อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.612% เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ทำสถิติแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี จากปัจจัยด้านราคาพลังงานที่ขยับปรับขึ้นอย่างมาก จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ย่ำแย่ลง จนกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงไว้นานกว่าที่คาด
ก่อนหน้านี้ในวันอังคารที่ 26 กันยายน บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ขยับขึ้นสู่ระดับ 4.566% ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ก็ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5.139% ด้วยเช่นกัน
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า คำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2% สวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์ที่สำรวจโดย Dow Jones คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.5% ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ในเดือนสิงหาคมและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกันยายนออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับการที่ Fed ออกมาส่งสัญญาณเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ จนกว่าปัญหาเงินเฟ้อจะคลี่คลาย นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่นักลงทุนต่างจับตามองเป็นพิเศษ เช่น กรณีชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยขณะนี้บรรดานักวิเคราะห์รวมถึงสถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือต่างออกโรงเตือนว่า การปล่อยให้เกิดการชัตดาวน์จะส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ
โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา Moody’s ได้ออกมาเตือนว่าการชัตดาวน์จะทำให้เครดิตความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ เสียหายอย่างหนัก ขณะที่ทาง Wells Fargo ตั้งข้อสังเกตว่าอาจทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับลดลงได้
ด้านดัชนีหุ้นทั่วโลกปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27 กันยายน) แบบผสมผสาน ท่ามกลางการซื้อขายที่ค่อนข้างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
Irene Tunkel หัวหน้านักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ประจำศูนย์วิจัย BCA ประเมินว่าราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถือเป็น “ความเลวร้าย 3 เท่าสำหรับหุ้นสหรัฐฯ” เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยน่ากังวลเพิ่มขึ้นจากการผละงานประท้วงครั้งใหญ่ของบรรดากลุ่มสหภาพแรงงานยานยนต์ ไปจนถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการชัตดาวน์รัฐบาลสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
Steven Wieting หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของ Citi Global Wealth กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนเต็มไปด้วยปัจจัยที่ต้องกังวลมากมาย และความผันผวนของตลาดตราสารหนี้กำลังทะลักเข้าสู่ตลาดหุ้น
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทสหรัฐฯ ปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27 กันยายน) แบบผสมผสาน โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปรับตัวลง 68.61 จุด หรือ 0.2% ปิดที่ 33,550.27 จุด, ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.98 จุด หรือ 0.02% ปิดที่ 4,274.51, ดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 29.24 จุด หรือ 0.22% ปิดที่ 13,092.85 จุด และดัชนี STOXX 600 ของยุโรปลดลง 0.18%
อ้างอิง: