บ่อยครั้งที่ความก้าวหน้าหรือข่าวเทคโนโลยีมักถูกมองให้ไกลตัว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่สำหรับเหตุการณ์ในวงการเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นนับเฉพาะปี 2017 นี้ถือว่าผิดคาด เพราะหลายๆ เหตุการณ์ทำให้เราได้เห็นว่านวัตกรรมสุดล้ำเหล่านี้แนบชิดกับเรามากเพียงใด
THE STANDARD รวบรวมเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวสำคัญๆ ของวงการเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2017 ซึ่งเรายกให้เป็นปีแห่งการ ‘จับต้องได้’
เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกลงและหลากหลายขึ้น
ปี 2017 ความฝันการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า (EV: Electric Vehicle) ดูจะไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริงอีกต่อไปแล้ว เมื่อผู้ผลิตรถยนต์ออกมาเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก
เริ่มกันที่ Tesla สร้างความฮือฮาให้กับวงการยานยนต์ทั่วโลกครั้งใหญ่ตั้งแต่กลางปี เมื่อประกาศเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ 3 ในตระกูลอย่าง ‘Tesla Model 3’ รถยนต์ซีดาน 5 ที่นั่งสมรรถนะสูง ที่หั่นราคาให้ถูกลงจากรุ่นก่อนๆ เกือบเท่าตัว สนนราคาเริ่มต้นที่ 35,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 ล้านบาทเท่านั้น
ปลายปี Tesla เคลื่อนไหวอีกครั้ง ประกาศเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารวดเดียว 2 คัน ได้แก่ รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า ‘Tesla Semi’ ที่วิ่งได้ไกลกว่า 482-805 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ซึ่งทันทีที่เปิดให้สั่งจอง Tesla Semi ก็ได้รับออร์เดอร์ท่วมท้นจากทั้ง Walmart, บริษัทขนส่ง J.B.Hunt, บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ Anheuser-Busch และ Loblaw สโตร์ขายของชำในแคนาดา
ส่วนอีกคันเป็นรถพลังงานไฟฟ้าสปอร์ตสุดหรู 4 ที่นั่ง ‘Tesla Roadster’ ที่ทำอัตราเร่งจาก 0-96 กิโลเมตร ได้ในระยะเวลาแค่ 1.9 วินาที เร็วแรงกว่า Model 3 เกือบ 3 เท่าตัว! โดย Tesla ตั้งเป้าว่าจะนำ Roadster ออกจำหน่ายในปี 2020 สนนราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 2 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.5 ล้านบาท
ข้ามมาที่ Nissan ค่ายผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นกันบ้าง หลังผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ‘Nissan Leaf’ รุ่นแรกให้ผู้คนทั่วโลกได้ใช้งานกันตั้งแต่ปี 2010 ผ่านมา 7 ปี Nissan ก็ได้ฤกษ์ปรับโฉมรถยนต์ของพวกเขาครั้งใหม่
ปีนี้ Nissan เปิดตัว Nissan Leaf เจน 2 ที่วิ่งได้ไกลกว่า 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง มากกว่ารุ่นก่อนถึงเกือบเท่าตัว พร้อมกันนี้ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จํากัด ก็ได้นำ Nissan Leaf เจน 2 มาเปิดตัวในงาน Motor Expo เช่นกัน และแย้มว่าเร็วๆ นี้คนไทยอาจจะได้เป็นเจ้าของรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นล่าสุดนี้ในราคาที่จับต้องได้แน่นอน
ยานยนต์ไฟฟ้าจึงไม่ได้เป็นนวัตกรรมไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป แม้การนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อบวกลบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะยังมีราคาสูงลิ่วอยู่ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ค่ายรถยนต์เจ้าอื่นๆ หน่วยงานเอกชน ตลอดจนรัฐบาลไทยเห็นถึงความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากขึ้น
เพราะอย่าลืมว่าหลายประเทศ เช่น จีน, อินเดีย, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และสกอตแลนด์ ต่างก็ออกมาประกาศจุดยืนในการสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และจะเริ่มนโยบายแบนการใช้งานรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลในอีก 15-25 ปีข้างหน้า
อนาคตของการเดินทาง ‘แท็กซี่บินได้ ไฮเปอร์ลูป และจรวดขนส่งเชิงพาณิชย์’
ปี 2017 เราได้เห็นความก้าวหน้าของผู้พัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งและการคมนาคมรูปแบบใหม่ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก
แท็กซี่บินได้ หรือบริการยานพาหนะบินได้ คือหนึ่งในความก้าวหน้าและอนาคตของวงการคมนาคมอย่างแท้จริง โดยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา Lilium บริษัทสตาร์ทอัพในเยอรมนีได้พัฒนาเครื่องบินเจ็ตลำเล็กขนาด 2 ที่นั่งตัวต้นแบบบริการยานพาหนะบินได้ และประสบความสำเร็จในการทดสอบบิน
หลังจากนั้น Lilium ได้เดินหน้าพัฒนาเครื่องบินของพวกเขาเป็นขนาด 5 ที่นั่ง ก่อนที่จะได้รับการระดมทุนเพิ่ม 90 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนกันยายนที่ผ่านมา (Tencent บริษัทจากจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่) โดยตั้งเป้าจะพัฒนาเครื่องบินรับส่งผู้โดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้าลำนี้ให้ใช้ได้จริงในอนาคต
ด้าน ‘Voom’ ธุรกิจบริการรับ-ส่งผู้โดยสารด้วยเฮลิคอปเตอร์ก็เปิดให้บริการแล้วในเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
Uber ก็ได้เซ็นสัญญาร่วมกับ Airspace Management และ NASA แล้ว ก่อนเตรียมให้บริการ UberAIR ในปี 2020 ที่จะถึงนี้
สำหรับไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) หรือเทคโนโลยีการขนส่งความเร็วสูงผ่านท่อแรงดันสุญญากาศที่เคยเป็นแค่แนวคิดต้นแบบของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) นวัตกรมากความสามารถ มาในปีนี้เราได้เห็นความเป็นไปได้ของการเดินทางด้วยไฮเปอร์ลูปมากขึ้น
อย่างโครงการ Hyperloop One ที่ทดสอบวิ่งด้วยยานพ็อด ‘XP-1’ แบบไร้ปัญหาก็ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยทางผู้พัฒนาเตรียมจะเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานรัฐในหลายๆ ประเทศเพื่อหารือความเป็นไปได้ในการร่วมงานกัน
นอกจากนี้ HTT (Hyperloop Transportation Technologies) โครงการไฮเปอร์ลูปอีกแห่งจากสหรัฐฯ ก็บรรลุข้อตกลงร่วมกับประเทศอินเดียในการสร้างรางไฮเปอร์ลูปเชื่อมต่อเมืองวิเจยาวารา (Vijayawada) ไปยังเมืองอมรวดี (Amaravati) ระยะทาง 43.5 กิโลเมตร ที่จะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางจาก 1 ชั่วโมงเหลือเพียงแค่ 6 นาที
ฝั่ง SpaceX ผู้พัฒนาจรวดภายใต้การบริหารของมัสก์ก็ไม่น้อยหน้า หลังให้ Falcon 9 เดินหน้าปฏิบัติภารกิจและกลับคืนสู่ผืนโลกเพื่อปรับปรุงการใช้งานครั้งแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งเดือนกันยายน อีลอน มัสก์ ก็เปิดตัวโครงการเดินทางด้วยจรวดเชิงพาณิชย์ หรือ BFR (Big F***ing Rocket) ที่ทำความเร็วได้สูงสุด 27,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้บริการเดินทางระหว่างเมืองสู่เมืองทั่วโลกในระยะเวลาระหว่าง 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และในราคาที่ไม่หนีจากการเดินทางด้วยเครื่องบินมากนัก (ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดการเปิดให้บริการที่แน่ชัดออกมา)
‘แรนซัมแวร์ WannaCry และ Petya’ เมื่อไวรัสคอมพิวเตอร์ทำวงการธุรกิจทั่วโลกอัมพาต!
หมดยุคแล้วสำหรับไวรัสมุ่งเป้าโจมตีคอมพิวเตอร์แบบขำๆ เพียงไม่กี่เครื่องเพื่อหวังโจรกรรมข้อมูลเล็กน้อย เพราะปี 2017 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ไวรัสเรียกค่าไถ่อย่างแรนซัมแวร์ระบาดหนัก จนสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานรัฐและเอกชนทั่วโลกอย่างเลือดเย็น
เริ่มต้นที่ไวรัส ‘WannaCry’ ที่ระบาดเมื่อเดือนพฤษภาคม สร้างความเสียหายในวงกว้างทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากไวรัสชนิดนี้เน้นเจาะไปที่คอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์เป็นหลัก และยังสามารถแทรกซึมระหว่างคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันในโครงข่ายเดียวกันได้ด้วย โดยจะเน้นล็อกระบบและปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานแลกกับการจ่ายเงินเรียกค่าไถ่
ให้หลังเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น ไวรัสแรนซัมแวร์ชนิดเดียวกันอย่าง Petya ก็ออกระบาดอีกครั้ง (ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่าเป็นไวรัสชนิดใหม่ ไม่ใช่ Petya) คราวนี้สร้างความเสียหายไม่แพ้ครั้งก่อน หน่วยงานหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า ไม่ว่าจะบริษัทด้านพลังงาน สนามบิน ธนาคารกลาง และขนส่งสาธารณะในยูเครนและรัสเซียที่ชะงักตัวกลางคัน รวมถึง WPP บริษัทโฆษณารายใหญ่ในอังกฤษ เจ้าของบริษัทเอเจนซี JWT, Ogilvy & Mather, Young & Rubicam และ Grey และบริษัทธุรกิจรายอื่นๆ ทั่วโลกที่ต้องสั่งหยุดงานองค์กรชั่วคราว
ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ริชาร์ด คลาร์ก (Richard Clarke) ที่ปรึกษาด้านการจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ได้เดินทางมาแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘Cyber Security: Challenges and Opportunities in the Digital Economy’ ที่ประเทศไทย โดยบอกว่า ปัจจุบันผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำน้อยคนจะตระหนักถึงภัยคุกคามโลกไซเบอร์ เพราะเชื่อว่าแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นกับตน และไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่โต
นอกจากนี้ริชาร์ดยังกล่าวอีกด้วยว่า ประเทศไทยควรจะผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านความมั่นคงในโลกไซเบอร์ขึ้นมา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยร้ายเหล่านั้นที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยในอนาคต (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่)
เหตุการณ์ไวรัสเรียกค่าไถ่ในปีนี้จึงเป็นอีกหลักฐานที่ช่วยยืนยันว่าภัยไซเบอร์เป็นอันตรายที่อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ใครๆ ก็มีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อได้ไม่เว้นแม้แต่โรงพยาบาล หรือโรงเรียนอนุบาล
Galaxy Note และ Nokia 3310 คืนชีพในปีเดียวกับการฉลองครบรอบ 10 ปี iPhone
ปีนี้วงการโทรศัพท์มือถือและค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั่วโลกก็กลับมาแข่งขันกันดุเดือดอีกเช่นเคย
Samsung กลับมาทวงบัลลังก์เจ้าตลาดโทรศัพท์มือถืออีกครั้งด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนจอโค้งมน Samsung Galaxy S8 เมื่อเดือนเมษายน ตามมาด้วย Samsung Galaxy Note 8 ในเดือนสิงหาคมกับสมาร์ทโฟนกล้องเลนส์คู่พร้อมปากกาที่ครั้งนี้เคลมว่าไม่มีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ระเบิดแน่นอน!
Nokia ภายใต้การบริหารโดยบริษัท HMD Global ก็กลับมาลุยตลาดมือถืออีกครั้ง หลังระเห็จออกจากวงการไปพักใหญ่กับไมโครซอฟท์ โดยครั้งนี้โนเกียหยิบเอามือถือรุ่นเก่าเวอร์ชันจับปัดฝุ่นปรับปรุงใหม่ ‘Nokia 3310’ มาจำหน่ายอีกครั้ง และเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนวางจำหน่ายรุ่นรองรับสัญญาณ 3G เพิ่มเมื่อเดือนตุลาคม
Huawei แบรนด์โทรศัพท์มือถือจากจีนก็ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ได้อีกคำรบ เมื่อบริษัท Counterpoint Research เผยว่า พวกเขาทำยอดขายผลิตภัณฑ์เดือนมิถุนายนและกรกฎาคมปีนี้แซงหน้า Apple ขึ้นเป็นแบรนด์มือถืออันดับ 2 ต่อจาก Samsung ได้สำเร็จ โดยในปีนี้ Huawei ยังเปิดตัว P10 และ Mate10 ที่เพียบพร้อมด้วยชิปประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ออกมาอีกด้วย
ฝั่ง Oppo แบรนด์คู่แข่งโดยตรงของ Huawei จากจีนก็เปิดตัวสมาร์ทโฟนที่เคลมว่ากล้องหน้าทำงานคู่กับปัญญาประดิษฐ์ พร้อมระบบปลดล็อกด้วยใบหน้าในราคาที่จับต้องได้ โดยที่แบรนด์ฝั่งไทยยังได้ดึงตัว ณเดชน์ คูกิมิยะ นักแสดงชื่อดังมาร่วมโปรโมตอีกด้วย
ด้าน Google ก็เปิดตัว Pixel 2 สมาร์ทโฟนไร้ซิมเมื่อเดือนตุลาคม พร้อมๆ กับ Pixel Buds หูฟังผู้ช่วยแปลภาษาสุดอัจฉริยะที่พร้อมฟังแล้วแปลภาษาได้ครอบคลุมกว่า 40 ภาษาทันที
แต่ไฮไลต์เด่นสุดในปีนี้ที่แย่งซีนแบรนด์อื่นๆ ชนิดกลบสนิทไม้เว้นแม้แต่สมาร์ทโฟนแบรนด์ตัวเองที่ปล่อยออกมาไล่เลี่ยกันอย่าง iPhone 8 คือ iPhone X จากค่าย Apple สมาร์ทโฟนรุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 10 ปี iPhone ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน พร้อมกับการตัดปุ่มโฮมออก แล้วดีไซน์หน้าจอเครื่องแบบใหม่หมดจดเป็นหน้าจอไร้ขอบขนาด 5.8 นิ้ว เสริมทัพด้วยฟีเจอร์ Face ID ตรวจจับและปลดล็อกเครื่องด้วยใบหน้า กล้องหลังแนวตั้งเลนส์คู่ที่ความคมชัดขนาด 12 ล้านพิกเซล และลูกเล่นการรองรับเทคโนโลยี AR, VR เต็มรูปแบบ รวมถึง Animoji ที่ใครเห็นเป็นต้องหลงรัก
ผู้สันทัดกรณีในวงการโทรศัพท์มือถือหลายรายเชื่อว่าการปลดล็อกด้วยการสแกนใบหน้าจะกลายเป็นรูปแบบไบโอเมตริก (Biometric) ที่ผู้พัฒนามือถือทั่วโลกนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองมากขึ้น แม้ก่อนหน้านี้บางเจ้าจะเคยใช้เทคโนโลยีนี้อยู่แล้วแต่อาจจะไม่เป็นที่นิยมก็ตาม
เชื่อว่าปี 2018 ค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่าง Samsung, Huawei, Oppo และ Xiaomi อาจพิจารณานำเทคโนโลยีการปลดล็อกด้วยใบหน้าใส่ลงไปในสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงรุ่นใหม่ๆ ของพวกเขามากขึ้น
ในวันที่ประเทศไทยกำลังกลายเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
สังคมไร้เงินสดในเมืองไทยใกล้เข้ามาทุกขณะ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดตัว ‘Standard QR Code’ หรือ QR Code มาตรฐานกลางที่ใช้ในการทำธุรกรรมจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการต่างๆ โดยผูกเข้ากับพร้อมเพย์ (PromptPay) อีกทอดหนึ่งเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
นำร่องด้วย 5 ธนาคารชั้นนำอย่างธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารออมสิน ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินขั้นพื้นฐานของ Sandbox ทั้ง 5 ธนาคารไทยนี้สามารถทำ QR Code ให้กับผู้ใช้บัญชีของตนได้อย่างอิสระทั่วประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ช่วงนี้เราจะได้เห็นธนาคารแต่ละแห่งแข่งกันดุเดือดเพื่อช่วงชิงพื้นที่ในตลาด QR Code เป็นพิเศษ รวมทั้งยังผนึกกำลังการสร้าง awareness ความรับรู้ในการใช้งาน QR Code ในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง
ตอนนี้วินมอเตอร์ไซค์และแม่ค้า-พ่อค้าขายข้าวแกงหลายเจ้าก็เริ่มมี QR Code เป็นของตัวเองแล้ว
อำนาจของปัญญาประดิษฐ์ และการโต้เถียงกันระหว่างซักเคอร์เบิร์กและมัสก์
ในปีนี้มีเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในแวดวงปัญญาประดิษฐ์ (AI) พอสมควร
เริ่มด้วย ปัญญาประดิษฐ์ AlphaGo ของบริษัท DeepMind ที่ขยับเข้าใกล้ความเป็นอัจฉริยะเกมหมากล้อมเบอร์หนึ่งของโลกเข้าไปอีกขั้น หลังใช้ระยะเวลาแค่ 40 วันในการฝึกเล่นหมากล้อมด้วยตนเอง ก่อนเอาชนะ AlphaGo รุ่นเก่าๆ ที่เคยปราบเซียนโกะระดับโลกอย่าง เค่อเจี๋ย (Ke Jie) จากจีน และอีเซดอล (Lee Sedol) แบบราบคาบ
เท่ากับว่าปัญญาประดิษฐ์เซียนโกะรายนี้สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์อีกต่อไป!
แต่ที่ฮือฮาระดับโลกต้องยกให้กับซาอุดีอาระเบีย ที่เขย่าวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สั่นคลอนครั้งใหญ่ เมื่อประกาศมอบสถานะพลเมืองให้กับ ‘หุ่นยนต์’ เป็นประเทศแรกของโลก
โซเฟีย (Sophia) หุ่นยนต์รูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายมนุษย์ ผลงานการประดิษฐ์ของเดวิด แฮนสัน (David Hanson) ในนามบริษัท Hanson Robotics กลายเป็นจักรกลตัวแรกของโลกที่ได้รับสถานะพลเมืองจากประเทศซาอุดีอาระเบียภายในงาน Future Investment Initiative
จักรกลที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้กล่าวภายในงานว่า “ฉันอยากจะขอบคุณจักรพรรดิของซาอุดีอาระเบียมากๆ ฉันรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากๆ กับความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง”
ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลอย่างเห็นได้ชัด นำโดย อีลอน มัสก์ ที่ออกมาพูดกลางปีว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จำเป็นจะต้องถูกควบคุมโดยเร็ว เพราะพวกมันอาจเป็นภัยคุกคามต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ในอนาคต
“ปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นกรณีที่เราจำเป็นต้องรีบควบคุมสถานการณ์ทันที เพราะเมื่อใดที่มันเป็นประเด็นขึ้นมาก็สายเกินไปแล้ว และเป็นภัยเสี่ยงส่วนรวมของอารยธรรมมนุษย์” (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่)
สาเหตุที่มัสก์ถูกจักรกลปัญญาประดิษฐ์พูดถึง และลากไปเชื่อมโยงในประเด็นท่ี่เกี่ยวข้องกับ AI อยู่เสมอๆ ก็เพราะว่าตัวเขาเป็นคนในวงการเทคโนโลยีที่เลือกยืนอยู่ในฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แบบไร้การควบคุมและเชื่อว่ามันอาจเป็นกุญแจนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3
สอดคล้องกับความเห็นของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียที่เคยออกมาบอกว่า หากใครเป็นผู้นำวิทยาการปัญญาประดิษฐ์ก็อาจจะไร้เทียมทานถึงขั้นครองโลกนี้ได้เลย
อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่งสองผู้นำในวงการไอทีอย่างมัสก์และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook ก็เคยออกมาปะทะคารมกันเองในประเด็นการให้ความสำคัญต่อปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากซักเคอร์เบิร์กเชื่อว่าการทวนกระแสไม่ยอมพัฒนา AI ถือเป็นเรื่องที่ขาดความรับผิดชอบ
ในที่สุดแล้วปัญญาประดิษฐ์จะถูกนิยามเป็นภัยคุกคามที่แฝงเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างแยบคาย หรือเป็นเพียงแค่ผู้ช่วยแสนรู้ใจของเราที่ช่วยจัดสรรให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น คงต้องปล่อยให้เวลาและวิทยาการเป็นผู้หาคำตอบ