×

‘หยวนต้า’ ประเมินบอนด์ยีลด์จ่อขึ้นต่ออีก 1-2 เดือน กดดันหุ้นไทยปรับฐานช่วงสั้นในกรอบ 1,400-1,450 จุด

23.02.2021
  • LOADING...
‘หยวนต้า’ ประเมินบอนด์ยีลด์จ่อขึ้นต่ออีก 1-2 เดือน กดดันหุ้นไทยปรับฐานช่วงสั้นในกรอบ 1,400-1,450 จุด

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลก ถือเป็นแรงกดดันสินทรัพย์ลงทุน ณ ปัจจุบัน เพราะทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) และอัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้น (Earning Yield) หรือที่เรียกกันว่า Earning Yield Gap อ่อนตัวลง 

 

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)​ หยวนต้า ประเมินว่า ปรากฏการณ์นี้จะต่อเนื่องไปอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อเป็นการดึงให้ Earning Yield Gap ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในจุดที่น่าสนใจอีกครั้ง โดยในส่วนของตลาดหุ้นไทย คาดว่าจะมีโอกาสปรับลดลงมาอยู่ในกรอบ 1,400-1,450 จุด อิงกำไรต่อหุ้นที่ 75-80 บาท และ Earning Yield Gap ที่ 4% ซึ่งเป็นกรอบบนของการเคลื่อนไหวในช่วงก่อนและหลังโควิด-19 ที่ระดับ 2-4% 

 

ทั้งนี้ บล.หยวนต้า มีข้อสังเกตที่พอจะบ่งชี้ว่า การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนทั่วโลกหลังผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างรีบเร่ง ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และเป็นการบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว จึงประเมินการอ่อนตัวของสินทรัพย์ลงทุนเป็นเพียงการพักฐานเพื่อปรับสมดุลระยะสั้น 

 

โดยกลุ่มที่คาดว่าจะกลับมาโดดเด่นสำหรับรอบการฟื้นตัวในระยะถัดไป คือ กลุ่มพลังงาน, กลุ่มธนาคารพาณิชย์,​ กลุ่มค้าปลีก, กลุ่มเกษตรอาหาร และกลุ่มขนส่ง เช่น CPF, CPALL, BCP, PTTGC, KBANK, BBL และ TTA

 

สำหรับการเร่งตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ทั่วโลก ฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า ประเมินว่า เกิดจาก

 

1. ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ทำให้บอนด์ยีลด์เร่งตัวขึ้นตาม โดยเฉพาะรุ่นระยะยาวที่ถูกกระทบเชิงลบจากภาวะเงินเฟ้อมากกว่ารุ่นระยะสั้น จากการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นเพื่อชะลอเงินเฟ้อ โดยถ้าพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐตั้งแต่ต้นปี 2564 จะพบว่า รุ่นที่ปรับตัวขึ้น คือ รุ่นอายุมากกว่า 3 ปี ไปจนถึง 30 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.29% ขณะที่รุ่นอายุ 1 เดือนถึง 1 ปี กลับปรับตัวลงเฉลี่ย 0.05%

 

2. รัฐบาลทั่วโลกเร่งออกพันธบัตรเพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุล และเตรียมงบประมาณในช่วงดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้กระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลายตัวลง 

 

3. คาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่สามารถช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ได้กว่า 40% จากจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้นักลงทุนลดระดับความต้องการถือครองพันธบัตรที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ GDP โลกปี 2564 เติบโต 5.5% และปี 2565 เติบโต 4.2% จากปี 2563 ที่หดตัว 3.5%

 

บล.หยวนต้า ได้ตั้งข้อสังเกตการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หลังวิกฤต โดยอ้างอิงจากช่วงซับไพรม์พบว่า ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ทั้งรุ่นอายุ 10 ปี ถึง 3 เดือน รวมไปถึงรุ่นอายุ 10 ปี ถึง 1 ปี และ 10 ปี ถึง 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงในระหว่างปี 2552-2554 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นรอบการปรับขึ้นของดัชนี S&P จากปี 2552-2557 ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 5 ปี ใน 6 ปี ด้วยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 15% ต่อปี

 

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยช่วงเวลาเดียวกันให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 25% ต่อปี ดังนั้นการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุยาวที่เร่งตัวกว่าอายุสั้น จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ภายต้เงื่อนไขเศรษฐกิจจริงที่มีการฟื้นตัว ซึ่งตลาดหุ้นจะถูกกระทบจากการปรับสมดุลเพียงระยะสั้นเท่านั้น

 

ฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า ระบุด้วยว่า ด้วยโครงสร้างของดัชนีหุ้นไทยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกลุ่มบริการ โรงไฟฟ้า ไฟแนนซ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ดัชนีหุ้นไทยไม่กลับไปซื้อขายที่ P/E ระดับต่ำ เหมือนช่วงที่กลุ่มพลังงานและแบงก์ครอบงำตลาด จึงเลือกพิจารณา Earning Yield Gap ที่เหมาะสมโดยอิงช่วงก่อนและหลังโควิด-19 ครอบคลุมระยะเวลาประมาณ 3 ปี ซึ่งอยู่ระดับ 2-4% พบว่า โอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจตะปรับลดลงระยะสั้นเหลืออีกไม่มาก 

 

โดยกรณีแย่สุด อิงกำไรต่อหุ้นที่ 75 บาท และ Earning Yield Gap ที่ 4% โอกาสการปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ 1,400 จุด 

 

กรณีปกติ อิงกำไรต่อหุ้นที่ 80 บาท มีโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 1,450 จุด และกรณีดีที่สุด อิงกำไรต่อหุ้นที่ 85 บาท มีโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวอยู่ในระดับ 1,500 จุด

 

ดังนั้นโดยรวมแล้วเชื่อว่า กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยน่าจะอยู่ระดับ 1,400-1,450 จุด ถือเป็นระดับที่มีนัยสำคัญสำหรับการพักฐานในรอบนี้ ภายใต้สมมติฐานกำไรต่อหุ้นที่ 75-80 บาท และการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เริ่มชะลอตัวหลังจากขึ้นเร็วมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งในภาวะปกติ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จะปรับขึ้น 2 เดือนแล้วแกว่งออกด้านข้างราวครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนก่อนจะเร่งตัวขึ้นต่อ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising