×

2566 ปีแห่งความตลกร้าย ‘ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ป. สุดท้ายที่ไฟยังไม่มอด กับทาง (ไม่) รอดบนเส้นทางการเมือง

13.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ปี 2566 ของ ‘พล.อ. ประวิตร’ หัวปีและท้ายปี อำนาจ-บารมีทางการเมือง ‘แตกต่างราวฟ้ากับเหว’
  • พลังประชารัฐ พรรคการเมืองที่ก่อตั้งมาเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐบาล คสช. กำลังอยู่ในภาวะถดถอยและรอวันล่มสลาย เหมือนคนที่อยู่ในห้องไอซียูที่ยังคุยได้ แต่พร้อมที่จะฟุบและใส่สายออกซิเจนได้ทุกเมื่อ
  • ครม. เศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ พล.อ. ประวิตร หมดมนตร์ขลัง? เพื่อไทยรับไม้ต่อเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจาก พล.อ. ประยุทธ์ มากกว่า กระทรวงความมั่นคงล้วนเป็นลูกน้องเก่า พล.อ. ประยุทธ์ ทั้งสิ้น
  • ร.อ. ธรรมนัส คือเจ้าของพรรคพลังประชารัฐตัวจริง หากย้ายกลับเพื่อไทย และหาก พล.อ. ประวิตร ยุติบทบาททางการเมือง จะถือเป็นการปิดตำนาน 3 ป. อย่างเป็นทางการ
  • หากรัฐบาลเศรษฐาอยู่ครบเทอม 4 ปี การเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ. ประวิตร ในวัย 82 ปี หากอยากลงสมัครเลือกตั้งจะอยู่ในภาวะ ‘ใจพร้อม แต่กายไม่พร้อม’

บทชีวิตของอดีตชายชาติทหารสูงอายุวัย 78 ปี พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ นามว่า ‘พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แม้จะไม่มีตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่มีอำนาจและมีบารมีต่อการเมืองไทย จนสามารถค้ำจุนให้ ‘พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ยาวนาน 8 ปี 322 วัน 

 

ทว่าในปี 2566 กลับกลายเป็นปีแห่งความตลกร้ายและท้าทายสำหรับ ‘พล.อ. ประวิตร’ มากที่สุด หัวปีและท้ายปี อำนาจ-บารมีทางการเมือง ‘แตกต่างราวฟ้ากับเหว’

 

พล.อ. ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. ในทุกมิติ พร้อมวางกลไกให้พรรคมีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และดัน พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจต่อยาวนานเกือบ 9 ปี

 

ประวิตร และ ประยุทธ์

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ในโอกาสถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 2/2 หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 

แฟ้มภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ตลอดระยะเวลา 4 ปีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ มีเหตุให้พี่น้อง 2 ป. (พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร) ที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นข้าราชการทหารภายในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จนเข้าสู่เส้นทางการเมืองยาวนานเกือบครึ่งชีวิต ต้องผิดใจกันบ่อยครั้งจนเกิดรอยร้าว 

 

ที่สุดท้ายแล้ว 2 ป. ต่างแยกย้ายไปเติบโตบนเส้นทางที่เลือกเอง พล.อ. ประยุทธ์ อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ เลือกฐานที่มั่นใหม่ ย้ายไปรวมไทยสร้างชาติซึ่งมี ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) นั่งเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ ส่วน พล.อ. ประวิตร ก็ยังอยู่คุมบังเหียนที่พรรคพลังประชารัฐเช่นเดิม

 

ก่อนรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จะครบวาระ 4 ปี และประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการ หลายพรรคการเมืองเริ่มต้นหาเสียง สู้ศึกเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 พรรคพลังประชารัฐเลือกเดือนแรกของปี มีมติเสนอชื่อ ‘พล.อ. ประวิตร’ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวของพรรค พร้อมส่งชื่อสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (สส.ปาร์ตี้ลิสต์) ลำดับที่ 1 ของพรรคด้วย 

 

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในงานระดมทุน ‘พลังประชารัฐ ใจบันดาลแรง’ 

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในงานระดมทุน ‘พลังประชารัฐ ใจบันดาลแรง’ 

ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

“พร้อมแล้ว พร้อมที่จะเป็นนายกฯ แต่อยู่ที่คนเลือกนะครับ” พล.อ. ประวิตร ประกาศความพร้อมในงานระดมทุน ‘พลังประชารัฐ ใจบันดาลแรง’ ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 

 

เมื่อเข้าสู่ช่วงระยะเวลาการหาเสียง อดีตชายทหารวัย 77 ย่างเข้า 78 ปี ทุ่มเทลงพื้นที่หาเสียง ขึ้นเหนือล่องใต้ ตากแดดตากฝนแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ที่สุดแล้วผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมกลับไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

 

‘พล.อ. ประวิตร’ ผิดหวังกับผลเลือกตั้งอย่างมาก พรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่แล้วได้ สส. เพียง 40 ที่นั่ง เป็น สส. เขต 39 ที่นั่ง ส่วนคะแนนมหาชนรวมทั้งประเทศได้แค่ 537,625 เสียง ส่งผลให้ได้ สส. แบบบัญชีรายชื่อเพียง 1 ที่นั่งเท่านั้น 

 

แม้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเป้าที่หวัง แต่ พล.อ. ประวิตร ก็แสดงสปิริตนักการเมืองด้วยการออกจากบ้านป่ารอยต่อเพื่อแถลงขอบคุณประชาชน เมื่อแถลงเสร็จก็ออกจากที่ทำการพรรคไปทันที จากนั้นก็เก็บตัวเงียบ หายสาบสูญทางการเมืองไปชั่วคราว จนแทบต้องออกประกาศตามหาคนหาย

 

พลังประชารัฐรอวันล่มสลาย

 

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม กับอนาคตทางการเมืองของ พล.อ. ประวิตร และพรรคพลังประชารัฐว่า ถือเป็นการปิดฉากของเครือข่าย 3 ป. อย่างไม่เป็นทางการ แม้พลังประชารัฐจะมีจำนวนเสียง สส. มากกว่ารวมไทยสร้างชาติของ พล.อ. ประยุทธ์ แต่หากมองลึกเข้าไปก็จะทราบว่าพลังประชารัฐกำลังอยู่ใน ‘ภาวะถดถอยและรอวันล่มสลาย’

 

การได้ สส. เพียง 40 ที่นั่งของพลังประชารัฐนั้น ทำให้พรรคแทบไม่มีอำนาจต่อรองเกมการเมืองกับพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเลย โดยเฉพาะช่วงแรกที่ ‘ก้าวไกล’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พลังประชารัฐไม่ได้อยู่ในสมการพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกลเลย 

 

เนื่องจากก้าวไกลมีนโยบายที่ชัดเจนว่าต้องการปิดสวิตช์ 3 ป. หยุดอำนาจทางการเมือง (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา) มาโดยตลอด

 

แต่เมื่อรัฐบาลก้าวไกลไปไม่ถึงฝัน และได้ส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล พลังประชารัฐเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม (ภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติไทยพัฒนา) ที่ถูกเทียบเชิญเข้าบ้าน เพื่อเจรจาเพื่อร่วมรัฐบาล 

 

ฉากหน้าการเดินทางไปเจรจาครั้งนี้มีเพียง ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และ สันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค โดยไร้เงา พล.อ. ประวิตร หัวหน้าพรรค

 

สันติ พร้อมพัฒน์ และ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า

จากซ้าย: สันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จับมือกับ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (ขณะนั้น) 

ก่อนการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตและทางออกของประเทศร่วมกัน ที่พรรคเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 

ภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

ก่อนถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลรวมเสียงได้ทั้งสิ้น 314 เสียง ยังขาดอีก 61 เสียงจึงจะถึงเสียงกึ่งหนึ่ง (375 เสียง) และส่ง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตจากเพื่อไทย ถึงฝั่งฝัน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้สำเร็จ

 

แน่นอน…เมื่อเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลไม่สามารถรวมเสียง สส. ให้ถึง 375 เสียงได้ การโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ 2 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทั้ง 250 คนจึงกลายผู้กำหนดชะตาประเทศไทยอีกครั้ง (ก่อนหน้าที่มีการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก สว. ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบให้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ จากก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มี สว. เห็นชอบเพียง 13 คนจาก 250 คน) 

 

แต่ใช่ว่า สว. ทั้ง 250 คนจะเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกัน เพราะ สว. เองก็มีก๊กก๊วนหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่น่าสนใจที่สุดคือ สว. ที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ มีประมาณ 120-150 เสียง และ สว. ที่สนับสนุน พล.อ. ประวิตร มีประมาณ 80 คน 

 

2 เดือนหลังจบการเลือกตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ ที่อยู่ระหว่างรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และประกาศวางมือทางการเมืองไปพักผ่อนบั้นปลายชีวิตกับครอบครัว ก่อนมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ‘องคมนตรี’ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

 

ส่วน พล.อ. ประวิตร ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และยังคงอยู่บนเส้นทางการเมืองต่อไป และกลายเป็น ‘ป. สุดท้ายที่ไฟยังไม่มอด’ เดินหน้าเข้า ‘สัปปายะสภาสถาน’ รายงานตัวในฐานะ สส. บัญชีรายชื่อเพียงคนเดียวของพรรค และเป็น สส. น้องใหม่สมัยแรก

 

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยกบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังรายงานตัวต่อรัฐสภา

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยกบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังรายงานตัวต่อรัฐสภา ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม อารมณ์ดี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“แม้เป็น สส. ครั้งแรก แต่ไม่ตื่นเต้น ขอบคุณประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐเข้ามารับใช้ประเทศชาติและประชาชน…” พล.อ. ประวิตร กล่าว

 

พล.อ. ประวิตร ถูกจับตามองอย่างมากในการทำหน้าที่ สส. โดยเฉพาะการทำหน้าที่ผู้แทนของประชาชนในห้องประชุมพระสุริยัน การประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 เพื่อเลือกประธานรัฐสภา และรองประธานรัฐสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566

 

ในวันนั้น พล.อ. ประวิตร ถูกช่างภาพถ่ายภาพจากด้านหลัง มีการเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์จนกลายเป็นไวรัล และถูกตีความว่า ‘แอบหลับในห้องประชุมสภา’ 

 

ก่อนจะมีการชี้แจงว่าไม่ได้หลับ ตนเองนั่งในลักษณะนั้นมาตลอด และภาพดังกล่าวเป็นภาพขณะกำลังก้มมองดูพื้นและเงยหน้าขึ้น พร้อมยืนยันว่า ทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวาระการประชุมด้วยดี

 

จากนั้น พล.อ. ประวิตร เข้าประชุมสภาในวันที่มีวาระสำคัญเกือบทุกครั้ง โดยเฉพาะการโหวตนายกรัฐมนตรี 

 

การเข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนฯ ของ พล.อ. ประวิตร นั้น ตามที่มีการคาดการณ์ไว้นี่อาจเป็นบันไดสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเพื่อไทยยังขาดเสียงสนับสนุนอีก 60 เสียง อาจต้องเจรจาขอเสียงจาก สว. ที่สนับสนุน พล.อ. ประวิตร เพื่อแลกกับเงื่อนไขพาพ่อ (ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) กลับบ้านในรอบ 16 ปี

 

แต่สุดท้ายแล้ว การดีลกลับไม่ได้เป็นตามที่มีการตกลงไว้ เพื่อไทยรับข้อเสนอเพียงให้พลังประชารัฐร่วมรัฐบาล พร้อมมอบโควตา 2+2 ‘2 รัฐมนตรีว่าการ และ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ’ เท่ารวมไทยสร้างชาติ 

 

จากตอนแรกที่มีการตกลงไว้ว่าพลังประชารัฐจะได้ 2 เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ และ 3 เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการ จนทำให้ พล.อ. ประวิตร ออกอาการไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากพลังประชารัฐมี สส. 40 เสียง ส่วนรวมไทยสร้างชาติมี สส. 36 เสียง แต่กลับได้จำนวนโควตารัฐมนตรีเท่ากัน

 

การได้เก้าอี้รัฐมนตรีเพียง (2+2) นั้น ทำให้ พล.อ. ประวิตร มีโควตารัฐมนตรีไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายให้กับลูกพรรคคนอื่นๆ เนื่องจาก ‘2 เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ’ มีชื่อของ ‘พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ’ น้องชายแท้ๆ ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค และ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค จับจองไว้แล้ว

 

เมื่อวัน-เวลาเดินทางมาถึงวันที่ 22 สิงหาคม ครบ 100 วันหลังเลือกตั้ง การโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ที่ประชุมรัฐสภามีมติ 482 เสียง ‘เห็นชอบ’ ให้เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในมติ 482 เสียงนั้นเป็นความเห็นชอบจาก สว. ถึง 152 เสียง 

 

และเสียงจาก สว. ทั้ง 152 เสียงนั้นล้วนเป็น สว. ที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ ทั้งสิ้น แม้ฉากหน้า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ประกาศวางมือทางการเมือง แต่ฉากหลังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ปฏิบัติการหยุดฝันโอกาสสุดท้าย’ หนทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประวิตร เป็นฝีมือ ‘พล.อ. ประยุทธ์’ 

 

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 

 

ผศ.ดร.วันวิชิต จึงมองการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เหตุที่ สว. ลงคะแนน ‘เห็นชอบ’ เศรษฐาแทนที่จะเป็น พล.อ. ประวิตร ว่า เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประวิตร มากพอ ที่ผ่านมา พล.อ. ประวิตร อยู่บนเส้นทางที่เป็นตำบลกระสุนตกมาโดยตลอด อะไรที่ไม่ดี หรืออะไรที่สังคมเคลือบแคลงใจ มักจะไปลงที่ พล.อ. ประวิตร ทั้งสิ้น 

 

มีหลายเรื่องที่ พล.อ. ประวิตร ‘ตกเป็นขี้ปาก’ โดยเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่สามารถหาหลักฐาน ‘คดีแหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน’ ซึ่งเราต่างทราบดีว่า ประธาน ป.ป.ช. นั้นเคยเป็นอดีตลูกน้องของ พล.อ. ประวิตรมาก่อน ขณะเดียวกัน พล.อ. ประวิตร ก็มีเครือข่ายและมีอำนาจอยู่ในหน่วยงานองค์กรอิสระด้วย

 

ดังนั้น สว. จึงคิดว่าหากปล่อยให้ พล.อ. ประวิตร เข้าไปมีอำนาจ ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จะเป็นการปลุกกระแสโหมโรงคนที่ไม่ชอบ หรือคนที่เห็นต่าง ให้หันไปทำการเมืองบนท้องถนน และอาจส่งผลให้บ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพได้ ขณะเดียวกัน พล.อ. ประวิตร ก็ไม่สามารถเอาชนะใจฐานเสียงโดยเฉพาะชนชั้นกลางในฝ่ายอนุรักษนิยมได้อีก

 

เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

นั่งบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิตยังให้ความเห็นอีกว่า ขณะนี้การเมืองไทยกำลังเข้าสู่อีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า ‘การเมืองแบบผลลัพธ์นิยม’ คือการเอา ‘เป้าหมาย’ มากกว่าหลักการ 

 

ตัวอย่างเช่น ทำไม สว. ไม่ยอมให้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตจากก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี และจำใจต้องเลือก ‘เศรษฐา’ เพราะเชื่อว่าเพื่อไทยจะเข้ามาบาลานซ์อำนาจกับก้าวไกลได้ 

 

หรืออีกกรณี เหตุใด สว. จึงต้องยอมปิดตาข้างหนึ่ง กรณีทักษิณที่ไม่ยอมเข้าไปอยู่ในเรือนจำสักวันเดียว ก็เพื่อผลลัพธ์บางประการให้เพื่อไทยมีอำนาจในการต่อกรกับก้าวไกลต่อไปได้

 

“หลังจากที่ชั่งน้ำหนัก ชั่งตวงกันแล้ว เศรษฐาจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า พล.อ. ประวิตร เสมอ และเพื่อไทยก็มีหลักประกันว่าจะไม่ไปขุดหรือไปถอนสิ่งที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ทำทิ้งไว้ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาด้วย” ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าว 

 

รัฐบาลเศรษฐา: รอยร้าวพลังประชารัฐ ประวิตรหมดมนตร์ขลัง? 

 

ที่ผ่านมา พล.อ. ประวิตร คือบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง และได้กรุยทางให้ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจยาวนานเกือบ 9 ปี เมื่อเข้าสู่รัฐบาลเศรษฐา แม้จะมี ‘พล.ต.อ. พัชรวาท’ น้องชายแท้ๆ ร่วมรัฐบาลอยู่ใน ครม. ด้วย แต่ด้วยบุคลิกภาพที่ไม่เข้าหาสื่อ ยิ่งทำให้เห็นว่ามีความห่างเหินจากสื่อและประชาชน ทำให้แทบไม่เห็น พล.อ. ประวิตร มีบทบาทใดๆ ในรัฐบาล หรือแท้ที่จริงแล้ว พล.อ. ประวิตร จะหมดมนตร์ขลังเสียแล้ว

 

ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ และ เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ขณะกำลังยกมือไหว้ พล.อ. ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ อดีตนายก​รัฐมนตรี ภายในตึกไทยคู่ฟ้า ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ คนที่ 30 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 

ภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่า รัฐบาลเศรษฐาไม่มีความจำเป็นต้องใช้บริการ พล.อ. ประวิตร อีกต่อไป พล.อ. ประวิตร ในวัย 78 ปีแทบไม่เหลืออำนาจในการต่อรอง รัฐบาลจึงไม่ต้องมีความเกรงใจอะไรอีกแล้ว

 

วันใดที่ พล.อ. ประวิตร ตัดสินใจยุติบทบาททางการเมือง นั่นคือวันที่ปิดฉาก 3 ป. อย่างสมบูรณ์ ทุกวันนี้แม้ พล.อ. ประวิตร ยังอยู่ในสนามการเมือง แต่ก็คงอยู่แบบนั้น และยังไม่แน่ชัดว่าจากนี้จะได้เห็น พล.อ. ประวิตร เข้าประชุมสภาในฐานะ สส. อีกหรือไม่ 

 

ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยรับไม้ต่อเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจาก พล.อ. ประยุทธ์ มากกว่า พล.อ. ประวิตร เสียอีก เช่น กระทรวงกลาโหม คนรอบตัว ‘สุทิน คลังแสง’ ล้วนเป็นลูกน้องเก่า พล.อ. ประยุทธ์ ทั้งสิ้น

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ พล.อ. ประวิตร มีดีและเก่งกว่า พล.อ. ประยุทธ์ คือเป็นคนที่มีเครือข่ายและใช้คนเป็น เช่น ‘ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล’ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแม้แต่การดึง ‘ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาร่วมพรรคได้ 

 

ขณะเดียวกันก็สามารถปราบม้าพยศอย่าง ร.อ. ธรรมนัส ให้อยู่ใต้อาณัติได้ จึงถือว่าเป็นคนที่มีศิลปะ เป็นผู้นำที่มีสีสันกว่า พล.อ. ประยุทธ์ แต่สุดท้ายก็มีราคาที่ต้องจ่าย ถูกอ้างอิงหรือเคลมในเรื่องรู้และไม่รู้ จนเกิดความเสียหายทางการเมืองเช่นกัน

 

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค 

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค 

ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อขอทบทวนมติเสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

ผศ.ดร.วันวิชิต ยังวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของพลังประชารัฐอีกว่า หากมองเข้าไปในพรรคก็จะเห็นเป็นลักษณะของคนที่ต่างคนต่างอยู่ ท้ายที่สุดพรรคก็จะนับวันถอยหลัง ทุกอย่างขณะนี้อยู่ที่ ร.อ. ธรรมนัส ว่าจะเอาอย่างไร พร้อมทั้งเชื่อว่าศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ร.อ. ธรรมนัส จะขน สส. ภาคเหนือ-อีสานตอนบนไม่ต่ำกว่า 20 ชีวิต ย้ายกลับพรรคเพื่อไทยเพื่อลดคอสต์และลดความเสี่ยง เพราะด้วยพิกัดทางกายภาพและภูมิรัฐศาสตร์ที่เพื่อไทยเป็นเจ้าของพื้นที่เหล่านั้น ดังนั้น จะแข่งไปเพื่ออะไร และที่สำคัญที่สุดคือ ร.อ. ธรรมนัส ก็เป็นศิษย์เก่าของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้วด้วย

 

ส่วนที่แกนนำพรรคหลายคนออกมาประสานเสียงยืนยันว่า การเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้ายังมี พล.อ. ประวิตร อยู่ เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น จำนวนที่นั่ง สส. ยิ่งถดถอยลง แกนนำหลายคนที่ออกมาพูดไม่ได้อยู่ในวิสัยทัศน์ที่สามารถพูดอะไรได้ เพราะเจ้าของพรรคตัวจริงคือ ‘ร.อ. ธรรมนัส’ ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในสปอตไลต์ เด่นกว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จากภูมิใจไทยด้วยซ้ำ 

 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนและภาคการประมง 

ที่ท่าเทียบเรือโรงน้ำแข็งสิริไพโรจน์ จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2023

 

ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าวอีกว่า ร.อ. ธรรมนัส เป็นนักการเมืองที่ขานรับนโยบายจากนายกฯ อย่างรวดเร็วเสมือนอยู่พรรคเดียวกัน แอ็กชันต่างๆ แม้ไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชนชนชั้นกลาง แต่กับนักการเมืองด้วยกันนั้นส่วนใหญ่จะชอบบุคคลที่ทำงานรับลูกเร็วลักษณะนี้ เพราะมีการประสานประโยชน์อย่างรวดเร็ว จากนี้พลังประชารัฐจึงเป็นเพียงการประคองรักษาภาพลักษณ์ และมี พล.อ. ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น

 

“พรรคพลังประชารัฐเหมือนคนที่อยู่ในห้องไอซียูที่ยังคุยได้ แต่วันหนึ่งก็พร้อมที่จะฟุบและใส่สายออกซิเจนได้เสมอ…พลังประชารัฐจะไม่มีวันกลับมาสู่คืนอันหอมหวนเหมือนการเลือกตั้งในปี 2562 อีกแล้ว” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิตกล่าว

 

ประชาชนส่วนใหญ่จำภาพของพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่มีความมัวหมอง และเป็นพรรคที่ไม่สามารถทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน อะไรที่เคยหาเสียงไว้ก็ไม่สามารถผลักดันได้ ทั้งที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ. ประยุทธ์ ก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แม้พยายามจะใช้ภาพของเทคโนแครต มีนักวิชาการมืออาชีพ แต่ก็ขาดเสน่ห์และความเย้ายวนใจ จนเกิดภาวะขาดความเชื่อมั่น  

 

ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าวว่า การเข้ามาทำงานเพื่อเป็นหุ่นเชิดให้กับ ‘พรรคทหาร’ สุดท้ายแล้วคนที่มาจากเพื่อไทย หรือมาจากประชาธิปัตย์ คือปลาคนละน้ำ ดีเอ็นเอของทั้ง 2 พรรคที่ไม่สามารถผสมกันได้เหมือน ‘น้ำกับน้ำมัน’ ดังนั้น การเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้าจึงเป็นการกลับเข้าสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของนักการเมือง เพื่อไม่ให้ไปตัดฐานเสียงกันเอง

 

‘พลังประชารัฐ’​ คือพรรคทหารที่ตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจในลำดับท้ายๆ รวมถึงจะเป็นการปิดตำนานทหารมาเล่นการเมือง สร้างพรรคเพื่อให้ตัวเองมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเข้าร่วมรัฐบาล เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะไม่ตอบโจทย์ประชาชนอีกต่อไป

 

‘ใจพร้อม แต่กายไม่พร้อม’ เส้นทางการเมืองจบแล้ว 

 

มองอนาคตทางการเมืองของ พล.อ. ประวิตร หากรัฐบาลเศรษฐาอยู่ครบเทอม 4 ปีจะเป็นอย่างไร ผศ.ดร.วันวิชิต บอกว่า ขณะนั้น พล.อ. ประวิตร จะมีอายุ 82 ปี จะหอบหิ้วร่างกายหรือพาสังขารเดินขึ้นเวทีหาเสียงได้เป็นเรื่องที่ยากลำบาก จะทำอย่างไร ‘เมื่อใจพร้อม แต่กายไม่พร้อม’ หากให้พูดอย่างตรงไปตรงมาแบบไม่มีกั๊กคือ อนาคตทางการเมืองของ พล.อ. ประวิตร นั้น ‘จบแล้ว’

 

ท้ายที่สุดแล้วผู้คนจะจดจำ ‘พล.อ. ประวิตร’ เวอร์ชันที่ดีที่สุดคือ ตำนานผู้สถาปนา 3 ป. ‘บิ๊กบราเทอร์แห่งบูรพาพยัคฆ์’ เป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยาน ไม่ใช่แค่เฉพาะเพื่อนร่วมรุ่น แต่วางรากฐานให้รุ่นน้องที่รับราชการพื้นที่หน่วยเดียวกันด้วย และสามารถสร้างเครือข่ายให้คณะทหารเข้ามามีอำนาจในการเมืองไทยเกือบทศวรรษ 

 

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยกมือที่สวมแหวนเพชร และนาฬิกาหรูยี่ห้อ Richard Mille

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยกมือที่สวมแหวนเพชร และนาฬิกาหรูยี่ห้อ Richard Mille มูลค่าหลายล้านบาทขึ้นบังแดด ระหว่างเข้าร่วมถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรี บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า 

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม 

 

หาก พล.อ. ประวิตร กลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง ก็จะมีนักร้อง (เรียน) หลายคนต่อแถวทวงขอคำตอบจาก ป.ป.ช. ให้เปิดคำสอบสวน ‘คดีแหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน’ ซึ่งขณะนี้ศาลปกครองก็ได้ให้ความคิดเห็นว่าสามารถเปิดได้โดยไม่มีเงื่อนไข 

 

แล้ว พล.อ. ประวิตร จะอยู่ต่อไปอย่างไร

 

ดังนั้น ในบั้นปลายชีวิต พล.อ. ประวิตร ควรเก็บเนื้อเก็บตัว จะเป็นประโยชน์เสียกว่าการคัมแบ็กสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้ง 

 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising