×

เปิดเบื้องหลังภารกิจ 20 ชั่วโมงตามหาครอบครัวครู-นักเรียน 23 ราย เหตุรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้

โดย THE STANDARD TEAM
05.10.2024
  • LOADING...
ไฟไหม้รถบัส

จากกรณีเหตุ ไฟไหม้ รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลา 12.30 น. ใกล้อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดีรังสิต ขาเข้า พื้นที่สถานีตำรวจภูธร (สภ.) คูคต จังหวัดปทุมธานี จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 23 ราย

 

หนึ่งในส่วนงานสำคัญที่ควรค่าแก่การพูดถึงคือทีมพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ที่นอกจากการเก็บรวมพยานหลักฐานเพื่อนำไปสู่การตามหาความจริงของความสูญเสียครั้งนี้ เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้คือผู้ที่จะยืนยันเอกลักษณ์ตัวตนของผู้เสียชีวิตให้ได้กลับคืนสู่ครอบครัวอันเป็นที่รัก

 

ทีมข่าว THE STANDARD ได้พูดคุยกับ พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (ผบช.สพฐ.ตร.) ในฐานะรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.พอ.ตร.) ถึงภารกิจครั้งนี้

 

ศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า วันที่เกิดเหตุหลังจากที่ลำเลียงร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 23 รายออกมาจากรถบัสที่เกิด ไฟไหม้ และส่งไปยัง ศปก.พอ.ตร. ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ตนเองได้ประเมินกรอบระยะเวลาในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลว่าจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 48 ชั่วโมง

 

แต่ด้วยการขับเคลื่อน ศปก.พอ.ตร. ที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเรียบร้อย ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและส่งมอบร่างผู้เสียชีวิตให้กับญาติสำเร็จภายในเวลาเพียง 27 ชั่วโมงเท่านั้น

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะถึงขั้นตอนการดำเนินการของ ศปก.พอ.ตร. ขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งคือการค้นหาผู้สูญหาย การลำเลียงร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 23 ราย รวมทั้งการร่วมชันสูตรระหว่างพนักงานสอบสวน, พิสูจน์หลักฐาน และแพทย์นิติเวช ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องขอบคุณกู้ภัยต่างๆ, มูลนิธิต่างๆ รวมทั้งจิตอาสาทุกคน ที่ได้ร่วมกันดำเนินการจนกระทั่งร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 23 รายถูกเคลื่อนย้ายไปยัง ศปก.พอ.ตร. ด้วยความเรียบร้อย

 

ศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลประกอบด้วย

 

  1. สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ
    • กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1
    • กลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1
    • กลุ่มงานตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
    • กลุ่มงานตรวจลายนิ้วมือแฝง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
    • กลุ่มงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล
    • งานพิมพ์ลายนิ้วมือศพ กองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.)

 

  1. โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งประกอบด้วย
    • สถาบันนิติเวชวิทยา
    • กลุ่มงานทันตกรรม

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย ทำให้กระบวนการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลทำได้อย่างรวดเร็วและแน่ชัดตั้งแต่ร่างแรกที่เข้ามาถึง ศปก.พอ.ตร. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 17.30 น.

 

20 ชั่วโมงกับภารกิจบีบหัวใจ

 

ด้าน พล.ต.ต. วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง กล่าวว่า ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 23 ราย เจ้าหน้าที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้ใช้เวลาตามจริงประมาณ 20 ชั่วโมงเท่านั้น แต่หากนับรวมจนจบขั้นตอนทางเอกสารและส่งมอบครอบครัวจะนับเป็น 27 ชั่วโมง

 

สำหรับการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลกรณีนี้ทีมพิสูจน์หลักฐานได้ใช้หลายวิธี เริ่มตั้งแต่

 

ส่วนที่หนึ่ง การสังเกตจากลักษณะทางกายภาพ คือ เจ้าหน้าที่จะพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลจากครอบครัวที่ตามหาผู้สูญหายให้ได้มากที่สุด เช่น เสื้อผ้า, รูปหน้า และทรงผมของผู้ที่สูญหาย ว่าลักษณะเป็นอย่างไร ในวันที่เกิดเหตุมีการสวมแหวน, สร้อย หรือนาฬิกาอะไรบ้าง ที่เป็นลักษณะเด่น ซึ่งบางรายในเคสที่ผ่านมาแค่พบแหวนแต่งงานก็จะช่วยยืนยันเบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ได้ทันที

 

ส่วนที่สอง การพิมพ์ลายนิ้วมือ พล.ต.ต. วาที ระบุว่า ปัจจุบันนี้การทำบัตรประชาชนเริ่มทำตั้งแต่เด็กอายุ 7 ขวบ เด็กที่ทำบัตรต้องพิมพ์นิ้วมือ ฉะนั้นกรมการปกครองจึงมีฐานข้อมูลส่วนนี้ ร่างไหนที่เจ้าหน้าที่เล็งเห็นว่าเก็บลายนิ้วมือได้ก็สามารถอ้างอิงข้อมูลในระบบได้ทันที จากเหตุการณ์นี้จากผู้สูญหาย 23 ราย เรายืนยันตัวบุคคลได้ทันที 10 ราย

 

ส่วนที่สาม การตรวจเลือดที่ยังอยู่ในร่างผู้เสียชีวิต แม้เคสนี้ผู้เสียชีวิตจะถูกไฟเผาส่วนต่างๆ ของร่างกายไปแทบทั้งหมดแล้ว แต่ยังมีเลือดที่เก็บได้จากอวัยวะภายใน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานสามารถเก็บตัวอย่างเลือดจากร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 23 ราย เพื่อนำไปเทียบกับเยื่อบุกระพุ้งแก้มของญาติสายตรง 23 ครอบครัว อีกทั้งปัจจุบันนี้เครื่องปั่นสกัด DNA สามารถทำงานได้ครั้งละ 24 ตัวอย่าง (ราย) ภายในเวลา 2 ชั่วโมง ทำให้ได้ผลเร็วขึ้น

 

พล.ต.ต. วาที กล่าวต่อว่า การตรวจ DNA หากเทียบกันในกลุ่มพ่อแม่ลูกความแม่นยำจะสูง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตามครอบครัวที่อยู่ใกล้เข้าเก็บ DNA ส่วนครอบครัวไหนที่อยู่ไกลก็อำนวยความสะดวกไปเก็บ DNA ถึงจังหวัดอุทัยธานีในคืนที่เกิดเหตุทันที และรีบเดินทางกลับมาที่ห้องปฏิบัติการที่กรุงเทพมหานคร

 

ทั้งนี้มีอีกรูปแบบในการตรวจเอกลักษณ์บุคคลนอกจากเลือด คือ ประวัติทันตกรรม ในเหตุการณ์ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ใช้กับร่างที่ 23 เนื่องจากพี่สาวของผู้เสียชีวิตเป็นพี่น้องต่างบิดากัน DNA จึงมีช่องว่างเล็กน้อย แต่หากพิจารณารูปแบบฟันหน้าจะเห็นความชัดเจนทันที เพราะร่างที่ 23 มีฟันกระต่ายแบบเฉพาะ ก่อนที่มารดาจะเดินทางมายืนยัน DNA ซ้ำอีกรอบ

 

“หน้าที่ของเราคือต้องเร่งคลี่คลายให้ครอบครัวผู้สูญเสียได้รู้ว่าคนไหนคือลูกหรือหลาน พวกเขาไม่สามารถรอให้ผ่าร่างในวันต่อไปได้ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือได้เจอครอบครัวของตัวเองให้เร็ว ครั้งนี้ถือเป็นภารกิจที่บีบหัวใจที่เราทุกคนทำกันด้วยหัวใจ” พล.ต.ต. วาที กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X