×

ย้อนรอย 1MDB คดีคอร์รัปชันข้ามชาติกระฉ่อนโลก ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป

24.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • คดีคอร์รัปชันในกองทุน 1MDB ของมาเลเซีย ได้กลายเป็นจุดจบบนถนนสายการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ซึ่งเวลานี้กำลังถูกดำเนินคดีในมาเลเซีย
  • มีตัวละครสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกองทุน 1MDB หลายคน หนึ่งในนั้นคือ โจ โลว์ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับลูกเลี้ยงของนาจิบ
  • มีความไม่ชอบมาพากลและเริ่มเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสของ 1MDB เมื่อพบว่ามีการซื้อขายที่ดินในหลายโครงการที่ไปลงทุน ที่ดินหลายแปลงที่ซื้อเป็นของหน่วยงานรัฐบาล เช่น สนามบิน Sungai Besi ที่ขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด
  • หนึ่งในการขุดคุ้ยของสื่อชั้นนำก็คือ การรายงานของ The Wall Street Journal ที่ระบุว่าเงินกองทุน 1MDB จำนวน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบ ที่เป็นบัญชีของธนาคาร AmBank โดยธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างปี 2011 ถึงปี 2013   

เรื่องราวความอื้อฉาวของคดีคอร์รัปชันในกองทุน 1MDB ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของพรรคอัมโนเมื่อปี 2018 และเป็นจุดจบบนถนนสายการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค นั้นได้กลายเป็นจุดสนใจ และประเด็นวิพากษ์ในสังคมไทย หลังรัฐบาลถูกกล่าวพาดพิงโดยอนาคตใหม่ว่ามีส่วนพัวพันกับการปกปิดคดีอื้อฉาวดังกล่าว

 

บทความนี้จะนำเสนอเรื่องราวบางส่วนที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีคอร์รัปชันอื้อฉาวในกองทุน 1MDB ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล องค์กรธุรกิจ และประเทศหลายประเทศ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีตัวละครมากมาย ผู้เขียนขอสรุปประเด็นสำคัญเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจในเบื้องต้น 

 

1MDB หรือ 1Malaysia Development Berhad เป็นบริษัทพัฒนากลยุทธ์ของรัฐบาลมาเลเซีย ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศ โดยแสวงหาความร่วมมือและส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

 

1MDB กับจุดเริ่มต้นที่ดูดีมีความร่วมมือทางธุรกิจกับหลายประเทศ

ความเป็นมาของ 1MDB นั้นเริ่มต้นมาจาก Terengganu Investment Authority (TIA) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวให้กับรัฐตรังกานู ก่อตั้งขึ้นในปี 2008 และต่อมาในเดือนมกราคม 2009 ได้ยกระดับเป็นบริษัทสังกัดรัฐบาลกลางใช้ชื่อว่า 1Malaysia Development Berhad (1MDB) ซึ่ง นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น กล่าวว่าการย้ายมาสังกัดรัฐบาลกลางนั้น มีจุดประสงค์เพื่อขยายบทบาทให้กว้างขึ้น และจะเกิดประโยชน์มากกว่าเมื่อเทียบกับการเป็นเพียงกองทุนระดับรัฐ และมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ด้านการพัฒนาพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว และธุรกิจการเกษตร

 

มาดูกันว่า 1MDB ได้ร่วมลงทุนกับชาติไหนแล้วบ้าง 

 

– กันยายน 2009 ลงนามกับ PetroSaudi International Limited ของซาอุดีอาระเบีย ร่วมลงทุน 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะนักลงทุนตะวันออกกลางมายังมาเลเซีย 

 

– มกราคม 2010 ลงนามร่วมทุนกับ State Grid Corporation of China (SGCC) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อลงทุนเกี่ยวกับโครงการพลังงานต่างๆ ใน Sarawak Renewable Energy Corridor (SCORE) และต่อมากลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในโครงการ SCORE

 

– มกราคม 2010 ลงนามร่วมทุนกับบริษัท Abu Dhabi Future Energy หรือที่รู้จักในชื่อ Masdar ของอาบูดาบี เพื่อลงทุนโครงการเทคโนโลยีสะอาด รวมถึงการสร้างเมืองปลอดคาร์บอนแห่งแรกในมาเลเซีย 

 

แต่ที่น่าสนใจจนกลายเป็นที่มาของการขุดคุ้ยการคอร์รัปชันครั้งประวัติศาสตร์ คือเมื่อพฤษภาคม 2010 1MDB ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทร่วมทุนกับ Qatar Investment Authority (QIA) ของกาตาร์ ในโครงการที่ชื่อว่า Bandar Malaysia เพื่อดำเนินโครงการพัฒนามูลค่าพันล้านริงกิตที่สนามบิน Sungai Besi กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ครอบคลุมพื้นที่ 162 เฮกตาร์ โดยวางแผนจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเงินอิสลาม ในเวลาเดียวกัน 1MDB และ QIA ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อการผลิตพลังงานและการลงทุนอย่างยั่งยืนในนิคมอุตสาหกรรม มูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

มีความไม่ชอบมาพากล และเริ่มเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสของ 1MDB เมื่อพบว่ามีการซื้อขายที่ดินในหลายโครงการที่ไปลงทุน ที่ดินหลายแปลงที่ซื้อเป็นของหน่วยงานรัฐบาล เช่น สนามบิน Sungai besi สังกัดกองทัพอากาศถูกขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐบาลขาดทุน ขณะเดียวกันมีการซื้อที่ดินของเอกชนบางรายในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง ต่อมาก็พบว่า 1MDB อยู่ในภาวะขาดทุนถึง 4,200 ล้านริงกิต 

 

ความอื้อฉาวและการขุดคุ้ย

ผู้ที่เริ่มขุดคุ้ยกรณีคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นใน 1MDB คือ เว็บไซต์ Sarawak Report โดยนักข่าวหญิง แคลร์ ริวคาสเซิล-บราวน์ (Clare Rewcastle-Brown) ผู้เป็นหลานสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ แห่งอังกฤษ, หนังสือพิมพ์ The Edge, The Wall Street Journal และ The New York Times

 

ในเดือนกรกฎาคม 2015 The Wall Street Journal เปิดเผยว่าเงินกองทุน 1MDB จำนวน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบ ตุน ราซัค ที่เป็นบัญชีของธนาคาร AmBank โดยธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างปี 2011 ถึงปี 2013

 

นาจิบได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาการคอร์รัปชันอย่างสิ้นเชิง และกล่าวว่าเป็นแผนการหนึ่งในการโค่นล้มรัฐบาลของเขา นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าเงินในบัญชีส่วนตัวดังกล่าวได้รับบริจาคจากสมาชิกคนหนึ่งของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย และนาจิบยังปลดรองนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยาสซิน ที่ขอให้เขาอธิบายถึงเรื่องนี้

 

จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดการชุมนุม Bersih 5 มีผู้คนนับแสนคนรวมทั้ง ตุน ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด เข้าร่วมด้วยเพื่อเรียกร้องให้นาจิบลาออก 

 

หลังจากนั้นไม่นาน เควิน โมไรส์ (Kevin Morais) รองอัยการสูงสุด ถูกลักพาตัวและอีก 12 วันต่อมาพบร่างที่เสียชีวิตของเขาในถังบรรจุซีเมนต์ ทางครอบครัวเขากล่าวว่า โมไรส์กำลังเตรียมจัดการกับคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับนาจิบ ก่อนที่เขาจะถูกลักพาตัว (เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา โมไรส์ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติด้านการต่อสู้กับการคอร์รัปชันจาก ตุน ดร.มหาเธร์ ถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม) 

 

ในเดือนมกราคม 2016 มีการสืบสวนจากอัยการสูงสุดคนใหม่ ผลปรากฏว่านาจิบพ้นข้อหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาว 1MDB

 

อย่างไรก็ตามประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ลักเซมเบิร์ก เกาะซีเชล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ รวมถึงกรณีการฟอกเงิน

 

ในเดือนกรกฎาคม 2016 กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ประกาศให้มีการยึดทรัพย์สินกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินทรัพย์ที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกจาก 1MDB เป็นกรณีการยึดทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด ทรัพย์สินที่ถูกยึด ได้แก่ เรือยอชต์ อพาร์ตเมนต์ที่เป็นของ ริซา อาซิซ (Riza Aziz) ลูกเลี้ยงของนาจิบ และเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่อง The Wolf of Wall Street ที่นำแสดงโดยลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ   ซึ่งเป็นหนังที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ด้วย

 

เอกสารจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อ้างถึงนามของ ‘Malaysian Official 1’ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินที่ถูกกล่าวหา แต่ไม่ได้ระบุชื่อจริงว่าคือผู้ใด นอกจากเป็นการกล่าวขานว่าเป็นบุคคลอาวุโสในรัฐบาลมาเลเซีย และญาติใกล้ชิดกับริซา อาซิซ

 

แม้ถูกโจมตีจากข้อกล่าวหาต่างๆ ในเรื่องคอร์รัปชันอื้อฉาวในกองทุน 1MDB แต่บทบาททางการเมืองของนาจิบยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั้งสิ้นสุดการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2018 เมื่อพรรคของเขาแพ้การเลือกตั้ง

 

ซาเวียร์ จัสโต, Sarawak Report, The Edge และคุกไทย

ซาเวียร์ จัสโต ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Petrosaudi ในกรุงลอนดอน และลาออกเมื่อปี 2011 หลังจากนั้นเขาปักหลักมาใช้ชีวิตในเมืองไทยโดยทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมที่เกาะสมุย 

 

วันที่ 22 มิถุนายน 2015 เขาถูกตำรวจไทยจับที่เกาะสมุยในข้อหาขู่กรรโชกทรัพย์บริษัท Petrosudi ที่เขาเคยทำงาน เขาถูกดำเนินคดีและจำคุกในไทย ที่น่าประหลาดใจคือ 6 เดือนก่อนที่จะถูกจับ เขาได้ส่งข้อมูลเอกสารนับพันชิ้น และอีเมลจำนวน 227,000 อีเมล ให้แก่ แคลร์ ริวคาสเซิล-บราวน์ นักข่าวคนดังเจ้าของเว็บไซต์ Sarawak Report และ The Edge ได้ตกลงซื้อข้อมูลของเขาที่กรุงเทพฯ เอกสารดังกล่าวมีการระบุถึงการโยกย้ายเงินจำนวนนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 1MDB ออกไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา จนเป็นที่มาให้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ต้องเข้ามาตรวจสอบการฟอกเงิน  

 

ในเดือนธันวาคม 2016 เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษและเดินทางมาอยู่มาเลเซีย และเดินหน้าเปิดโปงความอื้อฉาวของ 1MDB ต่อไป

 

โจ โลว์: Middle Man คนสำคัญที่ยังล่องหน

เมื่อพูดถึงความอื้อฉาวของ 1MBD บุคคลหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือ โจ โลว์ (Jho Low) มาทำความรู้จักกันนิดหนึ่งว่าเขาเป็นเป็นใคร 

 

เขาเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนจากรัฐปีนัง เกิดเมื่อปี 1982 (ตอนนี้อายุ 38 ปี) แต่ในช่วงที่ 1MDB ถูกเปิดโปงการคอร์รัปชันนั้น เขามีอายุเพียง 30 ต้นๆ เท่านั้น โลว์จบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนแฮร์โรว์ในอังกฤษ ต่อมาเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ที่นี่เขาเริ่มผูกสัมพันธ์สร้างมิตรกับคนมาเลเซียด้วยกันเอง และคนต่างชาติโดยเฉพาะลูกหลานคนรวย และคนในราชวงศ์ชาติอาหรับ รวมทั้ง ริซา อาซิซ ลูกเลี้ยงของนาจิบ ที่เขาได้ขายที่ดินและได้กำไรมหาศาล

 

ต่อมาโลว์ผันตัวเองเป็นนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ สร้างเงินให้เขากลายเป็นคนที่ร่ำรวยตั้งแต่อายุยังน้อย ครั้งหนึ่งเขาให้สัมภาษณ์กับ Wall Street Journal ว่า ปู่ของเขาได้กำไรมหาศาลจากการลงทุนในอุตสาหกรรมสุราของไทยในปี 2013 The Wall Street Journal ระบุว่าเขามีทรัพย์สินรวม 6,900 ล้านริงกิต

โจ โลว์ เริ่มเป็นที่สนใจของ The New York Times เมื่อเขาได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เช่น คอนโดมิเนียม Time Warner Center ซึ่งเคยเป็นของเจย์-ซี และบียอนเซ่ มูลค่า 120 ล้านริงกิต โดยใช้บริษัท Shelf เป็นผู้ซื้อ แต่ไม่พบว่าบริษัทนี้ประกอบกิจการอะไร เขาปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับ 1MDB แม้ว่าคนสนิทของเขาหลายคนจะเป็นผู้บริหารใน 1MDB ก็ตาม 

 

กุมภาพันธ์ 2017 บทความใน Sarawak Report ระบุว่า โจ โลว์ ได้ใช้ Petrosaudi ในการโยกย้ายเงินของ 1MDB และต่อมามีข้อเสนอที่จะซื้อกิจการของธนาคาร UBG Bank ของรัฐซาราวัก 

 

ปี 2018 หลังการเลือกตั้ง ทางการมาเลเซียออกหมายจับ โจ โลว์ และอีกหลายคนที่เกี่ยวข้อง แต่เขาหลบหนีโดยที่ทางการยังไม่สามารถจับกุมตัวได้จนถึงทุกวันนี้ สื่อมาเลเซียและสิงคโปร์ระบุว่าเขาเคยหลบซ่อนอยู่ในเกาะภูเก็ตของไทย และล่าสุดมีข่าวว่าได้หลบหนีมาอยู่ในเมืองอู่ฮั่นของจีนที่กำลังถูกปิดเมืองในขณะนี้ จากภาวะโรคระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

 

สำหรับตัวของนาจิบนั้น เวลานี้กำลังถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้นของมาเลเซีย ซึ่งน่าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อมีการสืบสาวราวเรื่องต่อก็ยิ่งน่าสนใจว่าจะพัวพันกับตัวละครอื่นอีกหรือไม่ และบทสรุปจะเป็นอย่างไรต่อไป 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising