ไทม์ไลน์สำคัญที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวานนี้ (11 ตุลาคม 2564) คือการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวในวันที่ 1 พฤศจิกายน สำหรับผู้ฉีดวัคซีนครบโดสจากประเทศความเสี่ยงต่ำอย่างน้อย 10 ประเทศ และเดินทางโดยทางอากาศ และการอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน รวมถึงการเปิดสถานบันเทิงในวันที่ 1 ธันวาคม และถนนทุกสายมุ่งสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565
#ไทม์ไลน์การเปิดประเทศ
ไทม์ไลน์แรกเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด เพราะภายหลังจากการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้เผยแพร่แผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) ไปแล้ว ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะนำร่อง (ตุลาคม 2564) และระยะที่ 1-3 (พฤศจิกายน 2564 – มกราคม 2565) เพียงแต่ครั้งนี้นายกฯ ออกมาเน้นย้ำด้วยตัวเองว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน และมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างออกไป
นายกฯ กล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป จะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสจากประเทศความเสี่ยงต่ำอย่างน้อย 10 ประเทศ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และอเมริกา เดินทางโดยทางอากาศ และมีหลักฐานผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ว่าไม่พบเชื้อก่อนเดินทางจากประเทศต้นทาง เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยจะมีการตรวจหาเชื้ออีกครั้ง หลังจากนั้นสามารถเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับคนไทย
ซึ่งในขณะนี้ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวที่มีคุณสมบัติตามข้างต้นจากทุกประเทศ โดยไม่มีการแบ่งประเทศตามความเสี่ยง ต้องกักตัวหรือเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างน้อย 7 วัน นั่นคือประเทศไทยเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวแล้วในในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ (3 จังหวัดหลังเฉพาะบางเกาะหรือพื้นที่) และจะมีการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง คือในวันแรกที่เดินทางมาถึง และในวันที่ 6-7 ก่อนครบกำหนดกักตัว
เมื่อได้ยินแผนของนายกฯ ในครั้งนี้ หลายคนจึงมีความกังวลถึงความเสี่ยงของการแพร่เชื้อจากนักท่องเที่ยว เพราะมีการตรวจหาเชื้อเพียงครั้งเดียว แต่เมื่อเทียบกับมาตรการของอังกฤษในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงต่ำ (ไม่อยู่ในรายการสีแดง) ถือว่าคล้ายกัน โดยหากได้รับวัคซีนครบแล้วจะไม่ต้องกักตัว และมีการตรวจหาเชื้อ 1 ครั้งภายในวันที่ 2 ส่วนถ้ายังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับยังไม่ครบจะต้องกักตัว 10 วัน และตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งภายในวันที่ 2 และหลังวันที่ 8 เป็นต้นไป
ในขณะที่สิงคโปร์มีโครงการ Vaccinated Travel Lane กับประเทศเยอรมนี บรูไน และวางแผนกับอีกหลายประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา (เริ่ม 19 ตุลาคม) รวมถึงเกาหลีใต้ (เริ่ม 15 พฤศจิกายน) นักท่องเที่ยวในโครงการนี้ไม่ต้องกักตัว แต่ต้องมีผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 48 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้าประเทศ และตรวจหาเชื้ออีก 1 ครั้งเมื่อเดินทางมาถึง เท่ากับว่าประเทศไทยจะไม่ยอมเสียโอกาสในการเปิดประเทศอย่างที่นายกฯ กล่าวว่า
“ผมรู้ว่าการตัดสินใจแบบนี้มีความเสี่ยงที่เกือบจะแน่นอนเลยว่า เมื่อเราเริ่มต้นการผ่อนคลายต่างๆ จะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราว ซึ่งเราต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินดูว่าเราจะรับมือสถานการณ์นั้นอย่างไร เราต้องไม่ปล่อยโอกาสนี้ เพราะถ้าเราต้องเสียโอกาสในช่วงเวลาทองของการทำมาหากินไปอีกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ผมคิดว่าประชาชนคงรับมือไม่ไหวอีกต่อไป” ทว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเปิดประเทศตามกำหนดหรือไม่?
#เช็กความพร้อมในการเปิดประเทศ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ก็แถลงผ่านโทรทัศน์เกี่ยวกับนโยบายควบคุมโควิดเช่นกัน โดยให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนและระบบสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งในขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์ยังคงเพิ่มขึ้น และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในอีก 1 เดือนข้างหน้า สัดส่วนผู้ป่วยอาการหนักประมาณ 0.2% ซึ่งถือว่ามากสำหรับสิงคโปร์ จนต้องเพิ่มมาตรการจำกัดการรวมตัวกัน และเชิญชวนให้ผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
สำหรับประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ศบค. กำหนดเกณฑ์ความพร้อมของจังหวัดนำร่อง 3 ข้อ ได้แก่
- ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ≥50% และในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการหนัก ≥80%
- ศักยภาพการรองรับผู้ป่วยเพียงพอ อัตราครองเตียงผู้ป่วยเหลืองแดงไม่เกิน 80%
- มีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน และใช้ค่าเฉลี่ย 1 สัปดาห์ อาจใช้ลักษณะการระบาดและแนวโน้มสถานการณ์ร่วมด้วย
ในภาพรวมของประเทศ ความครอบคลุมการได้รับวัคซีน ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มทั้งหมด 32.5% กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 44.3% และกลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว 43.6%
การเปิดประเทศหรือแม้แต่การผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นจึงยังน่ากังวลหากดำเนินการทุกจังหวัดพร้อมกัน เมื่อพิจารณาในกลุ่มผู้สูงอายุรายจังหวัดพบว่าขณะนี้มีเพียงภูเก็ตเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบมากกว่า 80% ในขณะที่จังหวัดส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 40-50% ซึ่งไม่น่าจะทันในอีกครึ่งเดือนนี้
หรืออย่างกรุงเทพฯ อยู่ที่ 59.8% ศบค. ควรจัดลำดับความสำคัญการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าเป็นไป ศบค. ควรให้กลุ่มเสี่ยงควรได้รับวัคซีนสูตรมาตรฐาน เช่น วัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer 2 เข็ม เพราะมีงานวิจัยยืนยันว่ามีประสิทธิผลสูงในการป้องกันอาการหนักอย่างน้อย 6 เดือน แทนที่จะเป็นสูตรไขว้กับวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการติดตามประสิทธิผล นอกจากนี้แต่ละจังหวัดควรสำรวจกลุ่มเสี่ยงต่ออาการหนักที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและเร่งฉีดวัคซีนให้โดยเร็ว
ส่วนความพร้อมของระบบสาธารณสุขที่ยังไม่มีข้อมูลว่าพร้อมหรือไม่ คือการตรวจหาเชื้อ (Test) และการแยกรักษาผู้ติดเชื้อ (Isolation) โดยประชาชนทั่วไปควรเข้าถึงชุดตรวจ ATK ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีลักษณะการทำงานใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก ผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจควรได้รับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งควรแยกการตรวจหาเชื้อสำหรับนักท่องเที่ยวออกมาต่างหาก ที่สำคัญคือเตียง ICU ที่ต้องมีการบริหารจัดการเตียงแยกสำหรับผู้ป่วยโควิด เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยโรคอื่นได้รับผลกระทบ
#ไทม์ไลน์การนั่งดื่มสุราและการเปิดสถานบันเทิง
อีกไทม์ไลน์คือการอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร รวมถึงการเปิดสถานบันเทิงเป็นเรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีความชัดเจนมาก่อน ปัจจุบันร้านอาหารในทุกจังหวัดยังไม่สามารถจำหน่ายและดื่มสุราในร้านได้ ถึงแม้ในพื้นที่สีส้มจะสามารถเปิดให้นั่งในร้านได้ตามปกติ ไม่มีการจำกัดจำนวนผู้ให้บริการเหมือนในพื้นที่สีแดงเข้ม ส่วนสถานบันเทิงถูกปิดมาตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่ทำงานในสถานบันเทิงทุกอาชีพ
เหตุผลของการห้ามนั่งดื่มสุราเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอด ศบค. น่าจะกังวลว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้นั่งในร้านนานกว่าปกติ และถ้าดื่มหนักอาจทำให้ขาดสติในการระมัดระวังตัว ส่วนสถานบันเทิงถูกประเมินว่าเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการระบาด เพราะเป็นสถานที่ปิด มีกิจกรรมที่สัมผัสกันใกล้ชิด ผู้บริการไม่สามารถสวมหน้ากากได้ตลอดเวลา ร้องเพลง และตะโกนคุยกัน ในต่างประเทศก็มีการปิดสถานบันเทิงเช่นกัน แต่เมื่อความครอบคลุมของวัคซีนเพิ่มขึ้นก็อนุญาตให้กลับมาเปิดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามว่ากระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดมาตรการเสริมอย่างไรบ้าง เพราะนายกฯ กล่าวว่า “พร้อมกันนี้ ภายในวันที่ 1 ธันวาคม เราจะพิจารณาอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ และจะพิจารณาอนุญาตให้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานบันเทิงเปิดให้บริการได้ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว การพักผ่อนและบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เรากำลังจะเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสปีใหม่”
ย้อนกลับไปเมื่อ 120 วันก่อนตอนที่นายกฯ ประกาศเปิดประเทศเป็นช่วงที่สถานการณ์ในกรุงเทพฯ ทรงตัว ศบค. เริ่มผ่อนคลายมาตรการ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการระบาดเป็นวงกว้างจนต้องนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ ครั้งนี้ถนนทุกสายกำลังมุ่งสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 สถานการณ์ในกรุงเทพฯ ดีขึ้น แต่การระบาดในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังน่าเป็นห่วง การเปิดประเทศจึงไม่ใช่ ‘ก้าวเล็กๆ’ แต่เป็นก้าวใหญ่ที่ต้องมาพร้อมกับแผนการดำเนินงานและตัวชี้วัดเป็นลำดับขั้นตอน
อ้างอิง:
- ศบค. เปิดแผนนำร่องท่องเที่ยว “พื้นที่สีฟ้า” พ.ย. นี้ เพิ่ม 10 จังหวัด https://news.thaipbs.or.th/content/308185
- Travel to England from another country during coronavirus (COVID-19) https://www.gov.uk/guidance/travel-to-england-from-another-country-during-coronavirus-covid-19
- Singapore to extend vaccinated travel lane scheme to eight more countries, including US, UK, Spain https://www.channelnewsasia.com/singapore/singapore-extend-vaccinated-travel-lane-scheme-eight-more-countries-including-us-uk-spain-2232501
- รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2564 https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2//files/Daily%20report%202021-10-11.pdf