เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว THE STANDARD ได้มีโอกาสไปร่วมในงานพิธีการลงนาม MOU ซึ่งเป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘การใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBS™ และความร่วมมือส่งเสริมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อสร้างจิตสำนึกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)’ ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) และถึงแม้ว่าชื่อและภาพของงานจะเป็นพิธีการที่ดูจริงจัง แต่เราพบว่าการลงนามในครั้งนี้มีเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจมาก จึงอยากนำมาฝากกัน โดยเฉพาะคนที่สนใจอยากปฏิวัติตนเองให้ก้าวเข้าสู่การใช้ชีวิตแบบ Zero Waste ว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีและมาตรการอะไรที่น่าสนใจและได้ผลแล้วบ้าง
ขอแนะนำให้รู้จักกับแก้ว Zero Waste Cup
นวัตกรรมพลาสติกย่อยสลาย หรือ BioPBS™ ซึ่ง GC ร่วมลงทุนและพัฒนาในเทคโนโลยีขั้นสูงที่ผลิตจากพืช อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด และเป็นที่มาของแก้ว Zero Waste Cup ที่สามารถย่อยสลายได้ 100% ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สั่งผลิตเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับร้านค้าภายในจุฬาฯ ที่ขายเครื่องดื่ม โดยทางมหาวิทยาลัยได้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมการลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single Used Plastic) ก็คือ หากลูกค้านำภาชนะมาใส่น้ำเอง ร้านค้าจะลดราคาให้ 2 บาท แต่ถ้าไม่มีภาชนะมา ทางร้านก็จะขายโดยใช้แก้ว Zero Waste Cup ซึ่งผู้ซื้อจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่าแก้วนั้นเอง ด้วยความต้องการที่ต้องการจูงใจให้นำภาชนะมาเอง ซึ่งวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยนำร่องใช้แก้ว Zero Waste Cup ภายในโรงอาหารจำนวน 10 แห่ง และมีการวางแผนเพื่อนำไปใช้ให้ครบทั้งหมด 17 แห่งในอนาคต
แก้วที่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน
แก้ว Zero Waste Cup นี้ ผ่านการทดสอบการฝังกลบภายใต้อุณหภูมิปกติ โดยสามารถย่อยสลายและกลับคืนสู่ธรรมชาติภายใน 180 วัน กลายเป็นสารปรุงแต่งดินที่ช่วยในการเจริญเติบโตของต้นจามจุรี และต้นไม้อื่นๆ รอบมหาวิทยาลัย โดยอาศัยองค์ประกอบของธรรมชาติอย่างเช่น ความร้อน ความชื้น และแบคทีเรียในดิน หลังการฝังกลบลงดินตามปกติจะถูกจุลินทรีย์ในดินย่อยสลายกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและกากชีวมวล โดยไม่ทิ้งสารตกค้างที่เป็นอันตรายใดๆ นอกจากนี้แก้วที่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน ภายในงานก็ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ 100% กระเป๋าสะพาย และเก้าอี้ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล รวมถึงข้อมูลของโครงการ Chula Zero Waste ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการขยะในชุมชน
สังคม Zero Waste เป็นจริงได้ หากตั้งใจจริง
หลายคนได้ยินคำว่า Zero Waste กันมานาน แต่ครั้นจะให้ทำจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนรวมพลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมที่ใกล้เคียงกับความเป็น Zero Waste ให้ได้มากที่สุด โดยทางจุฬาฯ มีโครงการ Chula Zero Waste ซึ่งเป็นมาตรการที่ควบคุมการใช้พลาสติกภายในมหาวิทยาลัย โครงการ My Bottle ซึ่งมีการติดตั้งตู้กดน้ำ 45 ตู้ทั่วมหาวิทยาลัย และแจกกระบอกน้ำให้กับนิสิตเข้าใหม่ โดยตู้กดน้ำจะมีการทำความสะอาดเปลี่ยนไส้กรองอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และโครงการใช้แก้ว Zero Waste Cup ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดปริมาณแก้วพลาสติกได้กว่า 170,000 ชิ้นต่อเดือน หรือกว่า 2 ล้านใบต่อปี
วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กลไกที่จะนำพาสังคมไปสู่ Circular Economy
เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คำตอบที่จะนำพาโลกใบนี้ไปสู่การปรับเปลี่ยนไปสู่ทางรอดที่ยั่งยืน เพราะทรัพยากรในโลกใบนี้มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงการเกิดขึ้นของขยะที่นับวันจะก่อปัญหาต่อระบบนิเวศมากขึ้นทุกที การใช้พลังของวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะปรับปรุง พัฒนา การบริโภคของมนุษย์ให้ยกระดับขึ้นไปสู่การใช้แล้วไม่สร้างภาระให้กับโลก แต่ที่สำคัญก็คือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ที่จะนำพาสังคมไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยสามารถหมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยวันนี้ จุฬาฯ และ GC ได้เริ่มต้นขับเคลื่อนแล้ว
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เคมี…ที่เข้าถึงทุกความสุขได้ที่ www.pttgcgroup.com/th/sustainability/circular-economy