×

คีตานุสรณ์แห่งความสูญเสีย: 10 บทเพลงที่อุทิศให้บุคคลอันเป็นที่รักผู้ล่วงลับ

11.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • เอริก แคลปตัน เคยกล่าวไว้ว่าดนตรีเป็นเครื่องเยียวยาทางจิตใจให้เขาได้เสมอ การระบายผ่านบทเพลงสามารถฟื้นฟูความเศร้าหมองจนเขามีเรี่ยวแรงที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ ในกรณีของ Tears in Heaven ก็เช่นกัน
  • เพลง Mother ถูกเขียนขึ้นมาในช่วงที่จอห์น เลนนอน เข้ารับการบำบัดทางจิตเวชด้วยวิธีที่เรียกว่า Primal Scream Therapy โดยมีกรรมวิธีคือให้ผู้เข้ารับการบำบัดย้อนรำลึกถึงอดีตอันเจ็บปวดและระบายออกมาด้วยการกรีดร้องตะโกนอย่างรุนแรงเพื่อลดทอนความก้าวร้าวที่สั่งสมอยู่ในตัวมาตั้งแต่เด็ก
  • เพลง Gone Too Soon ได้เปรียบเทียบชีวิตของคนอันเป็นที่รักที่ต้องด่วนจากไป เป็นเหมือนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาแสดงความงดงามเพียงชั่วครั้ง ให้ความสุขแก่ผู้พบเห็นเพียงชั่วคราว แล้วก็ลาลับไปอย่างชั่วกาล

     ความตายเป็นสิ่งสาธารณะ มีไว้สำหรับทุกคน ไม่ต้องมีบัตรคนจนหรือรถสปอร์ตก็ไม่รอดพ้นสักราย และมีบริการส่งถึงทุกที่ ไม่มีบิดพลิ้ว ไม่ว่าจะอยู่คอนโดฯ ติดรถไฟฟ้า หรือกลางทะเลทรายที่ไกลเกินสัญญาณ 4G ถือเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจภาคพื้นดินในฐานะมนุษย์โลก

     ตายแล้วไปไหน? เป็นคำถามที่ยากเกินกว่าคนเป็นอย่างเราจะประเมิน แต่สิ่งที่ไม่ได้ถูกเผาไหม้เป็นเถ้าถ่านสลายไปในผืนดินก็คือคุณงามความดีที่ฝากไว้ให้คนรอบข้างได้จดจำ ในเมื่อความทรงจำนั้นต้องอาศัยพื้นที่ในกายเนื้อเป็นฐานเก็บข้อมูล ซึ่งก็ย่อมมีวันเสื่อมไปตามกาลเช่นกัน จึงมีการบันทึกความทรงจำเหล่านี้ลงในรูปแบบอื่นๆ ตั้งแต่รูปถ่ายเล็กๆในกระเป๋าสตางค์ไปจนถึงอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ ตามแต่วาระโอกาส

     ศิลปินนักดนตรีอาจไม่มีความรู้เรื่องวัสดุหรือโครงสร้างที่จะก่อร่างวางเสาขึ้นมาเป็นอนุสรณ์สถานได้ แต่ศาสตร์ที่เขาถนัดที่สุดก็สามารถนำมาใช้สร้างอนุสาวรีย์ทางโสตประสาทที่ยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้กัน เมื่อเอาจังหวะเป็นฐานราก ใช้ตัวโน้ตเป็นคานตง แล้วบรรจุความอาลัยต่อผู้ที่จากไปเป็นเนื้อเพลง

     กรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายคราในประวัติศาสตร์ดนตรีป๊อป เราอาจเคยได้ยินบางเพลงผ่านหูมาบ้างแล้วก็ได้ แต่หากเราได้รู้ที่มาของบทเพลงเหล่านั้น การฟังครั้งต่อไปอาจเป็นประสบการณ์ใหม่ให้เราได้รับรู้สาส์นแห่งคีตานุสรณ์ที่แฝงอยู่ในนั้นอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

 

Photo: www.express.co.uk

 

  1. Elton John: Candle in the Wind (1997)

     อุบัติเหตุไม่เคยปรานีใคร และไม่เว้นแม้ฐานันดรศักดิ์ใดๆ การจากไปของเจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1997 เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่นำความเศร้าโศกมาสู่พสกนิกรชาวอังกฤษ และเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เนื่องจากเจ้าหญิงไดอานานั้นทรงเป็นที่รักของชาวอังกฤษจากการอุทิศตนให้กับงานการกุศลเพื่อสังคม และทรงเป็นหนึ่งในบุคคลที่สื่อมวลชนอังกฤษคอยติดตามและนำเสนอข่าวมากที่สุด ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนพระองค์ ไลฟ์สไตล์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความเป็นสไตล์ไอคอน ผู้นำแฟชั่นของผู้หญิงทั้งโลกในยุคนั้น

     การสูญเสียในครั้งนั้นได้สร้างความกระทบกระเทือนทางจิตใจให้กับ เอลตัน จอห์น ศิลปิน นักแต่งเพลงชื่อดัง และพระสหายคนสนิทของเจ้าหญิงไดอานาเป็นอย่างมาก เพลง Candle in the Wind ที่เคยออกมาในปี 1973 จึงถูกนำกลับขึ้นมาเรียบเรียงและแก้ไขเนื้อเพลงใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวชีวิตของเจ้าหญิงไดอานาอย่างจำเพาะเจาะจง และทำการบันทึกเสียงใหม่ทั้งหมดเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่พระองค์ เป็นเหมือนการกล่าวไว้อาลัยโดยชาวอังกฤษทั้งชาติ

     ความพิเศษที่สุดของเพลงเวอร์ชันนี้คือ เอลตันเลือกที่จะทำการแสดงเพลงนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือในพระราชพิธีพระศพของเจ้าหญิงไดอานาที่วิหารเวสมินสเตอร์ กรุงลอนดอน เพื่อเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายให้กับพระองค์ และถึงแม้ว่าจะถูกเรียกร้องให้ทำการแสดงอีกหลายครั้งหลายคราในหลายๆ โอกาส แต่เอลตันก็ได้ปฏิเสธทุกครั้งไป โดยได้ตั้งข้อแม้ว่าเขาจะนำเพลงนี้มาทำการแสดงอีกครั้งก็ต่อเมื่อเป็นคำขอจากพระโอรสของเจ้าหญิงไดอานาเท่านั้น นั่นก็คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีนั่นเอง

     เอลตันได้กล่าวถึงการแสดงเพลงนี้ในครั้งนั้นว่า “มันช่างเป็นความรู้สึกที่เหนือจริง ผมต้องตั้งสติและเตือนตัวเองตลอดเวลาว่าอย่าร้องผิดโน้ตนะ และควบคุมอารมณ์เข้าไว้ ทำให้ดีที่สุด อย่าร้องไห้หรือแสดงความโศกเศร้าออกมา อันจะพาให้การแสดงล่มได้” และสุดท้ายการแสดงก็เป็นไปอย่างราบรื่น เจ้าชายแฮร์รีได้ตรัสถึงการแสดงครั้งนั้นว่า มันช่างซาบซึ้งเจ็บปวดราวกับมีใครยิงลูกศรมาที่พระทัยของพระองค์จนต้องใช้ความอดทนอย่างสูงที่จะกลั้นน้ำตาไว้ ไม่ให้ทรงกันแสงต่อหน้าสาธารณชน

     หลังจากพระราชพิธีพระศพไม่นาน ในปีเดียวกันนั้นเอง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้พระราชทานตำแหน่ง ‘เซอร์’ ให้กับเอลตัน จอห์น เนื่องด้วยมิตรภาพอันยาวนานกับราชวงศ์อังกฤษ และการให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจหลังจากเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนั้นนั่นเอง นอกจากนี้เอลตันยังได้รับรางวัลแกรมมี่สาขาศิลปินชายยอดเยี่ยมในปี 1997 จากเพลง Candle in the Wind นี้ด้วย

     ในวันครบรอบ 20 ปีการจากไปของเจ้าหญิงไดอานาในปี 2017 เซอร์ เอลตัน จอห์น ได้โพสต์รูปถ่ายที่แสดงความสนิทสนมระหว่างเขากับพระองค์ลงในอินสตาแกรมส่วนตัว และเขียนคำบรรยายใต้ภาพว่า “20 years ago today, the world lost an angel” (วันนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว โลกได้สูญเสียเทพธิดาไป) และในรายการสารคดีเรื่องเจ้าหญิงไดอานา ทางช่อง HBO ท่านเซอร์ได้ไปพูดคุยออกอากาศกับเจ้าชายแฮร์รี เขากล่าวว่า “เจ้าหญิงไดอานาทรงมีพระปรีชาสามารถพิเศษอย่างหนึ่งที่น่าทึ่ง ซึ่งผมไม่ค่อยได้พบเจอในบุคคลอื่น นั่นก็คือพระองค์ทำให้ผู้คนรอบข้างรู้สึกดีได้เสมอ พระองค์สามารถเดินเข้ามาในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนและเหมือนมีพลังวิเศษที่ทำให้ผู้คนทั้งห้องนั้นมีความสุขได้อย่างทันทีทันใด” และท่านเซอร์ได้ทิ้งท้ายว่า “และคุณสมบัติข้อนี้ก็ได้ถูกถ่ายทอดมาสู่เจ้าชายแฮร์รี พระโอรสพระองค์เล็กอีกด้วย”

 

 

Photo: fatherhoodchannel.com

 

  1. Eric Clapton: Tears in Heaven (1992)

     อารมณ์และความรู้สึกล้วนๆ เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศที่ เอริก แคลปตัน นักร้อง นักแต่งเพลง และกีตาร์ฮีโร่คนดังมักจะหยิบมาใช้ในการสร้างผลงานอยู่เสมอ แม้กระทั่งเรื่องราวความหลงใหลได้ปลื้มในตัวภรรยาของเพื่อนสนิทอย่างจอร์จ แฮร์ริสัน แห่งวง The Beatles จนพรั่งพรูออกมาเป็นเพลง Layla และในที่สุดก็ได้ภรรยาของเพื่อนมาเป็นภรรยาของตนเองจนได้ ให้ตายเถอะ

     แต่นั่นไม่ใช่ความรักครั้งสุดท้ายของแคลปตัน เขาได้หย่าร้างและมีความรักครั้งใหม่อีกสองครั้งสองครา จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อแคลปตันได้สัมผัสกับความรักในอีกรูปแบบที่ยิ่งใหญ่และแสนบริสุทธิ์ นั่นก็คือความรักในฐานะพ่อที่มีต่อลูกชาย คอเนอร์ แคลปตัน ความรักครั้งนี้ดำเนินมาได้เพียง 4 ปี หนูน้อยคอเนอร์ก็ประสบอุบัติเหตุพลัดตกลงมาจากหน้าต่างห้องนอนในคอนโดมิเนียมชั้น 53 และเสียชีวิตในทันที วันนั้นเองหัวใจของผู้เป็นพ่อก็ได้แตกสลายยับเยินไปพร้อมกับร่างกายของลูกน้อย หลังจากนั้นเขาก็เลือกที่จะเก็บตัวอยู่เงียบๆ คนเดียวพักใหญ่เพื่อเยียวยาบาดแผลลึกในจิตใจ

     เมื่อเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง แคลปตันได้กลับมาพร้อมกับบทเพลงอันทรงพลังที่เรียกได้ว่ากรีดเลือดกรีดเนื้อเขียนมันทั้งน้ำตาเพื่ออุทิศให้กับลูกชายสุดที่รักผู้ล่วงลับ นั่นก็คือเพลง Tears in Heaven นั่นเอง

 

“Would you know my name, if I saw you in heaven?

Would it be the same, if I saw you in heaven?

I must be strong and carry on

‘Cause I know I don’t belong here in heaven”

 

“เธอจะยังจำฉันได้ไหม หากเราได้พบกันบนสรวงสวรรค์

ทุกอย่างจะเป็นเหมือนเดิมไหม เมื่อเราได้เจอกันข้างบนนั้น

ในวันนี้ฉันเองต้องเข้มแข็งและสู้ดำเนินฝ่าฟัน

เพราะมันยังไม่ถึงเวลาของฉันที่จะก้าวขึ้นไปบนนั้นเพื่อพบเจอ”

 

     อานุภาพของ Tears in Heaven บีบคั้นหัวใจคนทั้งโลกให้เศร้าไปตามๆ กันได้ไม่ยาก เพราะทุกคนต่างก็มีคนรักที่ต้องถูกพรากไปด้วยความตายไม่วาระใดก็วาระหนึ่ง แคลปตันได้รับรางวัลแกรมมี่ในปี 1993 จากเพลงนี้ถึง 6 สาขา ด้วยการเข้าชิงทั้งหมด 9 สาขา และรางวัลที่ได้นั้นรวมถึงรางวัลใหญ่อย่าง Record of the Year, Song of the Year และ Best Male Pop Vocal อีกด้วย

     แคลปตันเคยกล่าวไว้ว่าดนตรีเป็นเครื่องเยียวยาทางจิตใจให้เขาได้เสมอ การระบายผ่านบทเพลงสามารถฟื้นฟูความเศร้าหมองจนเขามีเรี่ยวแรงที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ ในกรณีของ Tears in Heaven ก็เช่นกัน เขาได้ถอดเพลงนี้ออกจากรายชื่อเพลงสำหรับการแสดงคอนเสิร์ตตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา โดยให้เหตุผลว่าอารมณ์และความรู้สึกเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ทำให้เขาแสดงเพลงนี้ได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เขาเข้มแข็งพอและสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ เขาจึงไม่สามารถมีอารมณ์ร่วมที่จะถ่ายทอดเพลงนี้ออกมาได้อย่างซาบซึ้งกินใจเท่าเมื่อก่อน และเขาเองก็ไม่ต้องการให้ความรู้สึกเจ็บปวดนั้นย้อนกลับมาอีกด้วย  

 

 

Photo: i.pinimg.com

 

  1. Greenday: Wake Me Up When September Ends (2005)

     ถึงแม้ว่า บิลลี่ โจ อาร์มสตรอง นักร้องนำของวงจะบ้าบิ่นสุดกู่กับการแสดงอันสุดมันเพียงใด แต่นายคนนี้ก็มีมุมอ่อนไหวได้เหมือนกัน บิลลี่พลัดพรากจากพ่อตั้งแต่เขาอายุได้เพียง 10 ขวบโดยมัจจุราชที่มีชื่อว่ามะเร็ง การสูญเสียในครั้งนั้นนับว่ายิ่งใหญ่เกินกว่าที่เด็กน้อยในวัยนั้นจะทำใจรับไหว และเหตุการณ์นั้นเองที่เป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้าซึ่งติดตัวบิลลี่มาจนถึงปัจจุบัน

     วันแห่งความสูญเสียนั้นเป็นวันที่ 1 กันยายน 1982 บิลลี่จดจำได้เป็นอย่างดีว่าเจ้าหนูน้อยในวันนั้นร้องไห้ราวกับฟ้าถล่มดินทลาย และวิ่งหนีความจริงจากงานศพของพ่อกลับมาที่บ้านเพื่อขังตัวเองอยู่ในห้องนอนเพียงลำพัง หลังจากนั้นแม่ของบิลลี่ได้กลับมาที่บ้านและเคาะประตูเรียก ด้วยความที่เด็กน้อยยังไม่สามารถรับความจริงได้ ทำได้เพียงหลับหูหลับตาหลอกตัวเอง ไม่รับรู้เรื่องราวอันใด บิลลี่ตะโกนผ่านประตูห้องนอนออกมาตอบรับว่า “Wake me up when September ends” (ค่อยมาปลุกผมอีกทีตอนสิ้นเดือนกันยายนนะ) เจ้าหนูบิลลี่คงอยากให้เดือนอันเลวร้ายนั้นผ่านพ้นไปในชั่วเวลานอนหลับเพียงหนึ่งตื่น และสามารถใช้ชีวิตต่อได้ตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

     และประโยคนี้เองที่บิลลี่นำมาต่อยอดแต่งออกมาเป็นเพลงนี้ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หลังจากเหตุการณ์นั้นได้ผ่านไปแล้ว 20 ปี เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงความเจ็บปวดจากการสูญเสียพ่ออย่างตรงไปตรงมา มีตอนหนึ่งที่บิลลี่ร้องว่า “Like my father has come to pass, 7 years has gone so fast” และเมื่อเขาร้องท่อนนี้ซ้ำอีกครั้งในตอนท้ายเพลง เนื้อเพลงได้ถูกปรับนิดหน่อยเป็น “Like my father has come to pass, 20 years has gone so fast” 7 ปี กับ 20 ปี มีนัยสำคัญอย่างไรในการกล่าวถึง?

     บิลลี่เฉลยว่า 7 ปีคือระยะเวลานับจากวันที่พ่อจากไปจนถึงวันที่เขาได้ตั้งวง Greenday กับเพื่อนๆ ซึ่งถือเป็นย่างก้าวสำคัญของเขา และ 20 ปีก็คือระยะเวลาที่พ่อเสียชีวิตจนถึงวันที่เขาเขียนเพลงนี้ขึ้นมานั่นเอง

     ในฐานะลูก เขาคงอยากให้พ่อได้รับรู้ถึงความสำเร็จอันสง่างามของตนไม่น้อย เพื่อให้พ่อได้ภูมิใจและรู้สึกหมดห่วง นั่นเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่อย่างที่ลูกพอจะตอบแทนบุพการีได้ น่าเสียดายที่พ่อของบิลลี่ไม่ได้มีอายุยืนยาวพอที่จะได้เห็นลูกชายของตนบรรเลงเพลงร็อกสุดมันต่อหน้าแฟนเพลงนับหมื่นนับแสนทั่วโลก

 

 

Photo: www.siriusxm.ca/jeff-sammut-john-lennon/

 

  1. John Lennon: Mother (1970)

     จอห์น เลนนอน หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของวงในตำนานอย่าง The Beatles ได้แต่งเพลงนี้ขึ้นมาจากวัยเด็กอันขมขื่นของเขาเอง อันมีสาเหตุมาจากครอบครัวที่แตกแยก โดยพ่อของจอห์นได้ทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่เขายังแบเบาะ และด้วยเคราะห์กรรมซ้ำร้าย จอห์นยังต้องสูญเสียแม่ไปในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยแม่ของจอห์นถูกรถชนเสียชีวิตในขณะที่เขามีอายุได้เพียง 17 ปี

     เพลง Mother ถูกเขียนขึ้นมาในช่วงที่จอห์นเข้ารับการบำบัดทางจิตเวชด้วยวิธีที่เรียกว่า Primal Scream Therapy โดยมีกรรมวิธีคือให้ผู้เข้ารับการบำบัดย้อนรำลึกถึงอดีตอันเจ็บปวดและระบายออกมาด้วยการกรีดร้องตะโกนอย่างรุนแรงเพื่อลดทอนความก้าวร้าวที่สั่งสมอยู่ในตัวมาตั้งแต่เด็ก จอห์นเลือกที่จะใช้เสียงกรีดร้องนั้นบรรจุเข้าไปในเพลงด้วย เสียงกรีดร้องของจอห์นที่ปรากฏอยู่ในช่วงท้ายของเพลงราวกับเป็นเสียงสะท้อนจากวัยเด็กที่โหยหาความรักจากครอบครัวด้วยความเจ็บปวดฝังใจอย่างสุดแสน “Mama don’t go, Daddy come home” เขาแผดร้องประโยคนี้วนไปวนมาด้วยความรวดร้าวจนกระทั่งเพลงจบลง

     “Mother, you had me but I never had you.” “Father, you left me but I never left you.” การระบายความสูญเสียออกมาเป็นบทเพลงอาจเป็นขุมพลังที่จอห์นค้นพบในตัวเอง ให้สามารถทรงตัวอยู่บนโลกใบนี้ได้จนถึงวาระสุดท้ายที่กระสุนปืนได้ฝังเข้าไปในร่างของเขาโดยน้ำมือของแฟนเพลงคนหนึ่งในปี 1980

 

 

Photo: twitter.com/liamgallagher/status/787757884880855040

 

  1. Oasis: Live Forever (1994)

     นี่เป็นปฐมบทของตำนานสองศรีพี่น้องอหังการท้านรกแห่งตระกูลกัลลาเกอร์ ถึงแม้ว่าการเขียนเพลงของ โนล กัลลาเกอร์ จะไหลไปเรื่อยตามปากกาพาไปบ้างจนเป็นที่งงงวยของผู้ฟังว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร และโนลเองก็เคยออกมายอมรับว่า หลายครั้งหลายคราที่เขาใส่บางคำเข้าไปในเพลงก็เพราะเขาแค่ชอบคำเหล่านั้นเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น แต่ในที่สุดแล้วเขาก็สามารถหาจุดกางล้อแตะพื้นรันเวย์สำหรับซิงเกิลที่ 3 ของวงอย่างเพลง Live Forever จนได้

     ไอเดียแรกเริ่มของโนลคือเมื่อเขาได้ฟังเพลง I Hate Myself and Want to Die โดย Nirvana ซึ่งเขียนโดยเคิร์ต โคเบน ผู้ล่วงลับ และออกความเห็นว่าเจ้าเคิร์ตมันมีพร้อมทุกอย่างแล้ว แต่มันยังหดหู่และอยากตาย (โนลคงไม่รู้จักโรคซึมเศร้า) ขณะที่เขาเองในขณะนั้นยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยสักอย่าง แต่กลับรู้สึกว่าการที่ได้ตื่นมาในตอนเช้าวันใหม่ทุกครั้งเป็นความรู้สึกที่สุดยอดแล้ว เด็กๆ ไม่ควรจะได้ฟังเพลงที่ดำมืดแบบนี้นะ โนลเลยเกิดไอเดียที่จะเขียนเพลงที่มีความหมายในแง่บวกขึ้นมาจนเขาสามารถเบ่ง Live Forever ออกจากง่ามสมองได้ในที่สุด

     เพลงนี้เป็นการอุทิศให้เหล่าศิลปินระดับตำนานผู้ล่วงลับ โดยเฉพาะจอห์น เลนนอน ที่เป็นฮีโร่ตลอดกาลของสองพี่น้องกัลลาเกอร์ โดยทางวงเลือกรูปถ่ายบ้านในวัยเด็กของจอห์นมาเป็นปกซิงเกิลและถ่ายทำมิวสิกวิดีโอกันที่ Strawberry Fields Memorial ในเซ็นทรัลพาร์ก กรุงนิวยอร์ก ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่อุทิศให้กับจอห์น เลนนอน นั่นเอง ส่วนมิวสิกวิดิโอในอีกเวอร์ชันหนึ่งที่ใช้สำหรับเผยแพร่ในอเมริกานั้นก็เป็นภาพของวงที่กำลังบรรเลงเพลงอยู่ในห้องที่ฝาผนังถูกประดับด้วยรูปของเหล่าตำนานผู้ล่วงลับอย่าง ซิด วิเชียส, เคิร์ต โคเบน, จิม มอร์ริสัน, จอห์น เลนนอน, ไบรอัน โจนส์, จิมมี่ เฮนดริกซ์, มาร์ค โบแลน และบ็อบบี้ มัวร์

     นอกจากนี้ในคอนเสิร์ตใหญ่ของ Oasis เมื่อปี 2000 ที่เวมบลีย์ สเตเดียม ยังมีการฉายภาพของจอห์น เลนนอน บนมอนิเตอร์จอยักษ์ประกอบการแสดงเพลงนี้อีกด้วย เพื่อแสดงความคารวะต่อบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจสูงสุดให้กับคณะดนตรีปากเสียที่ชื่อ Oasis

 

 

Photo: www.fanpop.com

 

  1. Michael Jackson: Gone Too Soon (1993)

     ไมเคิล แจ็คสัน ได้อุทิศเพลง Gone Too Soon ให้กับไรอัน ไวต์ เพื่อนรักต่างวัยที่ต้องลาโลกไปด้วยการติดเชื้อเอชไอวี เด็กชายไรอันต้องออกจากโรงเรียนเพราะเหล่าผู้ปกครองและนักเรียนต่างก็รังเกียจและเกรงกลัวว่าจะติดเชื้อร้าย เนื่องจากในสมัยนั้นยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการติดต่อของโรคเอดส์อยู่มาก หลังออกจากโรงเรียน ไมเคิลได้เชิญไรอันและแม่ของเขามาอยู่ที่เนเวอร์แลนด์ บ้านพักและสวนสนุกส่วนตัวของเขาจนทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน นับเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขสำหรับไรอัน ทำให้ไรอันมีอายุยืนยาวกว่าที่แพทย์ได้คาดคะเนไว้ถึง 5 ปี จากนั้นจึงเสียชีวิตลง

     เดิมทีเพลง Gone Too Soon เคยถูกขับร้องโดยดิออน วอร์วิก เพื่อเป็นการอุทิศให้กับเหล่าศิลปินผู้ล่วงลับ ซึ่งไมเคิลเองก็เป็นหนึ่งในผู้ชมการแสดงครั้งนั้นและซาบซึ้งใจจนถึงขั้นเสียน้ำตา เขาจึงหมายมั่นปั้นมือว่าสักวันหนึ่งจะต้องนำเพลงนี้มาร้องในอัลบั้มของตนเองให้ได้ และในที่สุดเพลงนี้ในเวอร์ชันของไมเคิลก็ได้ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้ม Dangerous และได้ออกเป็นซิงเกิลเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 1993 ซึ่งเป็นวันเอดส์โลก เพื่ออุทิศให้กับไรอันเพื่อนรัก นอกจากนั้นในมิวสิกวิดีโอของเพลงนี้ยังเป็นการรวมภาพฟุตเทจของช่วงเวลาดีๆ ระหว่างไมเคิลกับไรอันอีกด้วย

     เพลง Gone Too Soon ได้เปรียบเทียบชีวิตของคนอันเป็นที่รักที่ต้องด่วนจากไป เป็นเหมือนปรากฏการณ์ที่ได้เกิดขึ้นมาแสดงความงดงามเพียงชั่วครั้ง ให้ความสุขแก่ผู้พบเห็นเพียงชั่วคราว แล้วก็ลาลับไปอย่างชั่วกาล อย่างเช่น ดาวตก สายรุ้ง ดอกไม้ และปราสาททราย

     ในขณะที่ไมเคิลกำลังถ่ายทอดเพลงนี้ เขาคงไม่รู้ว่าในอนาคตต่อมาเขาเองก็เป็นบุคคลที่เข้าข่ายเหมือนในเพลง Gone Too Soon เช่นกัน เพลงนี้ได้ถูกใช้อีกครั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงไมเคิลที่เสียชีวิตลงในปี 2009 ด้วยวัยเพียง 50 ปี ในช่วงเวลาที่เขากำลังเตรียมการสำหรับคอนเสิร์ตใหญ่ที่สุดท้ายแล้วต้องมีอันยกเลิกไป เป็นการปิดตำนานของราชาเพลงป๊อปอย่างน่าเสียดาย

 

 

Photo: www.google.co.th

 

  1. The Script: If You Could See Me Now (2013)

     ในวันแจกสมุดพกเมื่อครั้งยังเด็ก ผลจากการตั้งใจร่ำเรียน ไม่ลอกการบ้านมาตลอดทั้งเทอมย่อมมีผลลัพธ์เป็นเกรดอันสวยหรู และแน่นอน คนแรกๆ ที่เด็กน้อยขี้เห่ออยากจะเอาผลงานไปอวดก็คือพ่อกับแม่นั่นเอง เผลอๆ อาจจะได้เกมตลับใหม่เป็นรางวัลตอบแทนด้วยสิ

     แต่ทว่าในชีวิตจริง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสนั้น สำหรับบางคน นอกจากจะไม่ได้เกมตลับใหม่แล้วยังไม่มีโอกาสแม้แต่จะอวดผลงานความสำเร็จของตัวเองให้กับพ่อแม่ให้ท่านได้ชื่นใจเลยสักนิด ทางออกของ แดนนี่ โอ โดโนฮิว และ มาร์ค ชีฮาน แห่งวง The Script ก็คือบรรยายมันออกมาเป็นเพลงซะเลย อะไรที่อยากอวดท่าน อะไรที่อยากถามท่านก็พ่นออกมาให้พรั่งพรูในบทเพลงนี่แหละ

     เพลง If You Could See Me Now ถูกแต่งขึ้นมาเพื่ออุทิศให้พ่อของแดนนี่ และทั้งพ่อและแม่ของมาร์คที่ได้เสียชีวิตไปก่อนที่จะมีโอกาสได้เห็นลูกชายกับพรรคพวกวง The Script โลดแล่นอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ อย่างน่าเสียดาย

 

 

Photo: www.fanpop.com

 

  1. Puff Daddy & Faith Evans Feat. 112: I’ll Be Missing You (1997)

     เหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญกลางนครลอสแอนเจลิสได้พรากชีวิตของ เดอะโนโทเรียส บี.ไอ.จี. หรือ บิ๊กกี้ แรปเปอร์ชื่อดัง ก่อนที่อัลบั้มใหม่ของเขาจะวางแผงเพียง 2 สัปดาห์ ถึงแม้สาเหตุของฆาตกรรมครั้งนี้จะไม่มีการยืนยันอย่างแน่ชัด แต่เป็นที่คาดเดากันว่าเกิดจากความบาดหมางระหว่างกลุ่มแก๊งสเตอร์คู่อริ อย่างไรก็ตาม การจากไปของบิ๊กกี้เป็นที่มาของเพลงพิเศษ I’ll Be Missing You โดยเป็นการร่วมงานกันระหว่าง พัฟฟ์ แดดดี้ เพื่อนสนิทและเจ้าของค่ายเพลง Bad Boy ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเขา และเฟธ อีแวนส์ ศิลปินและภรรยาม่ายของบิ๊กกี้เอง พร้อมด้วยวง 112 มาร่วมบรรเลงเพลงนี้ด้วยกันเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับแรปเปอร์ร่างยักษ์คนนี้

     พัฟฟ์ แดดดี้ ได้หยิบองค์ประกอบบางส่วนจากเพลง Every Breath You Take ของวง The Police มาใช้ในเพลงนี้ ทั้งท่อนริฟฟ์กีตาร์อันเป็นเอกลักษณ์สุดคลาสสิก และเมโลดี้พร้อมเนื้อเพลงบางส่วน แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ทำการขอลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการจนกระทั่งเพลงนี้ได้ถูกปล่อยออกมา ทำให้ สติง นักร้องนำของวง The Police ผู้แต่งเพลงนี้ได้ออกมาเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งสุดท้ายสติงเองก็ได้รับส่วนแบ่งจากเพลงนี้ไปอย่างมหาศาล เนื่องจาก I’ll Be Missing You ได้ทำยอดขายถล่มทลายไปทั่วโลก พ่วงด้วยรางวัลแกรมมี่สาขา Best Rap Performance by Duo or Group ในปี 1998 อีกด้วย แต่ท้ายที่สุดแล้ว สติงได้แสดงความชื่นชมไอเดียของพัฟฟ์ แดดดี้ ที่เลือกเพลงของเขามาเป็นตัวผูกเรื่องราวถึงเพื่อนที่จากไป และได้มาร่วมแสดงเพลงนี้กับพัฟฟ์ แดดดี้, เฟธ อีแวนส์ และผองเพื่อนในงาน MTV Video Music Awards จนเรียกได้ว่าการแสดงครั้งนั้นเป็นที่น่าจดจำไปตลอดกาล

 

https://www.youtube.com/watch?v=mM0-ZU8njdo&feature=youtu.be 

 

 

  1. Don McLean: American Pie (1971)

     มหากาพย์เล่มโตขนาด 8 นาทีครึ่งเพลงนี้เต็มไปด้วยข้อความปลายเปิดให้ผู้ฟังได้ขบคิดและตีความหมายกันไปต่างๆ นานา หลายแง่มุมในทุกบรรทัดของเนื้อเพลงตะล่อมให้เราฟังยาวๆ ไปจนจบเพลง แล้วยังกระหายที่จะฟังซ้ำอีกเรื่อยๆ

     American Pie สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นนักฟังเพลงสุดเนิร์ดและความเป็นนักเขียนเพลงสายลึกของ ดอน แม็กลีน ได้อย่างเด่นชัด จนถึงทุกวันนี้การตีความหมายของเพลงนี้ในหมู่นักฟังเพลงยังคงไม่จบสิ้น เพราะแม็กลีนหลีกเลี่ยงที่จะเฉลยบทอุปมาอุปไมยคำใหญ่ในเพลงนี้มาตลอดเป็นระยะเวลาเกือบ 50 ปีแล้ว

     แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 แม็กลีนก็ออกมาแย้มถึงความหมายโดยรวมของเพลงนี้ว่าเป็นการอุทิศให้กับ ‘ดนตรีอเมริกัน’ เพลงนี้มีถ้อยคำที่เป็นรหัสลับมากมายให้ได้ตีความกันในเชิงลึก ซึ่งแม็กลีนกล่าวว่าเจตจำนงของเขาคือเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้นักแต่งเพลงรุ่นใหม่ๆ ว่าหากคิดจะเขียนเพลงขึ้นมาสักเพลง ให้คิดทุกถ้อยคำอย่างแยบยล

     มีหลายบุคคลและหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการดนตรีที่แม็กลีนได้กล่าวถึงด้วยรหัสลับในเพลง เช่น เอลวิส เพรสลีย์, บ็อบ ดีแลน, The Byrds, The Beatles, The Rolling Stones ฯลฯ ราวกับเป็นพงศาวดารทางดนตรีฉบับพิสดารที่ไม่ได้จารึกชื่อใครแบบตรงๆ เอาไว้เลย แต่ที่ได้รับการเปิดเผยแน่นอนจากแม็กลีนคือเหตุการณ์ที่สะเทือนใจที่สุด เมื่อวีรบุรุษทางดนตรีของเขาอย่างบัดดี้ ฮอลลี ได้เสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตกเมื่อปี 1959 ในตอนนั้นแม็กลีนทราบเรื่องจากพาดหัวข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ปึกใหญ่ที่เขามีหน้าที่ต้องขี่จักรยานไปส่งตามบ้านต่างๆในวัยเด็ก เรื่องราวนี้ถูกนำมากล่าวถึงในท่อนที่ว่า “I saw satan laughing with delight the day music died” (ฉันเห็นซาตานหัวเราะชอบใจในวันที่ดนตรีสิ้นชีพ) เขาเปรียบการตายของบัดดี้ ฮอลลี ว่าเป็น ‘วันที่ดนตรีสิ้นชีพ’ เลยทีเดียว

     และในปี 2017 นี้เอง ต้นฉบับของเนื้อเพลง American Pie ที่เขียนด้วยลายมือของแม็กลีนซึ่งมีความยาวถึง 18 หน้ากระดาษได้ถูกนำออกมาประมูล และจบด้วยราคาสุดท้ายที่สูงถึง 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว และผลงานบันทึกเสียงต้นฉบับของเพลงนี้ยังได้รับเกียรติให้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอบันทึกแห่งชาติ โดยห้องสมุดแห่งสภาคองเกรส ในฐานะที่เป็นผลงานที่มีความสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรมและทางประวัติศาสตร์ของชาติอเมริกาอีกด้วย

 

 

Photo: www.europebreakingnews.net

  1. Ed Sheeran: Supermarket Flowers (2017)

     หลายคนคงสงสัยกันว่า เอ็ด ชีราน เขาเติบโตมาแบบไหนกันนะ อะไรที่หล่อหลอมให้เขาเป็นอัจฉริยะเพลงป๊อปแห่งโลกปัจจุบันจนล้ำหน้าหลายๆ คนในเจเนอเรชันเดียวกัน และหลายๆ คนก็ได้ล้ำหน้าเราไปในการจองบัตรคอนเสิร์ตของพี่แกจนหมดเกลี้ยงไปแล้วเช่นกัน

     ในเพลง Supermarket Flowers อาจมีคำตอบให้ เมื่อเอ็ดได้เปิดเผยว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่เขาแต่งให้กับคุณย่าที่จากไป เอ็ดให้เครดิตกับคุณย่าเสมอว่าความเป็นนักดนตรีของท่านเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ เขาหันมาเอาจริงเอาจังกับการเล่นดนตรีจนมาถึงจุดที่เขายืนอยู่ทุกวันนี้ได้ และเขาเองก็หวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ถ่ายทอดคีตพันธุกรรมนี้ต่อไปยังลูกหลานในเจเนอเรชันถัดไป

     ช่วงเวลาอันแสนเจ็บปวดของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ถูกเรียงร้องเป็นถ้อยคำอย่างประณีต ท้ายที่สุดแล้วคนเราก็ต้องจากโลกไปตัวเปล่าโดยไม่ได้นำอะไรติดตัวไปด้วยเลยไม่ต่างกับขามา ข้าวของเครื่องใช้ที่เหลือไว้ให้ลูกหลานเก็บกวาดเป็นเครื่องย้อนรำลึกครั้งสุดท้ายให้กับคนที่ยังอยู่ได้รับรู้ว่าอดีตเจ้าของเคยแบ่งปันความสุขไว้บนโลกนี้ไว้มากเพียงใด ก่อนที่มันจะถูกเก็บเข้าตู้หรือถูกบริจาคออกไป เหลือไว้เพียงบทบันทึกในเส้นรอยหยักสมองของลูกหลานที่ ณ วันหนึ่งก็ต้องมีการดับสูญกลับคืนสู่ธรรมชาติไปเช่นกัน

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X