×

อธิบายปรากฏการณ์ ชาวจีนลุกฮือประท้วงนโยบาย Zero-COVID ในหลายเมือง ท้าทายอำนาจสีจิ้นผิง

28.11.2022
  • LOADING...
Zero-COVID

สถานการณ์ระบาดของโควิดในจีนที่ทวีความรุนแรง ด้วยยอดผู้ติดเชื้อเกินวันละ 4 หมื่นคน และการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกัน รวมถึง ‘ล็อกดาวน์’ อย่างเข้มงวด ตามนโยบาย Zero-COVID หรือโควิดเป็นศูนย์ ส่งผลให้เกิดการประท้วงของประชาชนที่แพร่กระจายในหลายเมืองทั่วประเทศ รวมถึงเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

การออกมาชุมนุมเพื่อระบายความอัดอั้นและไม่พอใจในที่สาธารณะ สำหรับชาวจีนนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ยาก โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการท้าทายอำนาจรัฐบาลปักกิ่งและพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่เพิ่งครองเก้าอี้เลขาธิการใหญ่ของพรรคเป็นสมัยที่ 3 ได้เพียง 1 เดือนเศษ

 

คำถามที่หลายคนสงสัย คืออะไรเป็นต้นตอที่ทำให้ประชาชน ‘กล้า’ ลุกฮือขึ้นประท้วง ทั้งที่รู้ว่าทางการจีนนั้นเข้มงวดในการจัดการกับผู้ประท้วงแค่ไหน และทางการจีนรับมือต่อกระแสความไม่พอใจที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง?

 

ชนวนเหตุจากซินเจียง

 

  • เหตุประท้วงนโยบาย Zero-COVID ที่เกิดขึ้นและลุกลามไปยังหลายเมืองตั้งแต่วันเสาร์ (26 พฤศจิกายน) เชื่อว่ามีชนวนเริ่มต้นมาจากกระแสความไม่พอใจต่อกรณีการเสียชีวิตของประชาชน 10 คน จากเหตุไฟไหม้อาคารพักอาศัยในเมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 

 

  • หลังเกิดเหตุ ปรากฏคลิปวิดีโอเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ที่แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่กำลังรื้อถอนรั้วกั้น ซึ่งติดตั้งไว้รอบอาคารดังกล่าว เพื่อล็อกดาวน์ห้ามประชาชนออกนอกพื้นที่ตามมาตรการป้องกันโควิด ในขณะที่รถดับเพลิงต้องรอที่จะเข้าไปควบคุมเพลิง จนทำให้การช่วยเหลือและอพยพผู้คนเป็นไปอย่างล่าช้า และกว่าจะควบคุมเพลิงสำเร็จก็ใช้เวลาไปกว่า 3 ชั่วโมง ทำให้เกิดคำถามและความไม่พอใจต่อมาตรการที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุ

 

  • ซึ่งแม้ทางการท้องถิ่นจะออกมาขอโทษประชาชนต่อการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้น และยืนยันจะลงโทษผู้ที่รับผิดชอบ แต่ก็ไม่เพียงพอจะดับความโกรธของประชาชน จนเกิดการประท้วงขึ้นภายในเมืองช่วงเย็นวันถัดมา 

 

  • ขณะที่ทางการจีนได้ดำเนินการรับมือสถานการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นในทันที โดยลบโพสต์ทั้งคลิปวิดีโอและข้อความเกี่ยวกับการประท้วงออกจากโซเชียลมีเดียทั้งหมด ซึ่งเป็นมาตรการปกติที่ใช้เพื่อป้องกันการจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และปลุกปั่นความวุ่นวายในประเทศ

 

  • ทางด้าน ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งเพจอ้ายจง กล่าวถึงท่าทีของจีนในการรับมือสถานการณ์ประท้วงที่ปะทุขึ้นในซินเจียง โดยชี้ว่า แม้ทางการจีนจะปิดกั้นการรายงานข่าวและกระแสวิจารณ์บนโลกออนไลน์ และไม่ยอมรับในความผิดพลาดของมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้การควบคุมเพลิงล่าช้า แต่ก็ยังมีการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การออกมาชี้แจงว่า อาคารที่เกิดไฟไหม้นั้นอยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ และไม่มีการล็อกดาวน์

 

การประท้วงลุกลามหลายเมือง

 

  • สิ่งที่เกิดขึ้นในอุรุมชี ทำให้ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดการประท้วงลุกลามไปยังหลายเมือง รวมถึงเมืองใหญ่ที่สุดอย่างเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่ง โดยผู้คนออกมาร่วมชุมนุมเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการบังคับใช้นโยบาย Zero-COVID ที่เข้มงวด และจุดเทียนไว้อาลัยให้แก่เหยื่อจากเหตุไฟไหม้

 

  • หลายคลิปวิดีโอการประท้วงในเซี่ยงไฮ้ แสดงให้เห็นฝูงชนเผชิญหน้ากับตำรวจ และตะโกนอย่างเกรี้ยวกราดว่า “จงรับใช้ประชาชน”, “เราต้องการเสรีภาพ”, “เราไม่ต้องการรหัสสุขภาพ” ซึ่งหมายถึงแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ที่ต้องสแกนเพื่อระบุสถานะสุขภาพสำหรับใช้เข้าสถานที่สาธารณะทั่วจีน โดยเป็นหนึ่งในเครื่องมือป้องกันโควิดของรัฐบาลปักกิ่ง

 

  • ผู้ประท้วงในบางจุดยังตะโกนต่อต้านการล็อกดาวน์ทั้งในซินเจียงและเมืองต่างๆ พร้อมทั้งชูกระดาษเปล่าที่เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงต่อต้านการเซ็นเซอร์ หรือปิดกั้นข้อมูลความคิดเห็นที่ทางการจีนมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง 

 

  • ขณะที่หนึ่งในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว AP ยังปรากฏภาพของผู้ประท้วงกลุ่มใหญ่ ที่ตะโกนข้อความดุเดือด อย่างการ “ขับไล่พรรคคอมมิวนิสต์และสีจิ้นผิง” 

 

  • สถานการณ์ประท้วงในหลายเมือง มีการปะทะกันระหว่างตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยคำบอกเล่าของพยานระบุว่า ตำรวจที่เซี่ยงไฮ้ใช้สเปรย์พริกไทยฉีดใส่ผู้ประท้วงราว 300 คน ส่วนที่เมืองนานกิง ทางภาคตะวันออก และกว่างโจวทางตอนใต้ และอีกอย่างน้อย 5 เมือง ก็ปรากฏภาพผู้ประท้วงตะลุมบอนกับตำรวจอย่างชุลมุน แม้จะไม่มีรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บจากการปะทะที่เกิดขึ้น

 

  • ที่เมืองหลานโจว ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ประชาชนได้แสดงออกถึงการต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ ด้วยการพลิกเต็นท์เจ้าหน้าที่โควิด และทุบตู้ตรวจเชื้อ โดยกลุ่มผู้ประท้วงอ้างว่า พวกเขาถูกบังคับล็อกดาวน์ แม้ว่าจะไม่มีใครตรวจพบเชื้อเป็นบวกเลยก็ตาม

 

  • ทางด้าน ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ระบุถึงสถานการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในจีนว่า 

 

“อะไรก็ตามที่ตึงเกินไป มันจะสร้างปัญหาตามมา” และชี้ว่า “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นน่ากังวลมาก และเป็นโจทย์ที่ยากของสีจิ้นผิง”

 

  • ดร.อักษรศรีมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลจีนที่เดินเกมพลาดในนโยบาย Zero-COVID ที่ตึงเกินไป จนทำให้ผู้คนเกิดความอึดอัด

 

ทำไมจีนยังเดินหน้ายุทธศาสตร์ Zero-COVID

 

  • ที่ผ่านมารัฐบาลจีนและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมั่นใจว่านโยบาย Zero-COVID นั้นช่วยชีวิตประชาชนได้ และมีความจำเป็นต้องคงไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการรักษาพยาบาลล่มสลายจากการที่ผู้ป่วยล้นจนรับมือไม่ไหว ซึ่งแน่นอนว่าในจุดหนึ่งก็ประสบความสำเร็จ โดยมียอดผู้เสียชีวิตและการแพร่ระบาดในจีนที่ลดลงชัดเจน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาดรุนแรง

 

  • แต่ในทางกลับกัน ความคับข้องใจของประชาชนก็สะสมมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจีน และเป็นหนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปรากฏว่ามาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดที่เข้มงวด ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ทั่วเมืองนานกว่า 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม หลายล้านครอบครัวถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคตกต่ำอย่างหนัก และเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองทั้งระบบ

 

  • ภากรระบุว่า หลังจากที่สีจิ้นผิงรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นอกจากจะย้ำจุดยืนต่อนโยบาย Zero-COVID เขายังประกาศความพยายามในการดำเนินนโยบาย Zero-COVID ที่สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ และมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ตลอดจนมุ่งเน้นเป้าหมายในการเปิดประเทศ และร่วมมือกับประเทศอื่นมากยิ่งขึ้น โดยหลายฝ่ายจับตามองท่าทีของสีในเรื่องนี้ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

 

  • นอกจากนี้เขาเผยว่า รัฐบาลปักกิ่งยังพยายามควบคุมไม่ให้ทางการท้องถิ่นดำเนินมาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวดเกินกว่าที่รัฐบาลกลางกำหนด หลังเกิดการร้องเรียนจากประชาชนในหลายพื้นที่ ซึ่งหลายเมืองพบว่าทางการท้องถิ่นมีการดำเนินมาตรการที่เข้มงวด เนื่องจากกลัวถูกลงโทษหากไม่สามารถป้องกันการระบาดได้ 

 

  • ขณะที่ภากรระบุว่า จีนได้พยายามผ่อนคลายความเข้มงวดในการดำเนินนโยบาย Zero-COVID มากขึ้น โดยที่ผ่านมามีการปรับลดแนวปฏิบัติในการกำหนดพื้นที่เสี่ยงของการแพร่ระบาดจาก 3 ระดับลงเหลือ 2 ระดับ แบ่งเป็น High กับ Low ซึ่งการกำหนดว่าพื้นที่ใดจะใช้แนวปฏิบัติแบบ Low นั้น ต้องไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน 5 วันขึ้นไป ทำให้อาจเป็นเรื่องยากและหลายเมืองอาจยังต้องเผชิญกับมาตรการล็อกดาวน์ในระดับ High หากพบผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว

 

  • “ถึงแม้จะเป็นการออกไกด์ไลน์มาว่าอาจจะดูผ่อนคลายขึ้น แต่การไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน 5 วัน หมายความว่าถ้ามีแม้แต่รายเดียวก็ยังต้องเป็นเสี่ยงสูงต่อไปหรือไม่ นี่เป็นหนึ่งในประเด็นที่สื่อตะวันตกก็สื่อมาเหมือนกัน ว่ามีการร้องเรียนจากหลายพื้นที่ ว่าบางพื้นที่ก็ไม่ได้มีคนติดเชื้อเวลาระดมตรวจแล้ว แต่ทำไมยังคงต้องล็อกดาวน์” ภากรกล่าว

 

ความท้าทายต่อสีจิ้นผิง 

 

  • สำหรับการประท้วงที่เกิดขึ้นถูกจับตามองว่าอาจเป็นความท้าทายต่ออำนาจของสีจิ้นผิง และมีรายงานจากสื่อตะวันตกหลายสำนักถึงกระแสเรียกร้องให้สีจิ้นผิงลงจากตำแหน่ง แต่ภากรชี้ว่ากระแสวิจารณ์หรือขับไล่สีจิ้นผิงในจีนนั้นยังมีแค่ส่วนน้อย เนื่องจากประชาชนยังคงหวาดกลัวที่จะพูดถึง และส่วนใหญ่เรียกร้องแค่ให้รัฐผ่อนคลายมาตรการลงเพื่อใช้ชีวิตประจำวันได้ 

 

  • อย่างไรก็ตามภากรมองว่า หากรัฐบาลจีนยังไม่สามารถรักษาสมดุลทั้งในด้านการดำเนินมาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวด และทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและเดินหน้าเศรษฐกิจได้ ก็อาจมีส่วนที่กระแสความไม่พอใจซึ่งเริ่มปะทุขึ้นนี้ จะส่งผลไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาลจีน

 

  • ทางด้าน แดน แมททิงลี (Dan Mattingly) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล มองว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะสร้างแรงกดดันอย่างรุนแรงให้พรรคคอมมิวนิสต์ดำเนินการรับมือ และมีโอกาสที่จะใช้การปราบปราม ตลอดจนจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ประท้วงบางคน แต่สถานการณ์นั้นจะยังไม่ไปถึงขั้นจุดชนวนให้เกิดการปราบปรามที่รุนแรงเช่นโศกนาฏกรรมเทียนอันเหมิน

 

  • “ความไม่สงบยังห่างไกลจากที่เคยเกิดขึ้นในปี 1989 เมื่อการประท้วงถึงจุดสูงสุดด้วยการปราบปรามนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน” แมททิงลีกล่าว

 

ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising