×

10 ปีในซานฟรานซิสโก และการกลับสู่เส้นทางดนตรีครั้งใหม่ของ นภ พรชำนิ

29.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • Situation-หมุนตามเธอไป คือซิงเกิลใหม่ครั้งแรกในรอบสิบปี ซึ่ง นภ พรชำนิ แต่งเพลงนี้ด้วยตัวเองทั้งหมด โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของคนรอบตัว และซิงเกิลนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานอัลบั้มเดี่ยวครั้งใหม่ของเขาในรูปแบบที่เติบโตขึ้นกว่าเดิม
  • จุดเริ่มต้นของอัลบั้ม Singin’ it with Smiles คือความรู้สึกแบบร้องไปยิ้มไป เปรียบเหมือนกับเนื้อเพลง Come Fly with Me ของแฟรงก์ ซินาตรา ที่ร้องว่า… Come fly with me and fly and fly again คือร้องเพลงอย่างมีความสุข ร้องไปยิ้มไป
  • Nop Ponchamni & The Groovetomatix-11 คือวงดนตรี Half Bigband 11 ชิ้น ที่เขาวางแผนไว้อย่างตั้งใจ ว่าจะใช้มันเดินทางไปทั่วประเทศทั้งเพื่อเปิดคอนเสิร์ตและร่วมเวิร์กช็อปทางดนตรีร่วมกับนักเรียนผู้สนใจดนตรีจากทั่วประเทศ

     ไม่กี่วันก่อนหน้างานแถลงข่าวเปิดตัว Situation-หมุนตามเธอไป ซิงเกิลใหม่ในรอบ 12 ปี พร้อมกับเปิดเผยถึงงานอัลบั้มเต็มชื่อ Singin’ it with Smiles และคอนเสิร์ตเดี่ยว The Story of Nop Ponchamni ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน

     THE STANDARD มีโอกาสนั่งคุยแบบยาวๆ กับ นภ พรชำนิ ซึ่งเขาเล่าพร้อมรอยยิ้มอุ่นๆ ว่าหลังจากใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตลอด 10 ปีที่ซานฟรานซิสโก ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาเริ่มต้นงานอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองอีกครั้งร่วมกับอีก 11 นักดนตรียอดฝีมือในชื่อ Nop Ponchamni & The Groovetomatix-11 สำคัญที่สุดคือมันเป็นการเดินทางครั้งใหม่ในช่วงวัย 45 ที่เขาวางแผนอย่างตั้งใจ ฝันใหญ่ และไกลกว่าทุกครั้ง เอาเป็นว่าเราจะแก้คิดถึงนภด้วยการอัพเดตว่าชีวิตที่ซานฟรานซิสโกเป็นอย่างไร ก่อนจะกลับมาที่งานอัลบั้มใหม่ ว่าพาร์ตที่สองของงานดนตรี เขามีเรื่องน่าตื่นเต้นแบบไหนมาฝากคนไทยบ้าง

 

 

1)

Life in San Francisco

 

อีกประมาณหนึ่งเดือนข้างหน้า นภ พรชำนิ จะกลับมาอยู่ยาวที่เมืองไทย หลังจากใช้ช่วงสิบปีที่ผ่านมาร่วมกับภรรยา เพลิน พรชำนิ อยู่ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา จากแผนการที่ตั้งใจว่าจะอยู่ต่างแดนเพียง 3 ปี กลายเป็นการอยู่ยาวระดับ 10 ปีที่เต็มไปด้วยโมเมนต์สำคัญในชีวิต

     “เดือนพฤศจิกายนนี้ผมกับภรรยาจะย้ายจากอเมริกากลับมาอยู่ที่เมืองไทย ส่วนกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสมัยใหม่ อย่างการดึงพี่ๆ น้องๆ คนไทยที่จัดกิจกรรมต่างๆ มารวมตัวกันให้เป็นองค์กร หวังว่าจะสร้างสภาวัฒนธรรมที่รวบรวมไว้ทั้งวัดไทย โรงเรียน ร้านอาหาร ค่ายมวย ร้านนวดแผน ฯลฯ ให้เกิดขึ้นเป็น ‘ไทย-เฟสติวัล’ ซึ่งผมเป็นหัวหน้าทีม ก็ตั้งใจว่าจะกลับไปช่วยทุกปี แต่ชีวิตส่วนใหญ่จะกลับมาอยู่เมืองไทยครับ”

 

แต่กว่าจะถึงจุดนั้น… นภเล่าย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ที่ต้องไปใช้ในต่างแดน หลังจากแต่งงานได้ไม่นาน

     “ย้อนกลับไปหลังจากผมแต่งงาน เพลินซึ่งเป็นภรรยาผม ตัดสินใจว่าจะไปเรียนต่อปริญญาโท ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ภาษาอังกฤษเรียกว่า children with special needs  ที่รวมไว้หมดเลยทั้งเด็กที่มีความพิการทางร่างกายหรือพิการทางสติปัญญา ฯลฯ ซึ่งที่เมืองไทยไม่มีเรียน ตอนนั้นเราก็รู้เลยว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปีแน่นอน  

     “ความจริงเพลินเขาจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่โด่งดังติด Top 10 ที่ไหนก็ได้ ผมเชื่อว่าเขาสามารถเข้าเรียนได้สบาย แต่ผมขอเขาไว้ เพราะมหาวิทยาลัยที่ดีติดอันดับท็อปมันอยู่ในรัฐที่ผมไม่อยากไปอยู่ ผมเลยขอเขาว่าเราพบกันคนละครึ่งทางได้ไหม (ยิ้ม) ขอเลือกเมืองที่เราอยากไปอยู่ดีกว่า เรื่องมหาวิทยาลัยช่างมันเหอะ ยูเรียนที่ไหนก็เก่งได้เหมือนกันแหละ

     “สุดท้ายผมเลยเลือกอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ส่วนเพลินไปลงเรียนที่ San Francisco State University ในสาขาที่เขาตั้งใจไว้

     “ระหว่างที่เขาเรียนและฝึกฝนตัวเอง ผมก็ทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการส่วนตัวที่คอยดูแลเรื่องโปรแกรมการเรียน การฝึกงาน และคอยวางแผนชีวิตให้กับเขาในช่วงแรกๆ เพราะตอนนั้นเพลินอายุเพิ่งจะ 24 ผมเองซึ่งมีประสบการณ์มากกว่าเขา 10 ปี คิดว่าพอจะแนะนำบางอย่างให้เขาได้

     “ที่สำคัญคือการมาอยู่ซานฟรานซิสโกเราจะได้ใช้ชีวิตด้วย เพราะมันเป็นเมืองที่เราชอบ ถ้าไปอยู่เมืองที่ไม่ชอบก็คงได้แค่เรียนอย่างเดียว แต่ไม่ได้ทำกิจกรรมอื่นๆ”  

 

 

จาก 3 ปี กลายเป็น 10 ปี

     “ตอนแรกคิดว่าคงจะ 3 ปี แล้วหลังจากนั้นจะกลับมาอยู่ที่เมืองไทย เพราะในระหว่างนั้นผมเองก็ทำธุรกิจคอนโดมิเนียมอยู่ที่เมืองไทยด้วย แล้วก็บินไปบินมา กลับมาช่วยพี่บอยทำค่ายเพลงเลิฟอีส

     “แต่พอเวลาผ่านไปจนครบ 3 ปีซึ่งรวดเร็วมาก ปรากฏว่าพอเพลินเรียนจบปริญญาโท เขาอยากเริ่มต้นฝึกงานและทำงานจริงๆ ‘ถ้างั้นยูทำงานก่อนก็ได้ อยู่ต่ออีกสักหน่อย’ เขาจะได้ฝึกตัวเอง ได้รู้วิธีการทำงานแบบโปรเฟสชันนัล ซึ่งค่อนข้างเป็นระบบกว่าบ้านเรา เช่น ยูจะต้องพาลูกไปวินิจฉัย จากนั้นทำเรื่องของบจากรัฐบาล  และส่งเขาไปโรงเรียนหรือเซนเตอร์ที่จะบอกกับผู้ปกครองมาเลยว่าเด็กจะต้องไปรับการดูแลกี่ชั่วโมงในหนึ่งอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน หน้าที่ของเพลินคือเข้าไปดูว่าเด็กคนที่เขารับผิดชอบจะต้องฝึกอะไรบ้าง ซึ่งเรียกว่า Individualized Education Program (IEP)

     “เพลินเขาก็เรียนรู้จากศูนย์เลยนะครับว่าวิธีการเทรนเด็กต้องทำอะไรบ้าง ที่สำคัญคือเขายังเรียนรู้ได้อย่างก้าวกระโดด เพราะเขามีมุมมองที่ต่างจากสเปเชียลิสต์คนอื่นๆ เนื่องจากฟิโลโซฟีของเพลินมาจากความเป็นคนไทย เขารู้สึกว่าการได้ช่วยเหลือเด็ก นั่นคือการช่วยเหลือให้เด็กได้ค้นหาสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ ไม่ใช่ว่ายูทำนี่สิ ทำนั่นสิ ฉะนั้นสิ่งที่เพลินทำจึงไม่ใช่การเทรนอย่างปกติที่เพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นทำ  

     “เพลินต้องการสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก และสร้างความไว้ใจให้กับเด็กก่อน พอเขาไว้ใจเขาก็จะเรียนรู้ไปกับเราได้ทุกเรื่อง กินอาหารก็เรียนรู้ได้ ทำอะไรก็เรียนรู้ได้ ถ้าเขาไว้ใจในตัวเรา

     “ฉะนั้นกับการทำงาน เพลินเติบโตอย่างก้าวกระโดดเลย เขากลายเป็นหัวหน้าทีมได้เร็ว เพราะเขามีวิธีการดูแลเด็กที่ต่างจากคนอื่น

     “ผมก็อยู่กับเพลินมาเรื่อยๆ จาก 3 ปี กลายเป็นปีที่ 4-5-6… จนตอนนี้เป็นปีที่ 10 แล้ว และก่อนที่เราตัดสินใจจะกลับมาอยู่เมืองไทย เพลินเรียนต่อปริญญาเอกไปพร้อมกับทำงานประจำด้วย ซึ่งเขาก็ค่อยๆ เติบโตจาก supervisor จนก้าวขึ้นเป็น director หมายถึง ‘ผู้อำนวยการ’ ให้กับโรงเรียนที่เขาทำงานเลยนะครับ”

 

 

เมื่อภรรยามีเส้นทางของตัวเอง เขาเริ่มค้นพบที่ทางของตัวเองที่ซานฟรานฯ นภเริ่มต้นงานกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคมด้านวัฒนธรรมไทยที่นั่น โดยเฉพาะงาน Thai Festival และล่าสุดถึงจะมีแผนกลับมาอยู่เมืองไทยแล้ว แต่เขาก็เดินทางไปสานต่องานสำคัญคือ The Legacy of the 9th คอนเสิร์ตการกุศล หาทุนในการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ร่วมกับชุมชนชาวไทยในซานฟรานซิสโก ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม ที่จะถึงนี้

     “จากตอนแรกที่ผมตั้งใจจะอยู่แค่ 3 ปี แต่พอทราบว่าเพลินจะเรียนต่อปริญญาเอก ซึ่งมันต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 ปีในการเรียน ผมก็เลยรู้ตัวแล้วว่าระหว่าง 6 ปีนี้ ผมจะต้องเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างให้เกิดประโยชน์ ผมเลยอยากทำงานเพื่อสังคมที่อเมริกาด้วย

     “ผมคิดแบบนั้นเลยเริ่มเข้าไปแนะนำตัวเองให้กับพี่ๆ น้องๆ ในสังคมคนไทยที่อาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโกได้รู้จักบ้าง ผมใช้เวลา 2 ปีเลยนะครับกว่าจะรวบรวมความร่วมมือร่วมใจของคนไทยที่นั่น จนเขามองเห็นว่าคุณนภตั้งใจเข้ามาช่วยจริงๆ อย่างไม่มี Hidden Agenda ไม่มีเรื่องธุรกิจ การเมือง สีเสื้อ ฯลฯ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว หลังจากที่บ้านเมืองเริ่มเข้าที่เข้าทาง ผมเริ่มรวบรวมน้องๆ คนไทยที่ไปเรียนอยู่ที่นั่น ทั้ง University of California, Berkeley / Stanford University และ University of California, Davis 3 มหาวิทยาลัยหลักที่อยู่รอบ ‘ซานฟรานซิสโกเบย์แอเรีย’ ซึ่งทั้งสามแห่งล้วนมีนักเรียนทุนไทยไปเรียนอยู่ และมีการตั้งสมาคมกันอยู่ที่นั่น

     “ผมเข้าไปเสนอตัวเลยว่าอยากจะมาช่วยรวบรวมน้องๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อจะจัดงานอะไรขึ้นสักอย่างให้ฝรั่งเข้ามาดูกิจกรรมไทย เดี๋ยวพี่จะมาช่วยร้องเพลงให้ พี่จะช่วยดึงสปอนเซอร์ที่อยู่ในซานฟรานซิสโกแล้วเรามาช่วยกันทำ

     “การที่เริ่มต้นเข้าไปคลุกคลีกับน้องๆ รุ่นใหม่ทำให้เห็นว่า modern thai culture เนี่ยโคตรดัง เพียงแต่ยังไม่มีคนทำให้มันเป็นกลุ่มก้อน เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำกิจการของตัวเอง บางคนทำร้านนวดไทย ร้านอาหารไทย ค่ายมวย ฯลฯ เราก็เลยเข้าไปเริ่มต้นทำ Thai Festival เข้าไปคุยกับสปอนเซอร์อย่างเบียร์สิงห์และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยเริ่มจากงานเล็กๆ พร้อมกับสร้างทีมและพาร์ตเนอร์ ผู้ใหญ่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสมาคมไทย วัดไทย ก็พอจะทราบแล้วว่าผมทำอะไรบางอย่างร่วมกับนักเรียนไทยอยู่ที่นั่น

     “จนกระทั่งถึงช่วงกลางปีที่แล้ว มีคนติดต่อเข้ามาว่าอยากจะจัดงานเฉลิมพระเกียรติถวายในหลวง ในวโรกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี ขอให้ผมเข้าไปช่วยหน่อย ซึ่งผมเองก็ยินดีมาก แต่บังเอิญว่าเกิดการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขึ้นเสียก่อน ทุกคนในกลุ่มผู้จัดงานจึงต้องเปลี่ยนแผน เราปรึกษากันภายในวันเดียวเลยว่า ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวพวกเรากลุ่มคนไทยนัดไปรวมตัวกัน โดยอาศัยจากคอนเน็กชันของผมและช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก จนคนมารวมตัวกันเป็นพันภายในเวลาไม่เกิน 11 ชั่วโมง

     “คืนนั้นเรานัดรวมตัวกันตอน 5 ทุ่ม ผมยังช็อกอยู่เลยว่าทุกคนออกมากันเยอะมาก มืดฟ้ามัวดิน ทั้งที่พระองค์ท่านเพิ่งจากเราไปเมื่อตอนช่วงเช้าของซานฟรานซิสโก ซึ่งตรงกับกลางคืนของที่เมืองไทย

     “ผมยังจำได้อยู่เลยว่าตอนไปจอดรถ ผมคุยกับเพลินว่าทำยังไงดี เพราะไม่ได้แจ้งตำรวจไว้ด้วย สำหรับที่นู่นการออกมาชุมนุมกันถือเป็นเรื่องใหญ่มาก การจะออกมารวมตัวกันเกินร้อยคนนั่นหมายความว่ายูจะต้องมีตำรวจมาเฝ้า แต่นี่มากันเยอะมาก แล้วผมเองเป็นคนไปเรียกเขามา แต่พอเราเดินเข้าไปถึงจุดนัดหมาย โอ้โห บรรรยากาศมันเศร้ามาก ร้องไห้สะอึกสะอื้น เพราะทุกคนรักพระองค์ท่านจริงๆ โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ต่างแดน ซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยได้มีโอกาสแสดงความรักกับพระองค์ท่าน บรรยากาศในเวลานั้นเลยเหมือนกับเรามีพ่อคนเดียวกัน พอเห็นหน้ากันเอง คนหนึ่งตาแดงๆ คนหนึ่งกำลังร้องไห้ มันจึงเกิดความรู้สึกร่วม แล้วหลังจากเราทำกิจกรรมทุกอย่างจนเสร็จ ผมถึงรู้ว่าพลังความรักนั้นมีอยู่จริง  

     “สุดท้ายแล้วผมเลยกลายเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดงานเกี่ยวกับพระองค์ท่านมาตลอดทั้งปี โดยใช้ชื่อว่า The Legacy of the 9th ซึ่งกำลังจะมีคอนเสิร์ตการกุศล หาทุนในการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ร่วมกับชุมชนชาวไทยในซานฟรานซิสโก วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคมนี้”

 

 

2)

Nop Ponchamni & The Groovetomatix-11

อัลบั้มเดี่ยวที่เป็นมากกว่าอัลบั้มเดี่ยว แต่มันคือการเดินทางบนความฝันทางดนตรีระยะยาว

 

นภ พรชำนิ ยื่นมือถือมาให้ดู… บนน้าจอคือคลิปการเล่นดนตรีร่วมกันครั้งแรกๆ ระหว่างเขาและนักดนตรีอีก 11 ชีวิต ที่ต่อมากลายเป็นวง The Groovetomatix-11 วงดนตรี Half Bigband 11 ชิ้น ที่เขาวางแผนไว้อย่างตั้งใจ ฝันใหญ่ และไกลกว่าทุกครั้งที่เคย

     “บทบาทของนักดนตรี ผมถือว่าทุกคนเป็นเกสต์ของผมทั้งหมด เพราะทุกคนล้วนแต่เป็นอาจารย์ทางดนตรีที่มีลูกศิษย์ เพราะฉะนั้นการวางตัวของเขาในวง The Groovetomatix-11 ที่เริ่มรวมตัวกันมาใกล้จะครบปีแล้ว มันคือจุดเริ่มต้นของอัลบั้ม Singin’ it with Smiles คือความรู้สึกแบบร้องไปยิ้มไป คำว่า Singin’ it with Smiles ก็เหมือนกับท่อนที่ร้องว่า… Come fly with me and fly and fly again ในเพลง Come Fly with Me ของ แฟรงก์ ซินาตรา เลยครับ คือร้องเพลงอย่างมีความสุข ร้องไปยิ้มไป

     “ในส่วนพาร์ตดนตรีของอัลบั้มนี้จะมีความเป็นบิ๊กแบนด์ มีความเป็นแจ๊ซ แต่ผมจะไม่ทำให้มันเป็นแจ๊ซที่คนรู้สึกฟังยาก ผมต้องการให้มันเป็นป๊อป ให้มีความรู้สึกร้องตามได้ เข้าถึงง่าย ไม่ใช่ว่าต้องปีนบันไดฟัง และด้วยความที่องค์ประกอบของวงที่ใช้เครื่องดนตรี 11 ชิ้นเป็นหลัก เราเลยตั้งชื่อวงว่า The Groovetomatix-11 ซึ่งผมตั้งใจไว้เลยว่าจะใช้วงนี้ในการขับเคลื่อนงานดนตรีในวง 1-2 ปีข้างหน้านี้

     “เราจะทำอัลบั้ม Singin’ it with Smiles ด้วยกัน เราจะทำคอนเสิร์ตใหญ่ The Story of Nop Ponchamni ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วยกัน นอกจากนี้เราจะร่วมออกทัวร์ด้วยกันตลอดทั้งปีหน้า ซึ่งผมตั้งใจว่าเราจะทัวร์ไปทั่วประเทศเลย”

 

 

เป้าหมายที่ฝันไกล ฝันใหญ่ แต่ทำเพื่ออนาคตของคนดนตรี

      “ด้วยความที่สมาชิกทุกคนของ The Groovetomatix-11 เป็นอาจารย์กันหมด เพราะฉะนั้นแทนที่จะเล่นคอนเสิร์ตกันเฉยๆ เราอาจจะไปก่อนล่วงหน้าหนึ่งวัน สมมติว่าเราไปเล่นดนตรีที่เชียงใหม่ ที่เชียงใหม่มีวงโยธวาทิตกี่วง เราจะเชิญมาหมดแล้วให้อาจารย์เหล่านี้ได้เทรนให้นักเรียนทุกคน อาจารย์ที่เล่นตำแหน่งแซกโซโฟนก็ไปทำเวิร์กช็อปกับนักเรียนที่เป่าแซกโซโฟน เอาโน้ตของเราไปให้เล่น พอถึงตอนเย็นก็มาร่วมแจมกันกับวง เชิญพ่อแม่มาดูฝีมือลูกตัวเองด้วย แล้วคิดดูสิ นักดนตรีเป็นร้อยคนมาเล่นร่วมกัน มันจะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้รุ่นน้องได้อีกมากมายเลย

     “ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันได้ความรู้สึกร่วมที่เห็นว่าคนในท้องถิ่นกับศิลปินที่เป็นตัวแทนของประเทศได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วพอถึงช่วงจบคอนเสิร์ต ผมจะฝากคำพูดทิ้งไว้ว่า ‘ปีหน้าผมจะกลับมาอีกนะครับ’ เรากลับมาเล่นดนตรีด้วยกัน มาทำกิจกรรมด้วยกัน มาช่วยเหลือสังคมด้วยกันเหมือนเดิม และผมตั้งใจว่าจะทำแบบนี้ไปตลอด ไม่ใช่ว่าจะทำแค่หนึ่งปีหรือสองปี

     “ส่วนเพลงที่ใช้เล่น ก็จะมีเพลงใหม่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ อย่างเช่นในปีแรก ผมตั้งใจจะเลือกจากเพลงที่ชอบก่อน เช่นเพลง ‘ใคร’ ของป๊อด-ธนชัย อุชชิน หรือเพลง ‘ความคิด’ ของแสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข แล้วนำมา rearrange ใหม่ในรูปแบบบิ๊กแบนด์ จากนั้นพอถึงปีถัดไป ถ้ามีเพลงไหนที่ผมชอบแล้วอยากเล่น ผมจะไปขอกับเจ้าของเพลงมาทำเพิ่มอีกเพื่อใช้เล่นร่วมไปกับวง นั่นเป็นความฝันของผม”

 

Situation-หมุนตามเธอไป ซิงเกิลแรกในรอบ 10 ปี

     “ผมเริ่มต้นการทำงานจากการฟอร์มทีม Nop Ponchamni & The Groovetomatix-11 แต่สำหรับคนฟังเพลงของผม เพลง หมุนตามเธอไป คือซิงเกิลแรกในรอบ 12 ปีนับตั้งแต่ผมหยุดการทำงานเดี่ยวไป

     “สำหรับเนื้อเพลงมันเป็นการเขียนเพลงแบบใหม่ เพราะเป็นเรื่องแต่ง ที่ตอนทำพาร์ตดนตรีผมรู้สึกเศร้า และมันไม่มีทิศทางดี ผมล่องลอย เคว้งคว้าง ผมก็เลยเอาคำว่า ‘เคว้งคว้าง’ มาเป็นจุดเริ่มต้นในการเขียนเนื้อร้อง

     “เรื่องพวกนี้ผ่านเข้ามาในชีวิตของคนรอบข้างผมตลอดเลย แต่ผมกลับไม่เคยเจอเรื่องพวกนี้ด้วยตัวเอง สุดท้ายมันกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากเขียนเรื่องนี้ เราไม่ได้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ แต่เขียนขึ้นจากจากเฝ้ามอง โดยไม่ได้จะลำเอียงว่าตัวละครต้องเลือกอะไร และไม่มีใครผิดใครถูก

     “สถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ถูกต้องคือการที่คนหนึ่งควรต้องเลิกกับคนหนึ่ง แล้วถึงค่อยมาคบกับอีกคนหนึ่ง ไม่มีแบบนี้ เพราะผมไม่ได้อยากจะตัดสิน แต่ผมมองว่า โอ้โห มันเศร้าว่ะที่ความรักมันเป็นไปไม่ได้ ความรักมันเกิดขึ้นเมื่อสายเกินไป เรามาเจอกันช้าเกินไป ผมว่าถ้ามองข้ามเรื่องใครถูกใครผิด มองข้ามเรื่องศีลธรรม ความจริงมันโรแมนติกมากเลย โอ๊ยตาย เราดันมาตกหลุมรักคนหนึ่งคนในช่วงเวลาที่สายเกินไป หลงรักเขาในวันที่อีกฝ่ายมีเจ้าของไปแล้ว”  

 

แนวทางดนตรีที่จะใช้เดินทางต่อไปนับจากนี้

     “ดนตรีในเพลง Situation-หมุนตามเธอไป คือแนวทางดนตรีของผมที่จะใช้เดินทางกับเฟสต่อไปในฐานะที่เป็นโซโล่อัลบั้ม ผมถึงเลือกเพลงนี้เป็นซิงเกิลแรก ทุกเพลงในอัลบั้มและคอนเสิร์ตของ Nop Ponchamni & The Groovetomatix-11 ก็จะเป็นแบบนี้ คือรวมไปด้วยองค์ประกอบของเครื่องดนตรี 11 ชิ้น มันมีความเป็นแจ๊ซ แต่ก็มีความเป็นป๊อป มีความโมเดิร์นและอีกหลายสิ่งหลายอย่างผสมอยู่ด้วย

     “ผมคิดว่าองค์ประกอบนี้แหละ คือสูตรทางดนตรีที่ผมจะใช้เดินทางต่อไปในยุคต่อจากนี้ ผมจะเล่นดนตรีที่ไม่โชว์ออฟจนเกินไป หรือถ้าจะมีพาร์ตโชว์บ้าง แต่สุดท้ายแล้วต้องกลับมาป๊อป คนฟังคือจุดศูนย์กลางของเพลงผมเสมอ ที่ผ่านมาตลอด 45 ปีที่ผมโตมา ยังไม่มีเพลงไทยเพลงไหนทำหน้าที่นี้ ผมอยากให้เพลงของผมทำหน้าที่ในแง่ความสุนทรีในการใช้ชีวิตให้กับคนไทย

     “เหมือนตอนที่ผมทำ P.O.P ตอนนั้นทำเพราะว่าอยากทำเพลงป๊อปที่เป็นสไตล์แบบนั้น คือป๊อปกลมกล่อม มีเมโลดีที่สวยงาม แต่นั่นคือปี 1998 ซึ่งผ่านมาเกือบจะ 20 ปีแล้ว ในตอนนี้ทุกคนก็ทำเพลงป๊อปแบบนั้นหมดแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีแจ๊ซป๊อปที่ผสมบัลลาด ผสมความ sentimental ซึ่งผมก็ตั้งใจมากว่าจะทำตรงนี้ให้เกิดขึ้น”

 

 

คอนเสิร์ตใหญ่ The Story of Nop Ponchamni

     “ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่จะรู้จักผมผ่านผลงานต่างๆ อยู่ที่ว่าผมจะนำเสนออะไรออกมาให้ทุกคนได้ฟัง แต่ครั้งนี้ผมพาแก๊ง The Groovetomatix-11 มาด้วย รับรองว่าคนฟังจะไม่เคยได้ยินเพลงและเห็นโชว์แบบนี้ของผม ก่อนหน้านี้พวกเราอาจจะไปขึ้นโชว์ตามงานต่างๆ มาบ้าง แต่ในวันนั้นมันจะต้องได้อรรถรสที่สนุกขึ้น โชว์จะต้องขยี้มากไปกว่าเดิม แล้วพอเราเล่นคอนเสิร์ตในวันที่ 18 และ 19 พฤศจิกายนเสร็จ เราก็จะยกโชว์นี้ไปเล่นต่อทุกที่ทั่วประเทศ

     จนถึงปีหน้าถ้ามีคอนเสิร์ตใหญ่อีกเมื่อไหร่ พวกเราก็รวมหัวกันใหม่ rearrange มันใหม่ ให้มันได้อีกมิติ อัพเกรดขึ้นเรื่อยๆ และถ้าโชคดีมีคนซื้อโชว์เยอะๆ เราอาจจะเพิ่มนักดนตรีเป็น 15 คนแล้วกลายเป็นวง The Groovetomatix-15 แทนก็มีความเป็นไปได้”

FYI
  • คอนเสิร์ตใหญ่ The Story of Nop Ponchamni จะเกิดขึ้น 2 รอบในวันที่ 18 และ 19 พฤศจิกายนนี้ ที่ GMM Live House, CentralWorld, Bangkok เปิดขายบัตรวันแรกวันเสาร์ที่ 30 กันยายนนี้ ทาง Thai Ticket Major ทุกสาขา

 

 

  • สมาชิกทั้ง 11 คนของ The Groovetomatix-11 ประกอบด้วย
    Piano: ภูดินันท์ ดีสวัสดิ์มงคล (หัวหน้าวง)
    Trumpet 1: สิริวุฒิ โมพิมาย
    Trumpet 2: พีรพัฒน์ บัวนิลเจริญ
    Percussions: ณัฐวุฒิ ลี้กุล
    Drums: จีรวัฒน์ แสงอนันต์
    Bass: วีระวงศ์ วรรณวิจิตร
    Guitar: ธีรเดช หุนสนอง
    Trombone: จิรธิติกานต์ เหมสุวรรณ์
    Alto Saxophone 1: รณชัย นุชจิระสุวรรณ
    Alto Saxophone 2: อรรณวิน เกิดที่สุด
    Tenor Saxophone: ณัฐพล เฟื่องอักษร
  • ซิงเกิล 2 ที่จะตามออกมามีชื่อเพลงว่า ‘เจลา’ เป็นเพลงในจังหวะสวิงแจ๊ซ ซึ่งมีที่มาจากชื่อเล่นและเรื่องของ ‘เจลา’ เด็กวัย 3 ขวบที่มีอาการ ‘ดาวน์ซินโดรม’ โดยกำเนิด ซึ่งเป็นหลานสาวของนภและเพลิน
    นภร่วมแต่งเพลงนี้กับบอย โกสิยพงษ์ เพื่อเป็นการแทนคำขอบคุณจากน้องเจลาส่งไปถึงผู้ใหญ่ใจดีรอบตัวที่ให้ความรัก พร้อมที่จะเรียนรู้ และยอมรับในทุกสิ่งที่เจลาเป็น
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X