เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา สถานทูตอังกฤษได้จัดการประชุมโต๊ะกลมแบบออนไลน์ (Virtual Roundtable Meeting) กับผู้บริหารธุรกิจสหราชอาณาจักรในไทย 15 บริษัท เพื่อพูดคุยถึงผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน เพื่อปรับตัวและฟื้นฟูธุรกิจให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)
จากผลสำรวจพบว่า กว่า 40% ของธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ต้องระงับหรือหยุดการดำเนินงาน ผลกระทบต่อธุรกิจในด้านต่างๆ มีดังนี้
– 76.5% เผชิญกับความท้าทายเนื่องจากสภาพการทำงาน
– 70.6% มียอดขายลดลง
– 41.2% เผชิญกับความท้าทายในการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน และผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต
– หนึ่งในสามของธุรกิจระบุว่า ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดกิจการและห้ามขายสินค้าตามมาตรการของรัฐบาลไทย
ระหว่างการประชุมมีการหยิบยกหลายประเด็นขึ้นมาหารือ ธุรกิจจำนวนมากมีความกังวลเกี่ยวกับการจ้างงานในภาคธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจการบิน บริการโรงแรม และธุรกิจค้าปลีก ผู้เข้าร่วมประชุมคาดการณ์ว่าธุรกิจเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ในการฟื้นตัวสู่ระดับที่เคยเป็นเมื่อปี 2562 ดังนั้น จึงมีข้อกังวลว่ามาตรการช่วยเหลือในปัจจุบันของรัฐบาลไทยอาจไม่เพียงพอสำหรับการรักษาสถานะการจ้างงานของแรงงานในภาคธุรกิจเหล่านี้ ที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัส
ผู้ผลิตสัญชาติอังกฤษในประเทศไทยต่างใช้มาตรการหลากหลาย เพื่อเยียวยาหรือลดผลกระทบต่อธุรกิจของตน รวมไปถึงการปิดศูนย์ตัวแทนจำหน่ายชั่วคราว ลดจำนวนการผลิต และเจรจาเพื่อลดการจ่ายเงินเดือน เพื่อให้สอดรับการความต้องการที่ลดลง
อย่างไรก็ตามพบว่า ยังมีบางธุรกิจที่ได้รับผลเชิงบวกจากสถานการณ์นี้ที่เห็นในระยะสั้น ตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อยคือ ยอดสั่งซื้อสินค้าของหนึ่งในบริษัทที่ร่วมการประชุมเพิ่มสูงขึ้นกว่า 150 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่ยังมีอยู่ แม้ธุรกิจในภาคการผลิตจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ทั้งผลต่อห่วงโซ่การผลิตและวิธีการขนส่งสินค้าในช่วงที่มีมาตรการปิดเมืองก็ตาม ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจยังมีโอกาสทำกำไร ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป
เมื่อมองถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง อันเป็นผลจากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น การปิดกิจการของผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จากการขาดสภาพคล่องเป็นเวลานาน รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง
ในประเด็นการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ตัวแทนธุรกิจอังกฤษเห็นว่า แม้ไทยจะต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ หลายด้าน เช่น การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากค่าแรงที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และการขาดทักษะด้านเทคโนโลยีของแรงงาน
แต่ไทยยังคงมีได้ข้อได้เปรียบในหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาก้าวหน้า โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องแข็งขัน รวมทั้งที่ตั้งของประเทศ ซึ่งเป็นทำเลยุทธศาสตร์อยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น หากรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนธุรกิจอย่างเหมาะสมทันท่วงที ประกอบกับมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานในระยะสั้น และมีการพัฒนาทักษะแรงงานในระยะยาว ตัวแทนธุรกิจอังกฤษก็เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะยังมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล