เศรษฐกิจไม่ดีการขยายสาขาต้องมีจังหวะที่ดี Zen Group ย้ำพร้อมกางแผนยุทธศาสตร์ปี 2568 ผลักดัน 10 แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ เร่งเติบโตระยะยาวผ่านอาวุธลับของคุณภาพอาหาร และประเดิมวางขายเมนูส้มตำพร้อมกินในแม็คโคร-โลตัส ก่อนเดินหน้าขยายสาขาบุก สปป.ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์เต็มสูบ
สรรคนนท์ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN กล่าวว่า ในปีนี้ธุรกิจร้านอาหารยังต้องเผชิญความท้าทาย กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องตั้งรับ ยิ่งในยุคที่ร้านอาหารเกิดใหม่ ตัวเลือกของผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ร้านอาหารแข่งขันกันรุนแรงอยู่แล้วก็ยิ่งจะแรงขึ้นไปอีก
ปัจจุบันธุรกิจอาหารในเครือของ Zen Group มีทั้งหมด 10 แบรนด์ ประกอบด้วย แบรนด์อาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ เริ่มจาก Zen, AKA, On The Table, Din’s, TETSU, Sushi Cyu & Carnival และแบรนด์อาหารไทย 4 แบรนด์ คือ เขียง, ตำมั่ว, ลาวญวน, De Tummour ทุกๆ แบรนด์รวมแล้ว 317 สาขา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ZEN ปรับราคาอาหารขึ้น สะท้อนต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น หลักๆ คือเนื้อปลาแซลมอนและเนื้อหมู
- ZEN ปรับโมเดลธุรกิจ หันเช่าพื้นที่นอกห้าง สร้างครัวกลางผลิตอาหาร หวังลดต้นทุน
- ZEN – คาดผลประกอบการแข็งแกร่งขึ้นใน 2H65
แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทลงทุนเอง 177 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 140 สาขา ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยตอบโจทย์ได้ทั้งกลุ่มลูกค้าที่ชอบกินอาหารระดับแมสไปจนถึงพรีเมียม
ทั้งนี้ในปี 2567 บริษัททำรายได้รวม 734 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 34 % ส่วนใหญ่ 70% มาจากธุรกิจร้านอาหารเป็นหลัก โดยแบรนด์ที่ทำรายได้สูงสุดคือ Zen ตามด้วย AKA และ On The Table
นอกนั้นเป็นรายได้ที่มาจากสาขาแฟรนไชส์ และธุรกิจผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย มาจากบริษัทเซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรุงรส ตามด้วยคิง มารีน ฟู้ดส์ ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลและเนื้อแช่แข็ง
ปัจจัยที่ทำให้เติบโตมาจากการปรับกลยุทธ์ให้ความสำคัญกับทุกๆ แบรนด์อาหารในเครือฯ ทั้งคุณภาพของวัตถุดิบและราคาที่เหมาะสม ส่วนบริษัทย่อยเซ็น แอนด์ โกสุม และ คิง มารีน ฟู้ดส์ มีการจัดหาสินค้าใหม่ๆ มานำเสนอ ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น โดยทั้งสองบริษัทมีอัตราการเติบโต 94%
จากนี้เดินหน้าวางแผนเติบโตระยะยาวและต้องพัฒนาธุรกิจอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่บริษัทต้องการทำรายได้เติบโตอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท เฉลี่ย 10% ต่อปี ในปีนี้ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีมากนัก ธุรกิจจะโฟกัสที่การทำรายได้และสร้างผลกำไรในสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ควบคู่กับปรับโมเดลธุรกิจให้กระชับ ทันสมัย พร้อมเน้นขยายสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศมากกว่าที่จะขยายในประเทศ
โดยตลาดที่น่าสนใจคือภูมิภาคเอเชียเป็นเป้าหมายแรก เนื่องจากวัฒนธรรมการกินอาหารคล้ายๆ กัน จากที่เราเคยนำแบรนด์เขียงเข้าไปทดลองตลาดใน สปป.ลาวมา 13 ปี จึงพบว่าคนลาวชอบอาหารไทยรสชาติแบบไหน รวมถึงมาเลเซียเป็นประเทศที่อยู่ใกล้กับไทยและเข้ามาเที่ยวในไทยอยู่บ่อยครั้งผู้บริโภคจึงมีความคุ้นชินกับอาหาร และตอนนี้ฟิลิปปินส์ก็เริ่มสนใจอาหารไทยด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดล้วนเป็นโอกาสของธุรกิจ ทำให้ในปี 2567 เปิดร้านเขียงที่ประเทศญี่ปุ่น, สปป.ลาว และมาเลเซีย และในไตรมาสแรกของปี 2568 มีเปิดเพิ่มที่ สปป.ลาว 1 สาขา และฟิลิปปินส์ 1 สาขา ตามด้วยไตรมาส 2 มีแผนเปิดสาขา On The Table และลาวญวนที่ สปป.ลาว
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือการร่วมมือกับบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เตรียมนำน้ำปลาร้าแบรนด์ตำมั่วเข้าไปขายคู่กับชุดผักส้มตำพร้อมปรุง มีทั้งชุดผักส้มตำปลาร้า และชุดผักส้มตำไทย นำร่องที่แม็คโครและโลตัสทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรุกตลาดอาหารพร้อมกินที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตจากเทรนด์ของผู้บริโภคที่ชอบความสะดวกและบริการที่รวดเร็ว