จากผลสำรวจของ Robert Walters บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดหางาน พบว่า ในปีที่ผ่านมา ตำแหน่งงานในไทยที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘ผู้อำนวยการ’ เพิ่มขึ้นถึง 24% และตำแหน่ง ‘หัวหน้าแผนก’ ในกลุ่มคนที่มีประสบการณ์เพียง 2 ปี ก็พุ่งขึ้นถึง 16% สถิตินี้สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่บริษัทจำนวนมากกำลังใช้ เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กร
ปรากฏการณ์ ‘ตำแหน่งงานเฟ้อ’ (Job Title Inflation) กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในวงการ HR ตำแหน่งที่ดูหรูหราเกินจริงเหล่านี้กลายเป็น ‘เหยื่อล่อ’ ชั้นดีที่บริษัทใช้ดึงดูดผู้สมัคร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ผลสำรวจพบว่า 86% ให้ความสำคัญกับตำแหน่งงานเป็นอย่างมาก และ 36% คาดหวังว่าจะได้เลื่อนตำแหน่งภายใน 18 เดือนแรกของการทำงาน
กลยุทธ์นี้ดูเหมือนจะได้ผล เพราะมีบริษัทเกือบครึ่งหนึ่ง (50%) ยอมรับว่า เคยใช้ตำแหน่งที่ดูดีเกินจริง เพื่อดึงดูดคนเข้าทำงาน และส่วนใหญ่ก็ได้ผลตอบรับที่ดีเสียด้วย!
ทว่ามีเพียง 6% เท่านั้นที่ใช้แนวทางที่คล้ายกันโดยไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อีกทั้ง 40% ของบริษัทที่ทำแบบสำรวจยังไม่เคยใช้แนวทางนี้
อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ความเสี่ยงของ ‘ตำแหน่งงานเฟ้อ’ คือ การสร้างภาพลวงตาให้กับทั้งพนักงานและบริษัทเอง พนักงานอาจรู้สึกดีใจที่ได้ตำแหน่งใหญ่โต แต่เมื่อต้องลงมือทำงานจริง กลับพบว่าความรับผิดชอบไม่สอดคล้องกับตำแหน่งที่ได้รับ ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดหวังและบั่นทอนกำลังใจในการทำงาน
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้พนักงานสับสนในการทำความเข้าใจบทบาทและความรับผิดชอบที่แท้จริงของตนเอง เกิดความไม่พอใจเมื่อรู้สึกว่าความรับผิดชอบที่แท้จริงไม่ตรงกับความอาวุโสของตำแหน่ง
ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจยังเผยให้เห็นว่า พนักงานไม่ได้มองว่าตำแหน่งที่สูงส่ง หรือคำนำหน้าว่า ‘Head of’ หรือ ‘C-suite’ เป็นตัวบ่งบอกถึงความอาวุโสที่แท้จริง แต่กลับให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ในการบริหารทีม (56%) และความสำคัญของงานที่ทำ (39%) มากกว่า
ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า การได้รับตำแหน่งที่ดูดีอาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในช่วงแรก แต่ในระยะยาว สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจและความก้าวหน้าในอาชีพอย่างแท้จริงคือ การได้เป็นผู้นำทีมและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร
ด้านบริษัทเองก็อาจประสบปัญหาในการบริหารจัดการและวางแผนเส้นทางการเติบโตของพนักงาน เมื่อตำแหน่งไม่สะท้อนความสามารถที่แท้จริง นอกจากนี้ หากผู้สมัครงานหรือลูกค้าภายนอกรับรู้ถึงความไม่สอดคล้องนี้ ก็อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของบริษัทได้
ผู้เชี่ยวชาญจาก Robert Walters แนะนำว่า ถึงแม้กลยุทธ์ ‘ตำแหน่งงานเฟ้อ’ อาจช่วยดึงดูดคนได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว ความชัดเจนและความโปร่งใสในการสื่อสารบทบาทและความรับผิดชอบที่แท้จริงของตำแหน่งงานต่างหาก ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งพนักงานและองค์กร
ขณะเดียวกัน การสร้างสมดุลระหว่างตำแหน่งงานที่น่าดึงดูดใจและความรับผิดชอบที่สอดคล้องกัน จะช่วยให้บริษัทสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ได้อย่างแท้จริง
ภาพ: Suney munintrangkul / Shutterstock