×

ยุทธพรเผย กมธ.นิรโทษกรรม ไม่ตัดคดี ม.112 ทิ้ง หลังเหตุ บุ้ง ทะลุวัง แต่สิทธิประกันตัวเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
15.05.2024
  • LOADING...
ยุทธพร กมธ.นิรโทษกรรม ม.112

วันนี้ (15 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 พฤษภาคม) กมธ.นิรโทษกรรม มีการประชุม โดยมีวาระพิจารณารายละเอียดของการตรา พ.ร.บ. ว่าควรมีคณะกรรมการวินิจฉัยความผิดเพื่อการนิรโทษกรรมไว้ในร่างกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้นจะพิจารณารายงานของอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ. ด้วย

 

ด้าน ยุทธพร อิสรชัย ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ. กล่าวด้วยว่า การพิจารณาของอนุกรรมาธิการฯ ต่อประเด็นคณะกรรมการวินิจฉัยความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม เบื้องต้นมีต้นร่างของกรรมการที่เตรียมเสนอ โดยมีตัวแทนจากฝ่ายตุลาการ อัยการ และตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาในรายละเอียด

 

อย่างไรก็ตาม ต้นร่างดังกล่าวได้นำข้อมูลจากต่างประเทศรวมถึงข้อเสนอของฝ่ายการเมืองที่เสนอไว้ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และที่พรรคการเมืองเสนอไว้ในร่างกฎหมาย โดยข้อเสนอของอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ. ต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 16 พฤษภาคมอีกครั้งว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ อำนาจของกรรมการวินิจฉัยนั้นจะไม่ก้าวล่วงหรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

 

เมื่อถามถึงกรณีการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง นักกิจกรรมทางการเมืองระหว่างคุมขังในคดีมาตรา 112 จะทำให้ กมธ.นิรโทษกรรม ต้องเร่งการทำงานหรือไม่ ยุทธพรกล่าวว่า การทำงานไม่ได้ช้าและการพิจารณาเป็นไปตามกรอบเวลา ซึ่งในกรณีของคดีมาตรา 112 นั้นถือเป็น 1 ใน 25 ฐานความผิด ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่ได้ตัดออก ทั้งนี้ รายละเอียดรอการนำเสนอต่อสภาให้พิจารณาอีกครั้ง

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการเสียชีวิตของ บุ้ง ทะลุวัง ทำให้สังคมพูดถึงเรื่องสิทธิประกันตัวมากขึ้นในข้อเสนอของ กมธ.นิรโทษกรรม จะพิจารณาด้วยหรือไม่ ยุทธพรกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งมีกรอบและรายละเอียดที่ใช้พิจารณา ขณะที่การทำงานของ กมธ.นิรโทษกรรม มีกรอบที่ชัดเจนคือ พิจารณาข้อเสนอเพื่อตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising