วานนี้ (15 พฤษภาคม) อังกฤษประกาศว่า ทางการจะส่งมิสไซล์ป้องกันภัยทางอากาศหลายร้อยลูกและโดรนติดอาวุธอีกหลายร้อยลำให้กับยูเครน เพิ่มเติมจากที่ให้คำมั่นว่าจะส่งจรวดนำวิถีจากอากาศสู่พื้น Storm Shadow เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้จะส่งผลให้อังกฤษเป็นชาติที่ส่งอาวุธให้กับยูเครนมากที่สุดในโลก
โดยวานนี้ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ได้เดินทางถึงอังกฤษเพื่อเข้าพบนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค หลังเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจเดินทางเยือนเยอรมนีในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้า โดยเซเลนสกียังคงมาในชุดเครื่องแบบทหารสีเขียวที่เป็นเอกลักษณ์ และสวมกอดกับผู้นำอังกฤษท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่น
ผู้นำยูเครนได้พูดคุยกับซูนัคเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ณ สถานที่พักผ่อนของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน โดยเซเลนสกีกล่าวว่า ยูเครนและอังกฤษเป็น ‘พันธมิตรที่แท้จริง’ ขณะที่โฆษกของซูนัคกล่าวว่า บรรยากาศการหารือของทั้งคู่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและเป็นมิตร
สำหรับจรวดนำวิถีจากอากาศสู่พื้น Storm Shadow ซึ่งอังกฤษได้ให้สัญญาว่าจะส่งมอบให้ยูเครนก่อนหน้านี้ เป็นอาวุธที่สามารถทำลายฐานที่มั่นหรือจุดประจำการต่างๆ ที่ทหารรัสเซียปฏิบัติการอยู่ในยูเครนได้ ซึ่งหากยูเครนสามารถทำลายศูนย์บัญชาการ ตลอดจนศูนย์กลางโลจิสติกส์ และคลังกระสุนของรัสเซียที่อยู่ในดินแดนของตนเองได้ ก็จะทำให้การส่งกำลังเสริมไปยังแนวหน้าของรัสเซียกลายเป็นอัมพาต ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ยูเครนเคยทำสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งในสมรภูมิเคอร์ซอนเมื่อปี 2022 และบีบให้รัสเซียต้องล่าถอยออกจากพื้นที่ดังกล่าว
ในการหารือระหว่างสองผู้นำ เซเลนสกียังคงย้ำชัดถึงจุดยืนเดิมว่า ชาติตะวันตกควรส่งเครื่องบินรบให้กับยูเครน เพื่อเป็นอาวุธสำคัญที่จะพลิกเกมในสมรภูมิรบกับรัสเซีย ซึ่งบัดนี้กินเวลายืดเยื้อมานานถึง 14 เดือนแล้ว แต่ถึงเช่นนั้นชาติตะวันตกและอังกฤษเองก็ยังคงบ่ายเบี่ยง โดยซูนัคกล่าวว่า การจัดส่งเครื่องบินรบไม่ใช่สิ่งที่จะ ‘สามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมา’ แต่อังกฤษจะช่วยฝึกอบรมการบินขั้นต้นให้กับนักบินของยูเครนช่วงฤดูร้อนนี้ และจะพยายามประสานงานกับประเทศอื่นๆ เพื่อให้มีการจัดส่ง F-16 ให้กับยูเครน
ปัจจุบันฝ่ายของยูเครนได้เดินหน้าเตรียมการตอบโต้รัสเซียอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เซเลนสกีเปิดเผยกับสำนักข่าว BBC ว่า ยูเครนต้องการอาวุธเพิ่มอีกก่อนที่จะสามารถเปิดฉากการจู่โจมได้
อนึ่ง ประเด็นการจัดส่งเครื่องบินรบให้กับยูเครนนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีความอ่อนไหวสูงสำหรับชาติพันธมิตร NATO โดยการฝึกอบรมให้ทหารยูเครนสามารถขับเครื่องบินรบของ NATO ได้นั้นใช้เวลานานหลายเดือน ขณะที่การขนส่งและการซ่อมบำรุงก็มีความยุ่งยาก บวกกับรันเวย์ของเครื่องบินที่จะต้องถูกปรับให้เหมาะสม
และที่สำคัญที่สุดคือ NATO จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการจัดส่งอาวุธบางประเภทให้กับยูเครน เพื่อเลี่ยงไม่ให้ตนเองต้องเข้าไปพัวพันในสงครามโดยตรง เพราะการจัดส่งเครื่องบินรบอาจถูกรัสเซียมองว่าเป็นการยั่วยุครั้งรุนแรงได้
ภาพ: Ukrainian Presidency / Handout / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: