
- www.hrw.org/world-report/2017
- www.aljazeera.com/news/2017/12/myanmar-guilty-genocide-rohingya-171205101012505.html
- unfccc.int/paris_agreement/items/9485.php