×

กทม. แถลงคืบหน้าช่วยเหลือผู้รอดชีวิตตึก สตง. อีก 1 เมตรถึงผู้ติดค้างในโซน B พร้อมแจงรายเอียดการรับเงินเยียวยาสูงสุด 49,500 บาท

โดย THE STANDARD TEAM
03.04.2025
  • LOADING...
zone-b-survivor-aid

วันนี้ (3 เมษายน) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย สุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการสำนักงานเขตจตุจักร และ พ.ต.ท. วรภัทร สุขไทย รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ร่วมแถลงความคืบหน้าของปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารในโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ จตุจักรถล่ม ขณะแผ่นดินไหว ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 

 

สุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงเข้าปฏิบัติหน้าที่ในโซน B และโซน C โดยเฉพาะในโซน C ที่อยู่สูงกว่าพื้นถึง 3 เมตร ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการใช้เครื่องจักร ขณะดำเนินการไปแล้วประมาณ 2 เมตร เหลืออีกประมาณ 1 เมตร จึงจะเข้าถึงตัวผู้ติดค้างด้านในได้ ส่วนการตอบรับของผู้ที่ติดค้าง ล่าสุดยังไม่ได้รับเสียงการตอบรับใดๆ 

 

ทั้งนี้ โซน​ C และโซน D อยู่ระหว่างดำเนินการค้นหาตั้งแต่เช้าทั้ง K9 และเจ้าหน้าที่ดำเนินการอยู่บริเวณช่องลิฟต์ และบันไดโซน C ที่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ ปัจจุบันได้มีการเจาะคล้ายอุโมงค์เพื่อเข้าไปสู่ผนังของของลิฟต์เพื่อเข้าไปในโถงที่คาดว่าน่าจะมีบุคคลที่หนีลงบันได ซึ่งมีโอกาสที่จะติดค้างอยู่บริเวณด้านใน ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งความหวัง

 

สุริยชัยกล่าวว่า อุปสรรคใหญ่สุดคือความแข็งของวัสดุ โดยเฉพาะพื้นที่คอนกรีตที่ทับลงมา ถือว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้เจ้าหน้าที่เจาะได้เพียง 2 เมตรเท่านั้น โดยยืนยันว่าขณะนี้ไม่ได้เจอสัญญาณชีพเพิ่ม และทำการค้นหาในโซน​ C และโซน D ในบริเวณช่องลิฟต์และบันไดไปพร้อมกัน ส่วนเสียงร้องขอความช่วยเหลือนั้นเป็นเสียงที่เกิดขึ้นในช่วงแรก

 

ขณะที่ทวิดากล่าวชี้แจงถึงจำนวนคนแรงงานข้ามชาติว่า ล่าสุดได้รับรายชื่อจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในการยืนยันถึงตัวแรงงานว่ามีทั้งสิ้น 103 ราย จากเดิมที่มี 96 ราย ผู้เสียชีวิตยังเป็นตัวเลข 15 รายเหมือนเดิม ส่วนผู้ที่บาดเจ็บทั้งแรงงาน 9 ราย และประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ 10 ราย ทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็น 19 ราย 

 

ส่วนการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งเหตุอาคารผ่าน Traffy Fondue มีทั้งสิ้น 17,112 เคส แบ่งเป็น 1. ปลอดภัยใช้อาคารได้ (สีเขียว) 13,570 เคส 2. เสียหายปานกลาง (สีเหลือง) 387 เคส และ 3. เสียหายมาก (สีแดง) 2 เคส ส่วนอาคารที่กรุงเทพฯ ร่วมกับวิศวกรอาสาตรวจสอบมีทั้งสิ้น 487 เคส

 

นอกจากนี้ กทม. ยังจัดที่พักศูนย์พักพิงการดูแลประชาชน ศูนย์พักพิงการเยียวยา/การช่วยเหลือที่พักอาศัยผ่าน Airbnb ด้วย ส่วนการเยียวยาผู้ประสบภัยค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำจ่ายตามจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท 

 

กรณีที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงที่ กทม. จัดให้ โดยจะจัดสรรเป็นเงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน เป็นเงินไม่เกิน 6,000 บาท จ่ายค่าจัดงานศพผู้เสียชีวิตรายละ 29,700 บาท และกรณีผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือผู้หารายได้หลักของครอบครัว ได้เพิ่มครอบครัวละไม่เกิน 29,700 บาท 

 

ส่วนค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ (ตามใบรับรองแพทย์) กรณีบาดเจ็บสาหัส ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 4,000 บาท ส่วนกรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการ ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 13,300 บาท เงินปลอบขวัญ (ตามใบรับรองแพทย์) กรณีรับบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัยรายละ 2,300 บาท และเงินทุนประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท

 

ทั้งนี้ เป็นไปตามการประเมินของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยรายงานไปยัง ปภ. กทม. เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือมายัง ปภ. ต่อไป

 

ส่วนขั้นตอนการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีการเกิดแผ่นดินไหว สามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องขอรับความช่วยเหลือได้ที่เว็บไซต์สำนักงานเขตหรือเว็บไซต์ของ กทม. ผู้ร้องต้องยื่นเอกสารคำร้องและหลักฐานที่ฝ่ายปกครองสำนักงานเขตพร้อมให้ข้อเท็จจริง เอกสารหลักฐานประกอบด้วยแบบสอบข้อเท็จจริงผู้ประสบภัย, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีผู้ไม่มีสัญชาติไทยใช้สำเนาพาสปอร์ต, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาโฉนดที่ดิน, สำเนาใบ อช.2 (โฉนดคอนโด), สำเนาบันทึกประจำวัน, หนังสือรับรองผู้ประสบภัยและบัญชีความเสียหายแนบท้ายฯ, บันทึก (ป.ค.14) ใช้ในกรณีที่เอกสารที่ยื่นยังไม่ชัดเจน, เอกสารประกอบการขอรับความช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมที่พักอาศัยฯ และรูปภาพความเสียหาย

 

ทวิดากล่าวต่อว่า การช่วยเหลือครั้งนี้เป็นรูปแบบของการช่วยเหลือประชาชนคนไทย ส่วนแรงข้ามชาตินั้นจะได้รับการเยียวยาจากนายจ้างที่ทำประกันไว้ ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน 

 

ส่วนเรื่องการตรวจสอบ DNA นั้น พ.ต.ท. วรภัทร สุขไทย รอง ผกก.ป.สน.บางซื่อ กล่าวว่า ญาติผู้ประสบภัยระหว่างรอรับผู้ประสบภัยระหว่างรอสามารถไปเก็บ DNA ได้ที่นิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ มีพนักงานสอบสวนของ สน.บางซื่อ เพื่อให้เวลาพบบุคคลที่ค้นหาอยู่และพิสูจน์ทราบว่าตรงกันหรือไม่ เพื่อใช้ข้อมูล DNA ตัวนี้ยืนยันตัวบุคคลได้ว่าเป็นญาติของท่านจริงๆ 

 

ทั้งนี้ เพราะเวลาผ่านไปหลายวันแล้ว กรณีพบผู้เสียชีวิตนั้นถูกคลุมด้วยฝุ่นปูน การพิสูจน์อัตลักษณ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงขอให้ครอบครัวไปเก็บ DNA ที่สถาบันนิติเวชวิทยาไว้เพื่อเป็นการพิสูจน์ทราบต่อบุคคล ในส่วนกองอำนวยการรวมได้ทำฐานข้อมูลกับนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจแล้ว

 

สำหรับสถานการณ์จากศูนย์เอราวัณกรณีเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 35 ราย แบ่งเป็น นอนโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้าน 24 ราย มีผู้เสียชีวิต 22 ราย โดยเสียชีวิตที่เกิดเหตุ 19 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 3 ราย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising