×

รมว.ดีอี ปักหมุดนำดิจิทัลพัฒนาเกษตรกร มั่นใจ 3 เดือนรายได้เพิ่มขึ้น เตรียมเลือกจังหวัดที่มีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำนำร่อง

โดย THE STANDARD TEAM
10.08.2019
  • LOADING...
10 Key Challenges towards Digital Thailand

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 เวลา 20.00 น. ณ อาคารดีป้า ลาดพร้าว พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับหน่วยงานเครือข่ายสมาคมดิจิทัลและดิจิทัลอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งมาร่วมระดมสมองในกิจกรรม 10 Key Challenges towards Digital Thailand เพื่อเป็นการรับฟังปัญหา-อุปสรรค พร้อมร่วมวางแนวทางพิชิต Digital Thailand จากกลุ่มคนดิจิทัลตัวจริง ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดทิศทางนโยบายระดับชาติในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

 

โดยพุทธิพงษ์กล่าวว่าหลายคนมองว่าประเทศไทยไม่สามารถเป็นผู้นำอาเซียนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเพียงแค่ความฝัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วศักยภาพของประเทศไทย ทั้งบุคลากร ความพร้อม และทำเลที่ตั้งของประเทศไทยที่อยู่ใจกลางอาเซียนนั้น เราไม่ได้เสียเปรียบใคร เพียงแต่ที่เราไปได้ไม่ถึงไหนเนื่องจากเราไม่ได้พัฒนา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญคือระบบราชการที่ไม่ได้สนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราเดินช้าลงอย่างน่าเสียดาย  

 

“ผมขอเวลา 3 เดือนที่จะเอาระบบดิจิทัลมาช่วยประชาชนในระดับฐานรากในภาคเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 30 ล้านคน โดยเลือกหนึ่งจังหวัดนำร่องที่มีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำที่สุด โดยทำงานผ่านทางวิสาหกิจชุมชน นำดิจิทัลไปใช้วางแผนการเพาะปลูก พัฒนาผลผลิต วางแผนการตลาดว่าผลผลิตจะนำไปขายใคร ช่องทางใด แต่จะไม่อนุญาตให้ภาครัฐเข้าไปทำแอปพลิเคชันแข่งกับภาคเอกชน เพราะเขาทำได้ดีกว่า และเขามีความพร้อม จากนั้นจะมอนิเตอร์ทุกเดือนจนครบ 3 เดือน เชื่อว่ารายได้ภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว

 

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังกล่าวด้วยว่า ไม่เฉพาะภาคเกษตรกรเท่านั้น ส่วนของโลจิสติกส์และบิ๊กดาต้าก็จะพัฒนาในขั้นตอนต่อไป เนื่องจากมีความสำคัญ เวลานี้ยังติดปัญหาที่หน่วยงานราชการหลายแห่งยังไม่ให้ความร่วมมือและยังหวงข้อมูล โดยคิดเพียงว่าจะทำให้ภารกิจและบทบาทของตัวเองลดลง ซึ่งในความจริงแล้วการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อการวางแผนร่วมกันนั้นมีความสำคัญมาก และผู้ที่จะได้ประโยชน์มี 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือรัฐบาลที่จะวางแผนการทำงานเพื่อประโยชน์กับประเทศชาติ กลุ่มที่ 2 คือประชาชนจะสามารถวางแผนงบประมาณของตัวเองได้ และกลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ผลิตที่จะสามารถวางแผนการลงทุนได้ โดยในระยะแรกนี้จะเลือกใช้บิ๊กดาต้าในกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยจะเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมาหารือร่วมกัน มาแชร์ข้อมูลกันเพื่อวางแผนการจัดการข้อมูลทั้งประเทศ

 

“ผมรู้เรื่องดิจิทัลน้อยกว่าพวกท่าน เพราะฉะนั้นผมจึงต้องฟังให้มากเพื่อปิดปมด้อยความไม่รู้ของตัวเอง ยิ่งฟังมากผมก็จะยิ่งรู้มาก และสามารถนำไปวางแผนการทำงานได้ โดยยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว

 

ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่างานในครั้งนี้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมถึงความต้องการในการขับเคลื่อน Digital Thailand อย่างเร่งด่วนภายใต้กรอบแนวคิด ‘3 ท’ ได้แก่ ทันสมัย เท่าทัน และทั่วถึง โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้เชิญกลุ่มเครือข่ายด้านดิจิทัลและอินฟลูเอนเซอร์รวมกว่า 40 หน่วยงาน เช่น กลุ่มสมาคมด้านซอฟต์แวร์และไอซีที กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ครอบคลุมเทคโนโลยี Blockchain, Artificial Intelligent (AI), Digital Asset: Cryptocurrency, กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเข้าถึงประชาชน และนิวมีเดีย เพื่อมาร่วมระดมสมอง แบ่งปันไอเดีย พร้อมพูดคุยหารือถึงปัญหาและความท้าทายในการพัฒนาประเทศสู่ Digital Thailand โดยได้แบ่งรูปแบบการระดมสมองออกเป็น 10 กลุ่มตามความเชี่ยวชาญ เพื่อยกประเด็นปัญหาหรือความท้าทายที่จะนำไปสู่การดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นเชิงนโยบายหรือกฎหมายเพื่อให้สามารถแก้ไขในระดับประเทศไทย เกิดเป็นแนวทางที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กับการให้ความรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าทันและทั่วถึง

 

สำหรับการนำเสนอโดยภาพรวมของกลุ่มเครือข่ายดิจิทัลและอินฟลูเอนเซอร์มุ่งเน้นถึงประเด็นปัญหาที่มีอยู่ทั้งในด้านการให้บริการของภาครัฐที่กลายเป็นอุปสรรค ซึ่งหากว่าภาครัฐสามารถพัฒนาแนวทางที่จะเชื่อมโยงบริการและง่ายต่อการใช้งานก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนี้ด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ทั้งการเพิ่มทักษะและเสริมทักษะใหม่ รวมถึงการผสานทักษะด้านดิจิทัลเข้ากับความเชี่ยวชาญในแต่ละอาชีพเพื่อสร้างนวัตกรรมในอาชีพของตนเองและเปิดกว้างในด้านแรงงานดิจิทัล ทั้งนี้ได้มีการชี้ให้เห็นว่ากำลังคนดิจิทัลของไทยนั้นมีความสามารถไปได้ไกลถึงระดับโลก แต่กลับไม่ถูกผลักดันเท่าที่ควร รวมถึงไม่ได้รับความไว้วางใจแม้แต่กับคนในประเทศเอง

 

ด้านแนวคิดของดิจิทัลอินฟลูเอนเซอร์ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ในปัจจุบันอาจยังไม่ทั่วถึงพอ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างโอกาสให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้เช่นกัน พร้อมกันนี้ยังได้แนะนำให้ภาครัฐมีแนวทางในการให้ความรู้แก่ประชาชนในหลากหลายเรื่องสำคัญที่ปัจจุบันประชาชนยังมีความรู้ความเข้าใจไม่มากพอ เช่น การให้ความรู้ด้านภาษา การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี การให้ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การให้ความรู้ด้านภาษี และการให้ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ (Digital Workforce Community)

 

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสรุปว่าเรื่องที่ได้รับฟังในวันนี้จะนำไปสรุปหาแนวคิดที่ใกล้เคียงกัน ก่อนจับกลุ่มเพื่อนำมาตกผลึกและกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน โดยลงลึกถึงวิธีการที่ขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3-6 เดือน ซึ่งจะจัดต่อเนื่องภายใน 2 สัปดาห์นี้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising